ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร

ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร

20 มิ.ย. 2023
ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร /โดย ลงทุนแมน
คนที่ลงทุนใน STARK ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นสามัญ หรือหุ้นกู้ หลายคนก็คงได้ทำการศึกษาข้อมูลกิจการ โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐานอย่างการอ่านงบการเงิน
แต่ทว่า ตัวเลขในงบการเงินที่เราเห็นนั้น ก็ไม่ได้ซื่อสัตย์และบอกข้อมูลกับเราอย่างตรงไปตรงมาเสมอ
โดยเฉพาะในกรณีของ STARK ที่มีการตกแต่งบัญชีจนทำให้นักลงทุนหลายคนติดกับ เข้าไปลงทุนจำนวนมาก
แล้วตัวเลขในงบการเงิน สามารถหลอกเราได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
งบการเงิน เปรียบเหมือนเป็นสมุดรายงานสุขภาพ ของกิจการนั้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่า บริษัทนี้น่าลงทุนหรือไม่
ในปัจจุบัน หลักการทางบัญชีได้เปิดโอกาสให้ผู้ทำบัญชี ใช้ดุลยพินิจของตนเองในการทำงบการเงินได้ในระดับหนึ่ง เพราะแต่ละธุรกิจมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องจักรชิ้นหนึ่ง บางบริษัทอาจกำหนดอายุการใช้งานเพื่อตัดค่าเสื่อม 15 ปี แต่บางบริษัทบอกว่า 20 ปี
ทำให้งบการเงินของแต่ละบริษัทออกมา อาจไม่เหมือนกัน และในบางครั้ง อาจนำไปสู่การปรับแต่งงบการเงิน เพื่อบิดไปจากข้อเท็จจริง หรือปกปิดการกระทำผิด ที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดได้
ซึ่งจริง ๆ การตกแต่งบัญชีนั้น ทำได้หลายวิธี เช่น
- การทำให้ต้นทุนน้อยกว่าความจริง เพื่อเพิ่มกำไรทางบัญชี
- การสร้างรายได้ปลอม แต่ไม่ได้รับเงินจริง ๆ
- การสร้างรายจ่ายปลอม เพื่อยักยอกเงินออกจากบริษัท
โดยขอเริ่มจากกรณีแรก คือ การทำให้ต้นทุนน้อยกว่าความจริง เพื่อเพิ่มกำไรทางบัญชี
วิธีนี้เป็นการบันทึกต้นทุน ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งที่พบเจอบ่อย ๆ จะเป็นการบันทึกค่าเสื่อมราคา หรือการตั้งสำรองหนี้สูญ ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในกรณีอาจจะสามารถทำได้ หากผู้ตรวจสอบบัญชียอมรับกับสมมติฐานของผู้บริหาร
ดังนั้นถ้าสมมติฐานของผู้บริหารคนไหนค่อนข้าง conservative ก็จะมีกำไรที่น้อยกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าผู้บริหารคนไหน Aggressive ก็จะชอบบันทึกต้นทุนน้อย ๆ ทำให้ตัวเลขกำไรมากเกินความเป็นจริง
ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารบริษัทหนึ่ง สั่งให้เปลี่ยนการบันทึกค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร โดยให้คำนวณอายุการใช้งานไว้ที่ 20 ปี จากความเหมาะสมของเครื่องจักร ที่จะใช้งานได้ 10 ปี โดยผู้บริหารท่านนี้อาจจะอ้างหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงการใช้งาน 20 ปี ให้แก่ผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งถ้าผู้ตรวจสอบบัญชียอมรับในหลักฐานนั้น ก็จะนำไปสู่การบันทึกต้นที่ต่ำลงในแต่ละปี และทำให้มีกำไรที่มากขึ้นได้
สมมติค่าเครื่องจักรเครื่องนั้น อยู่ที่ 1 ล้านบาท หากเราคิดอายุการใช้งานที่ 10 ปี ค่าเสื่อมราคาจะอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อปี แต่ถ้าคิดที่ 20 ปี ค่าเสื่อมราคา จะลดเหลือเพียง 5 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น
และเมื่อนำมาบันทึก ลงในงบกำไรขาดทุน ค่าเสื่อมราคาจะถูกบันทึกเป็นต้นทุนขาย
ซึ่งเมื่อต้นทุนขายต่ำลง อาจทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดว่า บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รายได้จากการขายและต้นทุนส่วนอื่น ๆ อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
