WeWork ทำสตาร์ตอัปอย่างไร ให้เจ๊งเป็นล้านล้าน

WeWork ทำสตาร์ตอัปอย่างไร ให้เจ๊งเป็นล้านล้าน

17 ส.ค. 2023
WeWork ทำสตาร์ตอัปอย่างไร ให้เจ๊งเป็นล้านล้าน /โดย ลงทุนแมน
4 ปีก่อน WeWork เป็นสตาร์ตอัปดาวรุ่ง ถูกประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 1,400,000 ล้านบาท
แต่วันนี้ มูลค่าบริษัทของ WeWork ลดลงเหลือเพียง 6,000 ล้านบาท คิดเป็น 99% หรือจะพูดว่าหายไปเกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้
มันเกิดอะไรขึ้น กับ WeWork ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
WeWork เป็นสตาร์ตอัป ด้านอสังหาริมทรัพย์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 โดย Adam Neumann และ Miguel McKelvey
โดยลักษณะธุรกิจของ WeWork คือ ออกแบบและก่อสร้างสำนักงาน เพื่อปล่อยเช่าให้กับบริษัทอื่น
หลังจากก่อตั้งบริษัทได้ไม่นาน บริษัทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว จนสื่อหลายแห่งยกให้ WeWork เป็น “บริษัทผู้ให้เช่าพื้นที่ ที่เติบโตเร็วสุดในนิวยอร์ก”
บวกกับคำพูดของผู้ก่อตั้งที่ว่า “เราไม่ได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อหวังเงินระดมทุน หรือเพื่อทำธุรกิจให้เช่า.. แต่เรากำลังทำธุรกิจเปลี่ยนโลก”
เรื่องนี้ได้จุดประกายความหวัง ให้กับนักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ช่วงนั้นมีบริษัทระดับโลกมากมาย ที่เข้ามาเป็นผู้ให้เงินทุนกับ WeWork
เช่น
- JPMorgan Chase & Co.
- Goldman Sachs Group
- SoftBank Group ของเศรษฐีรวยสุดอันดับ 3 ของญี่ปุ่น อย่าง Masayoshi Son
พอ WeWork ได้เงินทุนมา บริษัทก็ยิ่งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
- ปี 2016 รายได้ 13,200 ล้านบาท
ขาดทุน 13,000 ล้านบาท
- ปี 2017 รายได้ 26,800 ล้านบาท
ขาดทุน 26,900 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 54,400 ล้านบาท
ขาดทุน 48,300 ล้านบาท
แม้รายได้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม
เราจะเห็นว่าตัวเลขการขาดทุน ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ธุรกิจของ WeWork จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น การสร้างตึกเพิ่ม ตามยอดการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า แต่ดูเหมือนว่า การขาดทุนนี้ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรนัก
เพราะนักลงทุน ต่างยังมองว่า WeWork ยังเป็นบริษัทสตาร์ตอัปดาวรุ่งพุ่งแรง
แต่ไม่นาน เหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนเริ่ม “เอ๊ะ”
ก็ได้เกิดขึ้น
โดยเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เมื่อบริษัทต้องการ IPO ซึ่งตามขั้นตอน บริษัทจะต้องยื่นแบบ S-1 ให้กับ ก.ล.ต.
โดยในแบบ S-1 ทั้งนักลงทุน และนักวิเคราะห์ได้เจอสิ่งผิดปกติอยู่หลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ตัวผู้ก่อตั้งอย่าง Neumann เป็นเจ้าของอาคารหลายแห่งที่ WeWork ทำสัญญาเช่า
- Neumann ยืมเงินจากบริษัท ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาด เพื่อนำไปใช้จ่ายส่วนตัว
- Neumann ได้ขายเครื่องหมายการค้า “We” ที่เขาบอกว่าเป็นเจ้าของ 2 ตัวอักษรนี้
โดยที่บริษัทต้องจ่ายเงินให้กับ Neumann เป็นค่าลิขสิทธิ์ ถึง 180 ล้านบาท..
