ภาษีหุ้นนอก สรุปม้วนเดียวจบ เรื่องใหญ่ วงการตลาดทุนไทย

ภาษีหุ้นนอก สรุปม้วนเดียวจบ เรื่องใหญ่ วงการตลาดทุนไทย

20 ก.ย. 2023
ข่าวใหญ่ของวงการตลาดทุนไทย ล่าสุดกรมสรรพากร ยืนยันว่าจะมีการเก็บภาษีเงินได้ ของบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากต่างประเทศ รวมไปถึงเงินได้จากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 67
เรื่องนี้ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ และจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ลงทุนนอกบ้าง ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สาเหตุที่เก็บภาษีนี้ กรมสรรพากรให้เหตุผลว่า ต้องจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยภาษีดังกล่าวจะครอบคลุมทั้ง
- กำไรจากการขายทรัพย์สิน เช่น หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ
- คนไทย ทั้งที่มีหน้าที่การงานในต่างประเทศ หรือเป็นพนักงานในบริษัทต่างประเทศ
โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะเสียภาษีเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าประเทศไทย หรือหากมีการเสียภาษีในประเทศต้นทางแล้ว ก็จะสามารถนำมาเก็บไว้ เป็นเครดิตภาษีในบ้านเราได้
ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ยกเว้นภาษี หากเงินได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกโอนกลับประเทศไทย ภายในปีที่เกิดเงินได้
จึงทำให้ก่อนหน้านี้ นักลงทุนที่ลงทุนหุ้นนอกส่วนใหญ่ หากมีกำไรก็จะถือข้ามปี แล้วค่อยโอนเงินกลับมา เพื่อที่จะไม่โดนภาษี
แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป กรมสรรพากรบอกว่า ไม่ว่าจะโอนกลับประเทศไทยปีไหน เงินได้นั้นก็จะต้องถูกคำนวณภาษีด้วย
จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องใหญ่” ของวงการตลาดทุนไทยเลยทีเดียว
แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง กับคนที่ซื้อหุ้นนอก นี่คงเป็นคำถามแรกที่ทุกคนสงสัย
คำตอบที่ได้ อาจมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับ
1. ฐานภาษีของแต่ละคน
2. ขนาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศ
3. ความมั่นใจในหุ้นต่างประเทศของแต่ละคน
4. ทางเลือกของรูปแบบการลงทุนที่มีอยู่
ตัวอย่างเช่น ถ้าคนนั้นมีฐานภาษีอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% และขนาดเงินเล็ก คนนั้นก็จะยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องภาษี และเรื่องนี้ก็คงไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับตัวเขา
แต่ถ้านักลงทุนที่มีฐานภาษีสูง และขนาดเงินที่ลงทุนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องใหญ่มาก
เทียบให้เห็นภาพคือ
- ทุก ๆ กำไร 1,000,000 บาท
- ถ้าฐานภาษี ตั้งแต่ 20%-35%
- จะโดนภาษีกินไป 200,000-350,000 บาทเลยทีเดียว
แน่นอนว่าถ้าคนที่ไม่อยากเสียภาษีก้อนนี้ก็จะเริ่มกังวล
แต่สำหรับคนที่ยังมั่นใจในหุ้นต่างประเทศ ว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นไทย ก็อาจจะยังคงลงทุนในหุ้นต่างประเทศอยู่ แต่ในขณะเดียวกันอาจหาทางเลือกในรูปแบบการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในรูปแบบเดิม
แล้วมีรูปแบบการลงทุนอะไรบ้าง ที่อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในรูปแบบเดิม ?
