สายไฟลงดิน เมืองสวย แต่อาจใช้เงินเยอะ

สายไฟลงดิน เมืองสวย แต่อาจใช้เงินเยอะ

30 พ.ค. 2023
สายไฟลงดิน เมืองสวย แต่อาจใช้เงินเยอะ /โดย ลงทุนแมน
เสาไฟและสายไฟ เป็นภาพจำชินตาตามท้องถนนในบ้านเรา
จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า ทำไมเรา ถึงไม่ย้ายสายไฟลงใต้ดิน เหมือนที่หลายประเทศพัฒนาแล้วทำกัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ระบบสายไฟฟ้าที่เราเห็นห้อยกันตามท้องถนนต่าง ๆ เป็นระบบสายไฟแบบขึงอากาศ หรือที่เราเรียกติดปากว่า สายไฟบนดิน แบ่งออกเป็น
1. แถวบนสุด เป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์
2. แถวกลาง เป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ สำหรับจ่ายไฟเข้าบ้านเรือนประชาชนทั่วไป
3. แถวล่างสุด เป็นสายหลายเส้นขดกัน คือ สายสื่อสารโทรคมนาคม เช่น
- สายอ็อปติกไฟเบอร์ คือสายอินเทอร์เน็ต
- สายเคเบิลโทรศัพท์
- สายเคเบิลทีวี
- สายควบคุมสัญญาณจราจร
- สายสื่อสารกล้องวงจรปิด
ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสียหลัก ๆ ของระบบสายไฟบนดิน ก็คือ
- ทัศนียภาพที่ดูไม่สวยงาม เพราะมีสายไฟโยงกันไปมาเต็มไปหมด
- มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ จากการที่สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำความเสียหายให้สายไฟ
- เพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ หรือรถชนเสาไฟฟ้าเสียหาย
ทีนี้ มาถึงประเด็นที่ว่า แล้วทำไม ไทยถึงไม่เอาระบบสายไฟลงดิน ?
ต้องบอกก่อนว่า แนวคิดเรื่องการนำสายไฟลงดินมาใช้ในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ได้เริ่มดำเนินโครงการระบบสายไฟฟ้าใต้ดินครั้งแรก ในปี 2527 หรือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว โดยเริ่มที่ถนนสีลม
นับจนถึงปี 2565 ที่ผ่านมา โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ภายใต้โครงการ “มหานครไร้สาย” ก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ไปเป็นระยะทางรวมกันประมาณ 62 กิโลเมตร ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ
โดยเป้าหมายของโครงการนี้ จะมีระยะทางรวมทั้งหมดเท่ากับ 236.1 กิโลเมตร ภายในปี 2570
หรือก็คือ อยู่ในระหว่างดำเนินการอีกราว 174 กิโลเมตร
สำหรับอุปสรรคสำคัญที่สุด ในการนำสายไฟลงดิน ก็หนีไม่พ้นเรื่องการต้องใช้ “งบประมาณมหาศาล”
ลองมาดูตัวอย่างของต่างประเทศกัน
รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2545 ได้ประสบกับพายุน้ำแข็ง ทำให้ต้นไม้ล้มทับสายไฟขาด ส่งผลให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้
ในตอนนั้น จึงมีการพูดกันถึงการนำเอาระบบสายไฟฟ้าใต้ดินมาใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติในลักษณะนี้ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
โดยคาดการณ์กันว่า จะต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่รัฐนอร์ทแคโรไลนาจะจัดหามาได้
ในขณะที่ถ้าให้ภาคเอกชนไปลงทุนเอง ก็จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในตอนนั้น..
สำหรับประเทศไทย มีการประเมินกันว่า งบประมาณเฉลี่ยที่ใช้สร้างสายไฟใต้ดิน จะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าระบบสายไฟบนดินถึง 10 เท่า
หมายความว่า จากปัจจุบันที่กรุงเทพฯ มีระบบสายไฟใต้ดินแล้วทั้งหมด 62 กิโลเมตร
ส่วนที่กำลังดำเนินการเพิ่มอีก 174 กิโลเมตร ก็จะต้องใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 52,200 ล้านบาท เลยทีเดียว
นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ก็มีโครงการ “ระบบเคเบิลใต้ดินสำหรับเมืองใหญ่” รวม 74 จังหวัดทั่วไทยด้วย
ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 เช่นเดียวกัน
นอกจากประเด็นเรื่องงบประมาณ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญแล้ว “การดูแลรักษาสภาพสายไฟใต้ดิน” ให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ
ปัจจุบัน สายไฟบนดินจะมีอายุการใช้งานประมาณ 60-70 ปี ขณะที่สายไฟใต้ดินนั้นจะมีอายุสั้นกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี
สายไฟใต้ดินนั้น ยังต้องมีฉนวนที่ทนต่อความชื้นได้ดีกว่าสายไฟบนดินด้วย เพื่อไม่ให้ความชื้นที่มีค่อนข้างมากในดิน เข้าไปถึงตัวนำที่เป็นอะลูมิเนียมหรือทองแดง ด้านในสายไฟได้
นอกจากนี้ ในชั้นฉนวน ก็ควรต้องมีลวดเป็นเกราะหุ้มอยู่ก่อนที่จะถึงเปลือกชั้นนอกสุดท้ายด้วย
เพื่อลดความเสียหาย เนื่องจากสัตว์กัดแทะหรือการสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะถนน และการกัดเซาะของน้ำเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม ที่อาจสร้างความเสียหายแก่สายไฟได้
ประเด็นเหล่านี้ จึงทำให้ต้นทุนในการดูแล บำรุงรักษา จะสูงกว่าสายไฟบนดินนั่นเอง
แต่หากโครงการนำสายไฟลงใต้ดินสำเร็จ ก็จะมีข้อดีคือ มีทัศนียภาพที่สวยงาม ลดการเกิดอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ ก็จะยังช่วยให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ช่วยลดจำนวนครั้งที่จะเกิดไฟฟ้าดับ และลดระยะเวลาต่อครั้งที่เกิดไฟฟ้าดับ
รวมถึงรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า การนำระบบสายไฟใต้ดินมาใช้นั้นก็มีข้อดีอยู่หลายอย่าง แต่ก็มีอุปสรรคไม่น้อยที่ต้องคำนึงถึง
โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณที่สูงมาก จึงต้องชั่งน้ำหนักถึงความคุ้มค่าแก่การลงทุน
และการดำเนินการดังกล่าว คงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และพูดคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมไปถึงประชาชนให้เกิดความเข้าใจตรงกัน นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.mea.or.th/content/detail/82/3131/3257
-https://www.mea.or.th/content/detail/82/3131/3306
-https://www.springnews.co.th/blogs/program/spring-conclude/830203
-https://www.springnews.co.th/news/824530
-https://www.springnews.co.th/blogs/program/spring-conclude/838324
-https://www.isranews.org/thaireform-other-news/49508-over-head25.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.