ไอร์แลนด์ จากประเทศจนสุด สู่เสือเศรษฐกิจของยุโรป

ไอร์แลนด์ จากประเทศจนสุด สู่เสือเศรษฐกิจของยุโรป

9 ก.ย. 2023
ไอร์แลนด์ จากประเทศจนสุด สู่เสือเศรษฐกิจของยุโรป /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงประเทศที่ได้รับฉายาว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ”
แทบทุกคนคงจะนึกถึง 4 เสือแห่งเอเชีย ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
โดยทั้งประเทศ และเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ต่างก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
แต่รู้หรือไม่ว่า ในอีกซีกโลก ยังมีประเทศหนึ่ง ที่ได้รับฉายาว่าเป็นเสือเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ประเทศนั้นก็คือ “ไอร์แลนด์”
ที่น่าสนใจคือ เมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ไอร์แลนด์
เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป
แล้วไอร์แลนด์ ทำอย่างไร ?
ให้ประเทศหลุดพ้นจากความยากจน
จนในวันนี้ได้รับฉายาว่า เสือเศรษฐกิจ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
“Celtic Tiger” เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศไอร์แลนด์
ในช่วงระหว่างปี 1990 ถึงประมาณปี 2007
โดยฉายา Celtic Tiger นั้น ถูกนิยามครั้งแรกเมื่อปี 1994 ในรายงานของ Morgan Stanley โดยนักกลยุทธ์ด้านการลงทุนที่ชื่อ Kevin Gardiner จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ของประเทศไอร์แลนด์
หากเราลองมาดูข้อมูลจาก World Bank ก็จะพบว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1987 ถึงปี 2007 ตัวเลข GDP ของไอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นมาเกินกว่า 7 เท่าเลยทีเดียว
แล้วอะไร ทำให้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์ เติบโตอย่างรวดเร็ว ?
คำตอบคือ “การลงทุนจากต่างชาติ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เติบโตร้อนแรงเช่นกันในช่วงเวลานั้น
ตัวอย่างของบริษัทชื่อดังที่มาลงทุน
ได้แก่ Dell, Intel และ Microsoft
คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมถึงต้องเป็นไอร์แลนด์ ?
สาเหตุหลักที่ไอร์แลนด์ เป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ
แบ่งออกได้เป็น 3 ข้อด้วยกัน
1. ไอร์แลนด์เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
การเข้าเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปในปี 1973 ส่งผลให้ภาคเอกชนของไอร์แลนด์ สามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ภายในยุโรปได้ จากก่อนหน้านั้นที่ค้าขายกับสหราชอาณาจักรเป็นหลัก
รวมถึงยังได้รับเงินสนับสนุน จากประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ผ่านกองทุนต่าง ๆ รวมเป็นมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท
ซึ่งรัฐบาลไอร์แลนด์ในยุคนั้น ก็ได้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และพัฒนาอุตสาหกรรมการเงิน
โดยหนึ่งในนั้นคือ International Financial Services Centre ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ หรือ CBD ในกรุงดับลิน คล้าย ๆ กับย่านแมนแฮตตัน ในมหานครนิวยอร์ก
2. มีแรงงานทักษะสูง จากการลงทุนในระบบการศึกษา
ตั้งแต่ช่วงปี 1960 รัฐบาลไอร์แลนด์ ได้ทุ่มงบลงทุน เพื่อปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่
ยกตัวอย่างนโยบายบางส่วน เช่น ให้เด็กทุกคนเรียนฟรี จนจบระดับมัธยมศึกษา และยังสนับสนุนทุนเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ไอร์แลนด์ ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจาก EU
รัฐบาลไอร์แลนด์ก็ได้นำเงินส่วนหนึ่ง มาลงทุนในการพัฒนาทักษะของแรงงาน
เสมือนเป็นการเหยียบคันเร่งที่ทำให้ไอร์แลนด์
มีขีดความสามารถของแรงงานที่สูงขึ้น
บวกกับในช่วงแรก ค่าแรงในไอร์แลนด์ยังคงถูกกว่า ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป
จุดนี้เอง ทำให้บรรดาบริษัทข้ามชาติ หันมามองการลงทุนในไอร์แลนด์
3. มีอัตราภาษีต่ำ
อีกเหตุผลสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ อัตราภาษีที่ต่ำ
โดยรัฐบาลไอร์แลนด์ กำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่เพียง 10% ถึง 12.5%
เทียบกับประเทศอื่น อย่างสหราชอาณาจักร ที่ในตอนนี้มีอัตราภาษี 34% หรือเยอรมนี ที่มีอัตราภาษีสูงถึง 50% เลยทีเดียว
ด้วยอัตราภาษีที่ต่ำ ทำให้ไอร์แลนด์ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน Tax Haven หรือดินแดนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ที่มีชื่อเสียงของโลก
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ
เลือกเข้ามาลงทุนในไอร์แลนด์
จนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดย GDP ของไอร์แลนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก
1.2 ล้านล้านบาท ในปี 1987 กลายเป็น 9.4 ล้านล้านบาท ในปี 2007
คิดเป็นการเติบโตเกินกว่า 7 เท่า ภายในระยะเวลา 20 ปี
ในช่วงเวลาเดียวกัน GDP ต่อหัว เติบโตจาก 330,000 บาท/คน/ปี เป็น 2,100,000 บาท/คน/ปี
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน แม้ตอนนี้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์ จะไม่ได้เติบโตร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว
แต่หากลองมาดูข้อมูลจาก Forbes จะพบว่า ตอนนี้ไอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัว สูงที่สุดในโลก ที่ 5,100,000 บาท/คน/ปี
นอกจากนี้ไอร์แลนด์ยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยจะเห็นได้จากบริษัทจดทะเบียน หรือกองทุนหลาย ๆ กอง ที่นิยมเข้าไปจดทะเบียนในประเทศไอร์แลนด์
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า โมเดลการพัฒนาประเทศของไอร์แลนด์นั้น หลายจุดมีความคล้ายคลึง กับการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์
ทั้งในด้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และผลประโยชน์ทางภาษี ที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนในประเทศ
แม้จะต้องใช้เวลาหลายสิบปี
แต่ทั้งสองประเทศนี้ ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแล้ว
ว่า การวางนโยบายที่ดี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ
ที่จะช่วยยกระดับ ให้ประเทศเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/terms/c/celtictiger.asp
-https://www.taxpolicycenter.org/sites/default/files/legacy/taxfacts/content/pdf/g7_historical_corp.pdf
-https://www.forbesindia.com/article/explainers/top-10-richest-countries-in-the-world/87305/1
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=IE
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD?locations=IE
-https://en.wikipedia.org/wiki/Celtic_Tiger
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_the_Republic_of_Ireland
-https://en.wikipedia.org/wiki/International_Financial_Services_Centre,_Dublin
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ireland_as_a_tax_haven
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.