สรุป โศกนาฏกรรม หุ้น OTO ลง 6 ฟลอร์ ใน 8 วัน

สรุป โศกนาฏกรรม หุ้น OTO ลง 6 ฟลอร์ ใน 8 วัน

21 มิ.ย. 2023
สรุป โศกนาฏกรรม หุ้น OTO ลง 6 ฟลอร์ ใน 8 วัน /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าอะไรโหดร้ายที่สุดในโลกของการลงทุน คำตอบก็คือ “ขาดทุนจนหมดตัว”
ในช่วงนี้ หุ้นที่เป็นปรากฏการณ์เข้าข่าย ขาดทุนจนหมดตัว ก็คือ OTO
เพราะถ้าเราซื้อหุ้นตัวนี้ เมื่อ 8 วันที่แล้ว ในมูลค่า 100 บาท ตอนนี้เราจะเหลือเงินเพียง 13 บาท..
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น กับหุ้น OTO ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
วันที่ 9 มิ.ย. 2566 หุ้น OTO ซื้อขายกันที่ 16.20 บาทต่อหุ้น
8 วันทำการต่อมา..
21 มิ.ย. 2566 หุ้น OTO ซื้อขายกันที่ 2.04 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาที่ร่วงลง 87%
จากมูลค่ากิจการ 12,850 ล้านบาท เหลือเพียง 1,600 ล้านบาท
โดยในช่วง 8 วันทำการมานี้ หุ้น OTO โดนถล่มขายชนพื้น ที่ราคาฟลอร์ ทั้งหมด 6 ฟลอร์..
คำว่า ฟลอร์ คือช่วงราคาต่ำสุดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมให้ราคาซื้อขายได้ ซึ่งก็คือ -30% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า
ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดแบบนี้ก็เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก และให้นักลงทุนทำใจว่า สิ่งที่จะซื้อขายกัน มันเปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า -30% เชียวนะ
ถ้าเป็นราคาที่ดิน คอนโดฯ หรือรถยนต์ ทุกคนคงคิดว่าเป็นไปได้ยาก เมื่อวานราคา 100 บาท วันนี้ทำไมลดราคาเหลือ 70 บาท
แต่สำหรับตลาดหุ้นแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษ หรือแม้แต่บางครั้งก็ไม่มีเหตุการณ์พิเศษ ราคาหุ้นก็ลดลงได้มากถึง 30% ภายใน 1 วัน
แต่สำหรับ OTO แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ ราคาหุ้นติดฟลอร์ หรือ -30% จำนวน 6 ครั้ง ใน 8 วัน
นั่นก็แปลว่า ราคาที่ซื้อขายกันก่อนหน้านี้ อาจเป็นราคาปลอม หรือเป็นราคาที่ไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ที่ทำให้ในวันนี้มีแต่คนอยากขาย ไม่มีใครยอมซื้อในราคาเมื่อ 8 วันที่แล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่าราคาปลอมนั้น มันยืนระยะอยู่มาได้เป็นปี จนบางคนอาจเชื่อไปแล้ว ว่ามันเป็นราคาจริง
แล้ว บริษัท OTO ทำธุรกิจอะไร ?
OTO มีธุรกิจหลักก็คือ ให้บริการจัดการงานลูกค้าสัมพันธ์ หรือถ้าคำที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ Call Center ซึ่งบริษัทจะเข้าไปบริการทำระบบ Call Center ให้ลูกค้า
และในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้แจ้งว่า จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจจักรยานยนต์ไฟฟ้า และอีสปอร์ต ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของบริษัทที่จะขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ดูน่าตื่นเต้น
แต่หากไปดูผลประกอบการของ OTO ที่ผ่านมา
ปี 2563 รายได้ 685 ล้านบาท กำไร -49 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 657 ล้านบาท กำไร 56 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 635 ล้านบาท กำไร -116 ล้านบาท
จากผลประกอบการจะเห็นได้ว่า รายได้ของ OTO ไม่ได้เติบโตอะไร กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง
แต่ที่แปลกก็คือ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ราคาหุ้นกลับพุ่งขึ้นเป็นหลายเท่าตัว
ปี 2563 หุ้น OTO ที่เคยซื้อขายกันที่ 2.00 บาท ก็มีคนไล่ราคาซื้อหุ้นนี้ จนขึ้นมาทำจุดสูงสุดที่ 24.40 บาท เมื่อเดือนก่อน คิดเป็น 12 เด้ง ใน 2 ปี ทั้งที่รายได้เท่าเดิม..
