“SAF: Sustainable Aviation Fuel” เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน สำคัญต่อโลกของเรา ขนาดไหน ?

“SAF: Sustainable Aviation Fuel” เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน สำคัญต่อโลกของเรา ขนาดไหน ?

27 มิ.ย. 2023
“SAF: Sustainable Aviation Fuel”
เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน
สำคัญต่อโลกของเรา ขนาดไหน ?
ปตท. x ลงทุนแมน
จากปัญหาภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน ต่างมีความมุ่งมั่น ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การศึกษายานพาหนะประเภทต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้กันในปัจจุบัน พบว่าธุรกิจการบินมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของโลก และตั้งแต่ปี 1990-2019 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.3% ต่อปี
กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก
ทำให้มีการปล่อย CO2 จากภาคการบินลดลงไปด้วย
จากที่สูงสุด มากกว่า 1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2019
ลดลงมาเป็น 6 ร้อยล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2020
แต่ในปี 2021 กลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 ที่เคยลดลงไปเป็นประมาณ 720 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินระดับที่ปลดปล่อยสูงสุดเมื่อปี 2019 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกันพาหนะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ
ต่างมุ่งเข้าสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว
ที่ผ่านมา เชื้อเพลิงสะอาดสำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน กลับยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก
แต่ล่าสุด ก็เริ่มมีการศึกษา วิจัยและพัฒนา รวมถึงนโยบายจากหลายประเทศ ให้เห็นกันในวงที่กว้างขึ้น
ซึ่งรวมไปถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย..
วันนี้ เรามารู้จักกับ SAF ที่เรียกได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดสำหรับอากาศยาน
ว่าสำคัญขนาดไหน ประเทศไหนเริ่มมุ่งเข้าสู่เชื้อเพลิงชนิดนี้แล้วบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกก่อนว่าเดิมที เราใช้น้ำมันเครื่องบิน จากฟอสซิลมาโดยตลอด
แต่ปัจจุบัน เรากำลังให้ความสำคัญ กับเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับอากาศยาน
SAF จึงถูกพูดถึงกันมากขึ้น ถามว่าเพราะอะไร ?
เหตุผลก็เพราะว่า SAF ผลิตจากวัตถุดิบที่ช่วยลดการปล่อย CO2 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนอกจากตัววัตถุดิบแล้ว ก็ยังรวมไปถึงทั้งกลุ่มซัปพลายเชน สำหรับการผลิตที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่นกัน
สำหรับ SAF นั้น จะผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล แทนวัตถุดิบเดิมอย่าง ฟอสซิล
ที่ใช้เวลากว่าล้านปีในการสะสมเป็นแหล่งพลังงานให้เราใช้กันในปัจจุบัน
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวัฏจักรของวัตถุดิบชีวมวล เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะอาหาร จัดเป็นพลังงานหมุนเวียน ที่ถูกกักเก็บในรูปของสารอินทรีย์ สามารถแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงได้
ซึ่งเมื่อเชื้อเพลิงชีวมวลถูกเผาไหม้ CO2 ที่ถูกปลดปล่อยออกมา จะถูกพืชกักเก็บ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและแปรสภาพเป็นสารอินทรีย์เกิดเป็นวัฏจักรอีกครั้ง ถือเป็นวงจรที่สั้นกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก
โดยวัตถุดิบชีวมวล จะถูกนำไปทำปฏิกิริยาเคมี ให้กลายเป็นสารตั้งต้น เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทสารตั้งต้น ได้เป็น 4 กลุ่มหลัก
- กลุ่มน้ำมัน
- กลุ่มน้ำตาล
- กลุ่มแอลกอฮอล์
- กลุ่มก๊าซ
ยกตัวอย่างวัตถุดิบชีวมวล ก็เช่น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่าง ซังข้าวโพด เศษไม้ เศษหญ้า ฟางข้าว หรือพืชผลที่เพาะปลูกในประเทศ เช่น เมล็ดปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด รวมไปถึงของเสียอย่างน้ำมันพืชใช้แล้ว
ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ สามารถเลือกแปรเป็นสารตั้งต้นได้หลายเส้นทาง เช่น ในกลุ่มก๊าซ ไม้สามารถเผาให้กลายเป็นก๊าซ หรือนำมาหมักให้กลายเป็นก๊าซ หรือไม้เองก็สามารถแปรเป็นสารตั้งต้นในกลุ่มแอลกอฮอล์ได้ด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าวัตถุดิบเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยผลิต และส่งออกกันอยู่แล้ว
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ จากภาคธุรกิจหลักของไทย อย่างภาคการเกษตร และปศุสัตว์
แน่นอนว่าหากเราหันมาผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล ขั้นตอนในการผลิตเชื้อเพลิงแบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งก็คือ การหา “น้ำมันดิบ” การนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ก็จะลดลง ตามไปด้วย
แล้วหากว่าเราหันมาใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวล
เราจะปล่อยมลพิษลดลงเท่าไร ?
