โลกร้อน เอลนีโญ อาจทำลายเศรษฐกิจไทย มากกว่าที่คิด

โลกร้อน เอลนีโญ อาจทำลายเศรษฐกิจไทย มากกว่าที่คิด

28 มิ.ย. 2023
โลกร้อน เอลนีโญ อาจทำลายเศรษฐกิจไทย มากกว่าที่คิด /โดย ลงทุนแมน
ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างรุนแรง รวมถึงภัยแล้งจัดที่อาจเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
และประเทศไทยเองก็ถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วย
โดยมีการคาดการณ์กันว่า ผลกระทบในรอบนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์ในครั้งนี้ หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากเราต้องเผชิญกับภัยแล้ง ที่เป็นผลจากเอลนีโญ ในครั้งนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
“ภัยแล้ง” ถือเป็นหนึ่งในวิกฤติที่สามารถสร้างความเสียหาย ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก
เพราะสามารถส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนสำคัญของประเทศ
แล้วมันกระทบแต่ละภาคส่วนอย่างไรบ้าง ?
1. ภาคเกษตรกรรม
เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการทำเกษตรกรรม จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมมีการใช้น้ำมากกว่า 3 ใน 4 ของการใช้น้ำทั้งประเทศ
แน่นอนว่าการขาดแคลนน้ำ ย่อมทำให้การทำเกษตรกรรมและผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย ทั้ง
- เกษตรกร
เนื่องจากจำนวนผลผลิตที่ลดลง จะทำให้เกษตรกรบางส่วนมีรายได้ที่ลดลงตาม
ซึ่งเกษตรกรในไทยก็มีมากกว่า 7,000,000 ครัวเรือน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ
แม้ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในตอนนี้ 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยล้วนมีหนี้สิน
ซึ่งเมื่อรายได้ลดลง ก็อาจทำให้หนี้เสียในภาคเกษตรกรรมสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เป็นแหล่งเงินกู้หลักของเกษตรกร โดยครองส่วนแบ่งถึง 65% ของมูลหนี้ของเกษตรกรทั้งหมด
- ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม
ผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมที่ลดลง ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น
แต่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ที่เป็นวัตถุดิบหลักของการทำเกษตรกรรม
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจเชื้อเพลิง ธุรกิจโรงสี หรือโรงงานแปรรูป ตลอดจนธุรกิจอาหารสัตว์
ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และด้วยการที่เกษตรกรไม่ได้มีฐานะเป็นแค่ผู้ผลิตในภาคธุรกิจ แต่ยังมีฐานะเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งในภาคครัวเรือน
ดังนั้นเมื่อรายได้ลดลง ก็ย่อมมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงตาม
ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แม้จะไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
- ผู้บริโภค
เมื่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง จะทำให้สินค้าทางการเกษตรนั้น ปรับตัวมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า ภาระค่าครองชีพของประชาชนที่จะสูงขึ้นตาม
ถือว่าเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อคนทุกอาชีพ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงเกษตรกร ตราบใดที่คนยังมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหาร
ซึ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้นนี่เอง ถือเป็นแรงกดดันชั้นดี ที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนเกิดการกู้หนี้ยืมสิน และเริ่มมีปัญหาทางการเงิน
ถ้าหากเรามาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนในประเทศ หนี้ส่วนที่เป็น เพื่อการอุปโภคบริโภค ในตอนนี้สูงถึง 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ ซึ่งถือว่ามากกว่าหลาย ๆ ประเทศ
แน่นอนว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินภายในประเทศเช่นกัน
เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นกับหลายฝ่ายเช่นนี้ คำถามที่ตามมาก็คือว่า ความเสียหายในภาคเกษตรกรรม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากแค่ไหน

2. ภาคอุตสาหกรรม
นอกจากใช้ในการทำการเกษตรแล้ว น้ำ ยังถือเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
เพราะถูกใช้เป็นทั้งวัตถุดิบหรือใช้ในการเตรียมวัตถุดิบ ใช้ในระบบสนับสนุนการผลิต ตลอดจนใช้ในการทำความสะอาดทั่วไป และอีกหลาย ๆ วัตถุประสงค์
ซึ่งภาคอุตสาหกรรมนี้ มีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม จึงสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก
โดยสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากต้นทุนสินค้าเกษตร และต้นทุนการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น
แต่การขาดแคลนน้ำ ยังอาจทำให้โรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม ฟอกย้อม แป้งมัน ตลอดจนโรงงานฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตชิป
อย่างไรก็ตาม โรงงานและบริษัทต่าง ๆ ก็มักจะมีการเตรียมตัวกันเอาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งก็อาจจะช่วยลดความเสียหายที่จะได้รับอยู่บ้าง
แต่ก็อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะมีความรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป ว่าการเตรียมตัวของภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จะเพียงพอหรือไม่
3. ภาคการท่องเที่ยว
น้ำ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งเกิดขึ้น
หากเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ และไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ก็หมายถึงการต้องหยุดตัวลงของธุรกิจในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็น ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ของที่ระลึก ตลอดจนบริการทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ
ซึ่งภาคการท่องเที่ยวนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของไทย โดยในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด
ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2,000,000 ล้านบาท และทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 4,000,000 ล้านตำแหน่ง
ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก และสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้านเราในวงกว้างได้
ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า หากผลกระทบของ “เอลนีโญ” ในครั้งนี้ร้ายแรงจริง ๆ
ก็คงเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนไทยต้องช่วยกันแก้ และเตรียมตัวรับมือกับภัยธรรมชาติในครั้งนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.theguardian.com/environment/2023/jan/16/return-of-el-nino-will-cause-off-the-chart-temperature-rise-climate-crisis
-https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-update-prepare-el-ni%C3%B1o
-https://earth.org/el-nino-2023/
-https://www.krungsri.com/th/research/researchintelligence/ri-drought
-https://advicecenter.kkpfg.com/th/the-analysis/drought-situation-in-2020
-https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Household-CIS3383-FB-22-02-2023.aspx
-https://lookerstudio.google.com/reporting/52a283c8-91f9-4b35-8157-2b2b42312602/page/p_48ezze88oc
-https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_20Mar2023_01.html
-https://www.thaipbs.or.th/news/content/328433
-https://www.pier.or.th/abridged/2022/15/
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=ExportStructure&Lang=Th
-https://www.fao.org/3/cc5749en/cc5749en.pdf
-https://www.mots.go.th/download/article/article_20211001101334.pdf
-https://weis.fti.or.th/wp-content/uploads/2020/05/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.