แล้วปีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับ OTO ?
สำหรับเหตุการณ์สำคัญในปีนี้ ก็คือ บริษัทแจ้งว่าจะหาทุนเพิ่มเติม เพื่อไปลงทุนขยายกิจการ โดยแบ่งออกเป็นจากวอแรนต์และการเพิ่มทุน
คำว่า วอแรนต์ อธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนกับการเพิ่มทุนในอนาคต ซึ่งผู้ถือวอแรนต์จะมีสิทธิในการแปลงวอแรนต์ ไปเป็นหุ้นสามัญ โดยมีราคาใช้สิทธิอยู่
สำหรับการออกวอแรนต์ครั้งที่ 1 ของ OTO ก็จะเรียกชื่อย่อว่า OTO-W1
โดยการแปลง OTO-W1 1 หน่วย ไปเป็น OTO 1 หุ้น จะมีราคาแปลงหุ้นละ 3 บาท โดยมีระยะเวลาในการใช้สิทธิ 2 รอบ รอบแรกสิ้นสุด วันที่ 30 พ.ค. หรือสิ้นเดือนก่อน และอีกรอบ วันที่ 29 พ.ย. 2567
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดการแปลงวอแรนต์รอบแรกเมื่อปลายเดือน พ.ค.
- หุ้น OTO ราคา 23.60 บาท
- OTO-W1 ราคา 6.85 บาท
- ราคาแปลง 3 บาท
แปลว่า ถ้าเราซื้อวอแรนต์มาแปลงเป็นหุ้น ต้นทุนของเราก็จะเท่ากับ 6.85 + 3 เป็น 9.85 บาท ซึ่งถ้านำหุ้นที่ได้จากการแปลง มาขายต่อในตลาดที่ราคา 23.6 บาท ก็จะได้กำไรมากถึง 140%
สำหรับนักลงทุนมือใหม่
ถ้าคิดว่าจะได้กำไรแบบง่าย ๆ อาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะในโลกของการลงทุนนั้น มีคนที่ฉลาด ที่มีเงินทุนอยู่เต็มไปหมด
สำหรับในกรณีนี้ เราก็ต้องคิดตลอดว่า มันมีอะไรที่ผิดพลาดสำหรับราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้น หรือไม่ก็วอแรนต์
ถ้าราคาหุ้นควรจะเป็น 23.6 บาทจริง ก็ย่อมมีคนอยากกวาดซื้อวอแรนต์ที่สูงกว่าราคานี้
การผิดพลาดของกลไกราคาตลาด มันเป็นสัญญาณแรกที่เตือนเราว่ามีอะไรที่ผิดปกติ
เพราะที่นักลงทุนหลายคนคิดว่าหมูนั้น มันมีช่องโหว่อยู่ นั่นก็คือช่วงเวลาที่ใช้สิทธิแปลงวอแรนต์เป็นหุ้นนั้น ถึงแม้เราจะใช้สิทธิในช่วงปลายเดือน พ.ค. แล้ว แต่กว่าที่เราจะได้รับหุ้น OTO มาขายในตลาดได้ ก็เป็นวันที่ 19 มิ.ย.
นั่นก็แปลว่า ช่วงวันที่ 1-19 มิ.ย. ราคาอาจไม่ใช่ 23.6 บาทเหมือนเดิม ให้เราทำกำไรได้ง่ายแบบหมู ๆ
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาหุ้น OTO ร่วงลงติดฟลอร์ ฟลอร์แล้วฟลอร์เล่า สิ่งที่หุ้นนี้ทำราคาสูงมา 2 ปี มาเฉลยก็วันนี้
นั่นก็คือ คนขายหุ้น OTO ยอมขายได้ทุกราคา ซึ่งถ้าเขาไม่ขาย คนที่ได้หุ้นใหม่จากการแปลงวอแรนต์ ก็จะมาแย่งขายอยู่ดี..