เรื่องนี้ ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือในตัว Neumann รวมถึงบริษัท ลดลงไปอย่างมาก ถึงขนาดที่มูลค่าบริษัท ที่เคยถูกประเมินไว้ที่ 1,400,000 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 420,000 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงถึง 70%
แต่จนแล้วจนรอด WeWork ก็หาทางระดมทุน เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ โดยบริษัทได้ใช้วิธีที่เรียกว่า SPAC
อธิบายวิธีการของ SPAC แบบง่าย ๆ คือ ก่อตั้งบริษัท A ขึ้นมาเพื่อซื้อกิจการของ B ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นทำการเปลี่ยนชื่อ A เป็น B
เท่านี้บริษัท B ก็เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก เท่ากับการ IPO โดยตรง
ซึ่ง WeWork ได้ใช้วิธีนี้เพื่อพาบริษัทเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021
แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของ WeWork จะไม่ได้ดีขึ้นเลย
โดยหากเรามาดู ผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
- ปี 2020 รายได้ 121,000 ล้านบาท
ขาดทุน 135,000 ล้านบาท
- ปี 2021 รายได้ 91,000 ล้านบาท
ขาดทุน 164,000 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 114,000 ล้านบาท
ขาดทุน 81,000 ล้านบาท
- ครึ่งแรกของปี 2023 รายได้ 60,000 ล้านบาท
ขาดทุน 24,600 ล้านบาท
รายได้ที่เคยเติบโต เริ่มชะลอลง ในขณะที่ยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่เหมือนเดิม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์
เท่านั้นยังไม่พอ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หรือกระแสเงินสด ที่ได้จากการทำมาค้าขายของ WeWork ก็ยังติดลบมาตั้งแต่ปี 2018 มาจนถึงวันนี้
จากตัวเลขตรงนี้ เราอาจพูดได้ว่า WeWork ยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถทำกำไรได้เลย
โดยล่าสุด ในวันประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่เพิ่งผ่านมา ทางบริษัทได้ออกมาบอกว่า หากบริษัท WeWork ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง การทำกำไร รวมไปถึงเรื่องสภาพคล่องได้
บริษัทอาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น ปรับโครงสร้างหนี้, หาช่องทางในการเพิ่มทุน, ขายทรัพย์สินบางส่วน รวมไปถึงการยื่นล้มละลาย
จากผลประกอบการที่ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น บวกกับความเสี่ยงในการล้มละลาย
ทำให้นักลงทุนต่างหมดความหวัง และทยอยขายหุ้นของ WeWork จนราคาหุ้นร่วงลงอย่างต่อเนื่อง จนมูลค่าบริษัทลดลงเหลือเพียง 6,000 ล้านบาท
หรือเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 99% นับจากวันที่บริษัทเคยถูกประเมินมูลค่าสูงสุดไว้ที่ 1,400,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเจ๊งเป็นล้านล้าน เพราะโมเดลธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง มีต้นทุนมหาศาล แล ะยังทำกำไรไม่ได้ บวกกับตัวผู้ก่อตั้งขาดความน่าเชื่อถือ
ซึ่งถ้าถามว่า มูลค่า 6,000 ล้านบาท
คิดเป็นมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ?
คำตอบคือ มูลค่าน้อยกว่า
คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เพียงโครงการเดียวเสียอีก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/sites/alexkonrad/2014/11/05/the-rise-of-wework/?sh=8a642c16f8b0
-https://www.cnbc.com/2023/08/08/wework-warns-of-remaining-going-concern-and-says-bankruptcy-possible.html
-https://finance.yahoo.com/quote/WE/financials?p=
-https://en.wikipedia.org/wiki/WeWork
WE
-https://companiesmarketcap.com/wework/marketcap/
-รายงานประจำปีของบริษัท ปี 2022
-รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของบริษัท
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.