กรณีที่ 2 คือ การสร้างรายได้ปลอม แต่ไม่มีการรับเงินจริง ๆ
วิธีนี้จะทำให้บริษัท มีการรับรู้รายได้ เข้ามาในทางบัญชี แม้จริง ๆ แล้ว บริษัทจะยังไม่ได้รับเงินมาเลยก็ตาม
ซึ่งจะทำให้งบกำไรขาดทุน ออกมาดูดีกว่าความเป็นจริง
โดยสินทรัพย์ที่เพิ่มเข้ามา ก็มักอยู่ในรูปแบบของลูกหนี้การค้า หรือลูกค้าที่ยังติดหนี้บริษัทอยู่นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัท ROYNET ที่ได้ฝากขายบัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต ไว้กับร้านค้าปลีกทั่ว ๆ ไป
แต่บริษัทกลับนำการฝากขายดังกล่าว มาบันทึกเป็นรายได้เข้าบริษัทในทันที ทั้ง ๆ ที่บัตรเติมเงินเหล่านั้น ยังไม่ถูกขายให้แก่ลูกค้าผู้ใช้งานจริง
นำมาสู่การตรวจสอบของ ก.ล.ต. ที่ได้สั่งให้ ROYNET ปรับปรุงงบการเงินใหม่ ซึ่งทำให้พบว่าที่ผ่านมา ROYNET นั้นประสบปัญหาขาดทุน
นำมาซึ่งการลงโทษผู้บริหารและทำให้ ROYNET ถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในที่สุด
หรือในกรณีของ STARK ที่ได้มีการออกเอกสารการขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ประกอบการทำบัญชี แต่ไม่มีการส่งสินค้าเกิดขึ้นจริง และไม่ได้รับเงินค่าสินค้านั้น เข้ามาจริง ๆ
ในทางบัญชี STARK ได้บันทึกการขายดังกล่าว ลงเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน และบันทึกลงในงบดุลในรูปแบบของลูกหนี้การค้า
ทำให้รายได้และกำไรของ STARK เพิ่มขึ้นได้
แม้บริษัท จะยังไม่ได้รับการชำระเงินเข้ามาก็ตาม
วิธีที่ 3 การสร้างรายจ่ายปลอม เพื่อยักยอกเงินออกจากบริษัท
ปกติแล้ว เวลาบริษัทมีการจ่ายเงินออกไป ก็เพื่อแลกเปลี่ยน เป็นสินค้าหรือบริการกลับมา
แต่ในบางบริษัท อาจใช้วิธีออกเอกสารการสั่งซื้อ และลงบัญชีเป็นรายจ่ายของบริษัท โดยบริษัทมีการจ่ายเงินออกไปจริง ๆ แต่กลับไม่มีสินค้าหรือบริการ แลกเปลี่ยนกลับมา
ในกรณีของ STARK ก็มีการตกแต่งบัญชี ด้วยการออกเอกสารสั่งซื้อสินค้าปลอมเช่นกัน
โดย STARK ได้ออกเอกสารการสั่งซื้อสินค้า จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง และได้มีการจ่ายเงินออกไปจริง ๆ แต่กลับไม่มีการส่งสินค้าที่สั่งไว้ กลับมายังบริษัท STARK
ในทางบัญชี STARK จึงลงบันทึกรายการนี้ไว้ ว่าเป็นเงินที่จ่ายล่วงหน้าเพื่อซื้อสินค้า
เพียงเท่านี้เงินของ STARK ก็ไหลออกไปอยู่นอกบริษัท เรียบร้อยแล้ว
ทั้ง 3 กรณีนี้ เป็นวิธีการตกแต่งบัญชี ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ซึ่งสำหรับ 2 กรณีแรก มีจุดประสงค์เหมือนกันคือ เพื่อให้งบกำไรขาดทุนของบริษัท ออกมาดูดีกว่าความเป็นจริง
แต่สำหรับวิธีที่ 3 นั้น จุดประสงค์คือการถ่ายโอนเงิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท และเป็นของผู้ถือหุ้นทุกคน ออกไปยังภายนอก
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เวลาเราอ่านงบการเงินแต่ละครั้ง ไม่ว่าบริษัทนั้นจะใหญ่แค่ไหน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือแม้ว่าบริษัทนั้น จะผ่านตรวจสอบบัญชีโดย BIG4 มาแล้วก็ตาม
เราควรดูให้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรดูงบกระแสเงินสดประกอบด้วย ซึ่งงบนี้จะบ่งบอกถึงเงินสด ที่เข้าออกบริษัทจริง ๆ และยากต่อการปลอมแปลงมากที่สุด
นอกจากนี้ เราต้องหมั่นตั้งข้อสังเกตให้มากเข้าไว้ หากพบว่ารายการใด ดูดีกว่าความเป็นจริง หรือดูผิดไปจากปกติ ก็ควรจะลงทุนอย่างระมัดระวัง
เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเหยื่ออันโอชะ ของผู้อยู่เบื้องหลังนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.