จนในวันที่ 19 มิ.ย. 2566 หุ้น OTO ร่วงลงมามีราคาเหลือเพียงหุ้นละ 3.42 บาท เท่ากับว่าต้นทุน 9.85 บาทของคนที่ใช้สิทธิแปลงวอแรนต์ แทนที่จะได้กำไร จะกลับกลายเป็นหมูโดยสมบูรณ์แบบ เพราะขาดทุนมากถึง 65% ทันที..
มาถึงตอนนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมผู้ถือหุ้น OTO ถึงยอมที่จะขายที่ทุกราคา
สาเหตุหลักของ คนที่ยอมขายทุกราคา แปลว่า ได้กำไรจากช่องทางอื่นแล้ว ซึ่งก็เป็นไปได้หลายช่องทาง เช่น
1. ต้นทุนของหุ้น OTO ที่ได้มา ต่ำกว่าราคา 23.6 บาทมาก มากแบบหลายเท่าตัว คนที่ขายจึงยอมขายได้ทุกราคา เพราะไม่ได้เดือดร้อนอะไร
2. ผู้ขายอาจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เมื่อบริษัทได้รับเงินค่าแปลงวอแรนต์ ก็แปลว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะได้ประโยชน์จากเงินส่วนนั้นที่บริษัทได้รับไปแล้ว
โดยจากรายงานการแปลงสิทธิ บริษัทได้รับเงินค่าแปลงสิทธิจากวอแรนต์เป็นหุ้น เป็นจำนวนเงิน 699 ล้านบาท
3. ถึงแม้ว่าการร่วงลง อาจจะไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง แต่การตื่นตระหนกหมู่ (Panic Sell) ก็ทำให้ราคายิ่งร่วงลงไปอีก
โดยคนที่ขายอาจเป็นกลุ่มคนที่ทั้งถือหุ้นอยู่ และใช้สิทธิแปลงวอแรนต์ไปแล้ว จึงเลือกที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อลดความเสี่ยง เพราะมีหุ้นที่จะได้จากการแปลงสิทธิรอขายอยู่ในอนาคต
พอมีคนคิดแบบนี้เหมือนกันหลาย ๆ คน ก็เกิดการแย่งกันขาย เมื่อตลาดเห็นอารมณ์แย่งกันขาย คนที่ไม่เคยคิดจะขายก็กลับเข้ามาร่วมวงขายด้วย กลายเป็นลูกโซ่ของการร่วงลงของราคา
รวมไปถึงในเวลาดังกล่าว บริษัท OTO ก็ได้แจ้งว่า CEO มีการแจ้งลาออก แน่นอนว่ามันเป็นสัญญาณที่ไม่ดี
และราคาหุ้นที่ถูกถล่มขายลงมา ก็ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการเพิ่มทุนของบริษัท ที่ราคาหุ้นละ 16 บาท จะเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะปัจจุบัน หุ้น OTO มีมูลค่าเหลือเพียง หุ้นละ 2.04 บาทเท่านั้น คงไม่มีใครยอมจ่ายเงินเพิ่มทุนที่ราคาหุ้นละ 16 บาท
จากตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าหุ้น OTO ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นมูลค่าที่วางแผนกันมา 2 ปีแล้ว และในวันนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นวัน FINALE หรือวันแสดงฉากจบของสิ่งที่ได้วางแผนกันมา
ในขณะที่รายย่อย ก็ไม่ต่างอะไรไปจากหมูที่ถูกเชือด
ซึ่งเราก็ต้องมาตามกันต่อไปว่า กรณีของ OTO จะจบลงอย่างไร จะโดนอีกกี่ฟลอร์ และใครกันที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของแผนการปั่นราคาหุ้นของบริษัทนี้
สำหรับบทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้
ในโลกการลงทุน ถ้าเราคิดว่า เราจะเป็นคนเดียวที่คว้าโอกาสทำกำไรแบบหมู ๆ
ให้ระวังไว้เสมอว่า ตัวเราเองนั่นแหละ ที่จะเป็นหมู..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.