ราคาบ้านในไทย เพิ่มเร็วกว่า รายได้คนไทย

ราคาบ้านในไทย เพิ่มเร็วกว่า รายได้คนไทย

28 พ.ค. 2023
ราคาบ้านในไทย เพิ่มเร็วกว่า รายได้คนไทย /โดย ลงทุนแมน
เทรนด์ปัจจุบันของคนยุคนี้ มักหันไปเช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อเป็นเจ้าของ หลายคนมีเหตุผลส่วนตัว เช่น ง่ายต่อการย้ายตามที่ทำงาน หรือมองว่า การเช่านั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
แต่ก็มีเหตุผลของคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีกำลังมากพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยได้
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
การวัดความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนในประเทศแบบคร่าว ๆ สามารถวัดได้จากอัตราส่วน Price to Income
ซึ่งคำนวณโดย การนำราคาที่อยู่อาศัย หารด้วย รายได้ต่อปีของครัวเรือน
หากอัตราส่วนนี้ยิ่งน้อย ก็แปลว่า ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนในประเทศยิ่งสูง
ข้อมูลจาก Numbeo เผยว่า ปี 2023 ประเทศไทยมี Price to Income อยู่ที่ 24
ความหมายคือ โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาที่อยู่อาศัยในไทย จะมีมูลค่าเป็น 24 เท่าของรายได้ครัวเรือนต่อปี
รู้หรือไม่ว่า ตัวเลขนี้พอ ๆ กับประเทศเกาหลีใต้ แถมยังติด 1 ใน 20 ของประเทศ ที่คนมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยต่ำสุด ในบรรดา 107 ประเทศ ที่มีการเก็บข้อมูลด้วย
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
เรื่องแรกเลย ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้น มากกว่ารายได้ของประชากร
หากเราไปลองดู การปรับตัวของราคาที่อยู่อาศัย ของประเทศไทย ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
- บ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.8% ต่อปี
- ทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.3% ต่อปี
- คอนโดมิเนียม หรืออาคารชุด เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.6% ต่อปี
ยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง และเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจด้วยแล้ว เช่น กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ของภาคต่าง ๆ ก็อาจมีราคาของที่อยู่อาศัยและที่ดินพุ่งสูงขึ้นมากกว่าโดยรวม
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ที่เพิ่มขึ้นปีละ 3.6% ต่อปีเท่านั้น ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนไทยที่ผ่านมา เพิ่มไม่ทันราคาที่อยู่อาศัย
เรื่องต่อมา ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปีนี้
ต้องบอกว่า คนส่วนมากจำเป็นต้องอาศัยการกู้สินเชื่อจากธนาคาร เพื่อมาซื้อบ้าน
โดยแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ทำให้ผู้กู้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยจากการกู้มากขึ้น
เพราะส่วนใหญ่แล้ว การกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีแรก ๆ จะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่ปีหลัง ๆ จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีการปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย
ส่งผลให้ธนาคารต้องพิจารณาความสามารถของลูกหนี้ละเอียดขึ้น และเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้จำนวนคนมาขอกู้ซื้อบ้านได้ผ่านนั้น ลดลงไป
ทั้งหมดนี้เอง จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนไทย ถึงเป็น เจ้าของที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นถือว่ายังโชคดีอยู่บ้าง
เพราะเรายังมีประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเป็นแรงงานช่วยในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง
ซึ่งหากไม่ได้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
ต้นทุนแรงงานในการก่อสร้างของเราก็คงสูงขึ้นกว่านี้

และทำให้ การเป็นเจ้าของบ้านของคนไทยนั้นยากยิ่งขึ้นไปอีก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=920&language=th
-https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.3274
-https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/ewt_news.php?
-https://www.thansettakij.com/real-estate/564420
-https://www.ghbank.co.th/loan/infomation-advices/calculator
-https://www.numbeo.com/property-investment/rankings_by_country.jsp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.