จากการศึกษาพบว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนฟอสซิลนั้น
หากทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยลดการปล่อย CO2 สู่สิ่งแวดล้อมลงได้ มากถึง 80%
ในขณะเดียวกัน การนำ SAF ไปใช้ ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน กับน้ำมันฟอสซิลผสมแอลกอฮอล์ เช่น E20, E85, B7 และ B20 ในบ้านเรา ถามว่าเพราะอะไร ?
คำตอบก็คือ เพื่อให้นำไปใช้ได้เลย โดยเครื่องบินไม่ต้องเปลี่ยน หรือปรับปรุงเครื่องยนต์ ซึ่งก็จะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการบินในด้านของการลงทุนเครื่องยนต์มารองรับเชื้อเพลิงใหม่
ทีนี้ เรามาดูภาพรวมของ SAF ในปัจจุบันกันบ้าง
ปัจจุบัน ความต้องการ SAF เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ที่หน่วยงานรัฐ ผลักดันให้ทั้งผลิต และใช้ SAF มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาด้วย
ในด้านผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสายการบิน ผู้ผลิตเชื้อเพลิง รวมไปถึงสนามบิน ในหลายประเทศ กำลังร่วมมือกันเพื่อพัฒนา และลงทุนในโรงงานผลิต SAF
ตัวอย่างประเทศที่เริ่มมีมาตรการบังคับใช้อย่างเข้มงวด เช่น ประเทศฝรั่งเศส บังคับให้ทุกเที่ยวบินที่ออกจากประเทศ ต้องใช้ SAF อย่างต่ำ 1% ของการใช้เชื้อเพลิงอากาศยาน ในปี 2022
และจะปรับเพิ่มขึ้น มากถึง 50% ภายในปี 2050
ในภาพใหญ่กว่านั้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ก็ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษ ภายในปี 2050 ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ของสมาคมก็คือ การนำ SAF มาใช้
แล้วปัจจุบัน เราผลิต SAF ได้มากขนาดไหน ?
ในปี 2021 โลกของเรามีการผลิต SAF ได้เพียง 100 ล้านลิตรต่อปี
แต่ IATA ตั้งเป้าหมายการใช้ SAF ในปี 2025 ให้ได้ 8,000 ล้านลิตรต่อปี
ในขณะเดียวกัน ก็มีเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็น 450,000 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2050
แปลว่า กำลังการผลิต จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เพื่อรองรับปริมาณการใช้งาน
หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ธุรกิจกลุ่มนี้ มีแนวโน้มการเติบโตได้อีกในระยะยาว
หันมาดูที่ประเทศไทยกันบ้าง
ถ้าพูดถึงองค์กรที่มีบทบาทด้านธุรกิจพลังงานใหญ่สุดในประเทศ ก็จะเป็นกลุ่ม ปตท.
แล้วกลุ่ม ปตท. เตรียมการสำหรับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ?
กลุ่ม ปตท. ในฐานะที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และดำเนินธุรกิจที่เติบโตควบคู่กับความยั่งยืนของโลก มีความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตั้งเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่เกินปี 2060
โดย SAF ก็เป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่กลุ่ม ปตท. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ สำหรับการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตอยู่ โดยอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายน้ำมันอากาศยานมาอย่างยาวนานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ก็น่าติดตามไม่น้อยเหมือนกันว่า
ธุรกิจพลังงานในอนาคตแบบ SAF
ที่นอกจากจะสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
จะกลายเป็นอีก New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. หรือไม่..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.