ทำไมบริษัทใหญ่ ชอบผันตัวไปเป็น “โฮลดิง”

ทำไมบริษัทใหญ่ ชอบผันตัวไปเป็น “โฮลดิง”

29 ก.ค. 2023
ทำไมบริษัทใหญ่ ชอบผันตัวไปเป็น “โฮลดิง” /โดย ลงทุนแมน
ปัจจุบัน มีหลายบริษัทที่ผันตัวกลายเป็นโฮลดิง และเข้าไปถือหุ้นในบริษัทลูก ไม่ว่าจะเป็น
PTT ถือหุ้นใน PTTEP, PTTGC, TOP และ OR
JMART ถือหุ้น JMT, SINGER และ J
BTS ถือหุ้น VGI, PLANB และ MACO
แล้วรู้หรือไม่ว่า นอกจากบริษัทชื่อดังที่เราคุ้นหูแล้ว ในตลาดหุ้นไทย ยังมีบริษัทอีกมากที่ปรับโครงสร้างบริษัทไปเป็นรูปแบบโฮลดิง เต็มไปหมด
แล้วทำไมบริษัทไทย ถึงชอบผันตัวไปเป็นโฮลดิง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มกันก่อนที่ โฮลดิง คืออะไร สรุปตามความหมายตรงตัวเลยก็คือ บริษัทที่มีรายได้หลัก เป็น เงินปันผล จากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น
ตัวอย่างชัด ๆ เลย ก็จะเป็น INTUCH ที่เข้าไปถือหุ้น ADVANC เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS อยู่ 40.44% มีรายได้จากเงินปันผลราว 10,000 ล้านบาทต่อปี
แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่แรกเริ่ม มีธุรกิจหลักมาก่อน แต่พอกิจการใหญ่โตขึ้น ก็มีการปรับโครงสร้าง คือมีธุรกิจหลักด้วย และมีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ด้วย ตามที่ยกตัวอย่างไป เช่น PTT, JMART และ BTS
คำถามคือ เมื่อกิจการใหญ่ขึ้น
ทำไมต้องผันตัวไปเป็นโฮลดิง ?
สาเหตุสำคัญ ก็เพราะว่า
1. การแยกส่วนธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการบริหาร
การมีบริษัทลูก ทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงาน ของหน่วยธุรกิจโดยเฉพาะ จะทำให้บริษัทแม่มีความคล่องตัวในการบริหารมากกว่า
ลองคิดภาพตามว่า หากซีอีโอ ต้องมาคอยดูแล 20 บริษัท ที่ทั้งมีอำนาจบริหาร และถือหุ้นอยู่พร้อม ๆ กัน ก็จะเป็นภาระที่หนักเกินไป
พอแยกออกมามองเป็นก้อน ๆ หรือเป็นกลุ่มย่อย เราก็จะเห็นภาพมากขึ้นกว่าเดิมว่า โครงสร้างรายได้ ผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัท เป็นอย่างไร รวมถึงสามารถมองเห็นปัญหา หรือโอกาสได้มากขึ้น
โอกาสในที่นี้ก็เช่น หากบริษัทลูกเติบโตได้ดี บริษัทแม่ก็มีทางเลือก ที่จะปลดล็อกมูลค่ากิจการ หรือก็คือ การ Spin-off นำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นได้อีกด้วย
ซึ่งวิธีนี้ ก็เป็นท่าประจำที่บริษัทใหญ่ในไทย นิยมทำกัน เช่น
- CRC แยกออกมาจากเซ็นทรัล
- OR แยกออกมาจาก ปตท.
หรือ SCGC และ SCGP ที่แยกออกมาจากปูนซิเมนต์ไทย
2. การลดความเสี่ยง
การมีบริษัทลูกหลายบริษัท ทำให้มีการแยกการดำเนินธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จึงต่ำกว่ารูปแบบบริษัทเดี่ยว
เนื่องจากบริษัทลูก จะมีการแยกส่วนการดำเนินงาน และ สินทรัพย์ ออกจากบริษัทแม่
ถ้าบริษัทลูกมีปัญหาหนี้สิน ที่เกิดขึ้นในนามของบริษัทลูก ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ในบริษัทโฮลดิง มากไปกว่าเงินที่ลงทุนไปในบริษัทลูก
3. ต้นทุนทางการเงิน
โฮลดิง มักได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทลูก จากฐานะทางการเงิน ที่ยืดหยุ่นตามสัดส่วนการถือหุ้น
หากโฮลดิง เข้าไปถือหุ้นไม่เกินครึ่งหนึ่ง ก็จะไม่ได้นำงบเต็ม ๆ ทั้งสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนทุน ไปจนถึงรายได้และกำไรของกิจการเข้ามารวม
ดังนั้น หากต้องการขยายธุรกิจ ก็สามารถให้ โฮลดิง เป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ และนำไปให้บริษัทลูกขยายธุรกิจ เพื่อที่จะได้ต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า การที่บริษัทลูกซึ่งมีหนี้สูง ทำการกู้เงินด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ โฮลดิง ก็จะสามารถรับเงินปันผลจากบริษัทลูกได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี หากว่า
- เข้าไปถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
- ทั้งโฮลดิงและบริษัทลูก ไม่มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน
- โฮลดิง ถือหุ้นก่อนและหลังจ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 3 เดือน
เนื่องจากรายได้จากเงินปันผลดังกล่าว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะจำนวนเงินนั้น ได้มีการเสียภาษีมาแล้วรอบหนึ่งในส่วนของบริษัทลูก
ซึ่งหากต้องเสียภาษีจากการจ่ายเงินปันผล เพิ่มอีก 10% จะทำให้เป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน จากรายได้ก้อนเดิม
อย่างไรก็ตาม การเป็นบริษัทโฮลดิง ยังมีข้อเสียคือ
- หากโฮลดิง มีการขายหุ้นของบริษัทลูกออกไป จะต้องมีการเสียภาษี Capital Gain หรือผลกำไรจากส่วนต่างของราคา สูงถึง 20%
จึงทำให้เวลาบริษัทโฮลดิง ขายบริษัทลูกออกไป ต้องคำนวณต้นทุนจากการเสียภาษีเข้าไปด้วย
- การบริหารจัดการค่อนข้างยาก ในกรณีที่โฮลดิง ไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทย่อยทั้งบริษัท ก็อาจเกิดความเห็นขัดแย้งกับผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน
- ต้นทุนการจัดตั้ง สูงกว่ารูปแบบบริษัทเดี่ยว เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจัดตั้งหลายบริษัท รวมถึงมีต้นทุนในการจัดทำเรื่องภาษีที่มากกว่า
สรุปแล้ว บริษัทโฮลดิง คือบริษัทที่เข้าไปถือหุ้นในหลายกิจการ โดยจะมีรายได้จากเงินปันผล เป็นหลัก
แต่ก็มีหลายบริษัท โดยเฉพาะในไทย ที่ดำเนินกิจการเดิมอยู่แล้ว และได้ปรับโครงสร้างไปเป็นโฮลดิง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารกิจการ เพื่อกระจายความเสี่ยง ไปจนถึงเพื่อปลดล็อกมูลค่า ที่มีโอกาสเติบโต ต่อไปได้อีกในอนาคต..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/340-getting-to-know-holding-company
-https://www.finspace.co/stockscanner-holding-company/
-https://www.idolplanner.com/post/holding-company
-https://bit.ly/3DcxIeI
-โฮลดิ้ง!! กิจการที่ไม่มีวันตาย / รายการ MONEY CHAT THAILAND
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.