ตัวอย่างแรกก็คือ กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ซึ่งผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ผู้ซื้อก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนแทน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ถ้าเราซื้อหุ้นรายตัว แล้วมีฐานภาษี 20%-30% จากกำไร
ถ้าเราได้กำไรจากหุ้นต่างประเทศ 10%-20% ต่อปี เราก็จะมีค่าใช้จ่ายภาษี 2%-6% ต่อปี
นักลงทุนก็จะเปรียบเทียบค่าภาษีนี้ กับค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนต่างประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1%-2% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าการซื้อหุ้นรายตัว
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการตลาดทุนไทยก็คือ
เงินลงทุนก้อนใหม่ ๆ ในประเทศไทยที่อยากลงทุนหุ้นนอก ก็อาจไหลไปกองทุนรวมมากขึ้น เมื่อเทียบกับแต่ก่อน
เพราะดูแล้วก็ราวกับว่า กรมสรรพากรกำลังบีบให้ นักลงทุนรายย่อยเลือกเอาว่าจะจ่ายภาษี หรือจะจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการให้กองทุนรวม ไม่มีอีกแล้วที่จะลงทุนด้วยตัวเอง แล้วไม่เสียภาษี
และบริษัทที่ได้ประโยชน์แบบส้มหล่น ก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เช่น บลจ. และ บลน. ซึ่งอาจรวมไปถึง DR และ DRx ที่เป็นหลักทรัพย์ไทยที่อ้างอิงหุ้นนอก
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เสียประโยชน์ก็น่าจะเป็นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ที่ให้บริการซื้อขายหุ้นนอกรายตัว รวมถึงกลุ่มกองทุนส่วนบุคคลที่รับดูแลลูกค้ารายใหญ่ ที่ลูกค้าจะมีความกังวลในเรื่องภาษี
ในขณะที่ บริษัทที่ให้บริการทั้งซื้อขายหุ้นนอกและมีกองทุนรวมด้วย ก็อาจเจอภาวะการสลับจากหุ้นนอกรายตัวไปหากองทุนรวมแทน
สำหรับคนที่ทำงานต่างประเทศ
บอกได้เลยว่า หลายคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ได้เงินจากต่างประเทศก็ไม่ต้องกังวลนัก เพราะกฎนี้สามารถยกเว้นภาษีได้ง่าย ๆ เพียงกลับไทยในช่วงครึ่งปีหลัง..
ตีความจากที่กรมสรรพากรบอกเอาไว้ว่า ถ้าเราอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วัน มีรายได้จากต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาในปีนั้น จะต้องเสียภาษี ถ้าอยู่ไม่ถึง 180 วัน ก็ไม่ต้องเสียภาษี
เรื่องนี้ก็จะทำให้คนไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ถ้าจะนำเงินกลับมาในประเทศไทย ก็จะเลือกนำเงินกลับประเทศในช่วงปลายปี แทนที่จะกลับมาไทยช่วงต้นปี ซึ่งคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ มีรายได้มาก ๆ ก็คงจะทำแบบนี้ เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่ยังอยากซื้อหุ้นรายตัว
เรื่องนี้สามารถบรรเทาภาษีได้โดย การจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อลงทุนต่างประเทศ
เนื่องจากนิติบุคคลเสียภาษี 20%
แต่บุคคลธรรมดามีขั้นบันไดภาษีไปสูงสุดถึง 35%
ตัวอย่างเช่น นาย A มีรายได้รวมกำไรจากการลงทุน 5,000,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษี 35%
แต่ถ้านาย A ไปจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ABC เป็นนิติบุคคลขึ้นมา ก็จะเสียภาษีแค่ 20% เท่านั้น (เมื่อรวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผล ก็จะคิดเป็นเพียง 28% ซึ่งน้อยกว่าอยู่ดี)
ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยมี “ช่องว่างภาษี” ระหว่าง นิติบุคคล กับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงอยู่
หรือยกตัวอย่างเล่น ๆ ว่า
นักลงทุนรายใหญ่พันล้านที่ต้องการนำเงินก้อนใหญ่กลับประเทศ ก็อาจไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลารวมกันสักครึ่งปี แล้วค่อยนำเงินพันล้านกลับมาในปีนั้น ก็สามารถยกเว้นภาษีได้เช่นกัน
นอกจากนั้นการเก็บภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจทำได้ยากมากในเชิงปฏิบัติ
เช่น ถ้าเราโอนเงินไปลงทุนหลายก้อนในต่างประเทศ แต่ละก้อนกำไรขาดทุนต่างกัน จะมีวิธีคิดภาษีอย่างไร
การขาดทุนสามารถหักลบกำไรได้หรือไม่
กำไรที่ได้จากอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเงินได้หรือไม่
รายงานที่ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรจะเป็นรายงานในรูปแบบไหน
เงินปันผลของหุ้นนอกที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะมาหักลบกับภาษีนี้อย่างไร
จะเห็นได้ว่า รายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจนเหล่านี้ น่าจะทำให้นักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ เกิดความสับสนกันไม่น้อย
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะเข้าใจภาษีรายได้ต่างประเทศ ผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ รวมถึงกรณีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในเบื้องต้น
ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน หรือคนที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ ต้องติดตามให้ดี
เพราะดูแล้ว มันยังมีอีกหลายมุม ที่ยังไม่ครอบคลุม แทนที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีได้มากขึ้น ภาพที่เกิดขึ้นจริง คนเหล่านั้นอาจเลือกชะลอการนำเงินกลับมา หรือหาช่องโหว่อื่นแทน
และสุดท้ายกรมสรรพากรต้องทำงานหนักขึ้นในการตรวจเอกสารว้าวุ่น ในขณะที่เก็บภาษีส่วนนี้ได้น้อย อยู่ดี..
References
-​​https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/news/2566thai/news34_2566.pdf
-https://www.bot.or.th/content/dam/bot/portfolio-investment-abroad/ipdf/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.