สรุปประเด็น เก็บภาษี ลงทุนต่างประเทศ คุ้มค่าจริงหรือ ?

สรุปประเด็น เก็บภาษี ลงทุนต่างประเทศ คุ้มค่าจริงหรือ ?

29 ก.ย. 2023
สรุปประเด็น เก็บภาษี ลงทุนต่างประเทศ คุ้มค่าจริงหรือ ? /โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
- ล่าสุดมีบทความจาก ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่เชี่ยวชาญด้านภาษี และกฎหมายภาษี ที่เสนอให้รัฐบาลพิจารณา 3 ประเด็น เกี่ยวกับภาษีต่างประเทศ คือ
1. "ความชอบด้วยกฎหมาย" ของคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว

2. "ความคุ้มค่า" และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
3. "ข้อเสนอการจัดเก็บภาษี" จากแหล่งภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่เป็นธรรมและเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์หรือฮ่องกงได้
ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟังทีละข้อ
ประเด็นที่ 1: ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกรมสรรพากร
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า
คำสั่งกรมสรรพากร ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 ฉบับนี้ ได้ยกเลิกการตีความของมติ กพอ ของกรมสรรพากร ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528 ที่เคยมีแนวการตีความไว้
การที่กรมสรรพากรออกคำสั่ง เปลี่ยนการตีความที่มีมากว่า 38 ปี แทนที่จะเสนอแก้ไขกฎหมายเป็น พรก. หรือ พรบ.
คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผิดหลักการของการตีความกฎหมายภาษีอากร และเป็นการขยายการตีความกฎหมายของฝ่ายบริหาร (หรือกรมสรรพากร) เอง
โดยหลักการตีความกฎหมายภาษีอากรนั้น หากสามารถตีความได้หลายนัย ต้องตีความโดยเคร่งครัด
หากมีข้อสงสัยก็ต้องตีความเป็นคุณกับผู้เสียภาษีอากร
หากเมื่อรัฐบาลคิดว่ากฎหมายมีช่องว่าง ก็ต้องตราเป็นกฎหมายใหม่
โดยกรณีนี้ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายควรเป็นศาลภาษีอากร ไม่ใช่กรมสรรพากรเอง..
การตีความในอดีตของกรมสรรพากร และจากตำราที่เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ผ่านมา ก็ใช้หลักว่าจะเสียภาษีเงินได้ต้องนำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน
ซึ่งหากตีความได้ 2 นัย ก็ต้องตีความเป็นคุณแก่ผู้เสียภาษี
ดังนั้นหากรัฐบาลเห็นว่าการตีความมาตรา 41 มีช่องว่างในการตีความกฎหมายที่ทำให้ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศวางแผนหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) รัฐบาลก็ควรที่จะเสนอแก้กฎหมายให้ชัดเจนแทน
สรุปประเด็นที่ 1 ก็คือ “กรมสรรพากรไม่สามารถตีความใหม่ได้ เพราะมันจะขัดแย้งกันเองกับการตีความในอดีต หน้าที่นี้ควรเป็นศาลภาษีอากร ไม่ใช่กรมสรรพากร สิ่งที่สรรพากรควรทำ คือแจ้งให้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่แทน”
ประเด็นที่ 2: การเก็บภาษีนี้ คุ้มค่าหรือไม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ?
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์กล่าวว่า
คำสั่งดังกล่าวก็มิได้กำหนดวิธีการชัดเจนว่าเงินได้จากต่างประเทศจะเสียภาษีซ้ำซ้อนหรือไม่
เงินได้ประเภทใดจะได้รับเครดิตหรือยกเว้นภาษีหรือไม่
เงินที่นำไปลงทุนในตลาดทุนหรือซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศจะถูกเก็บภาษีส่วนใด
จะเก็บภาษีส่วนเกินหรือ Capital gain หรือเก็บภาษีเฉพาะส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับ หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
เพราะเงินที่นำเข้ามาอาจจะไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าเป็นต้นเงิน หรือดอกเบี้ย หรือกำไร
ความไม่ชัดเจนในการเก็บภาษีตามมาตรา 48 ที่กำหนดไว้นั้นจะสร้างความกังวลให้กับคนไทยผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ รวมถึงบรรดาชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน
ในระยะสั้นอาจมีเงินลงทุนเข้ามาเพื่อลงทุนในกองทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศในประเทศไทยแทนที่จะไปลงทุนโดยตรงของคนไทย
แต่พวกที่มีเงินได้อยู่ต่างประเทศประเภท High Net Worth ก็คงไม่นำกลับเข้ามาลงทุนอีกเลย
ยิ่งมีความไม่ชัดเจนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ไม่มีใครอยากนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยมากเท่านั้น
คำสั่งนี้จะทำให้ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศส่วนใหญ่ ไม่นำเงินดังกล่าวกลับเข้ามาเพื่อใช้จ่ายหรือลงทุนในอนาคต
และประเทศที่จะได้ประโยชน์คือ ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ไม่ได้เก็บภาษีแบบ Global income โดยนักลงทุน หรือผู้มีเงินได้เหล่านี้ก็อาจจะโยกย้ายเงินไปฝากหรือลงทุนใน 2 ประเทศนี้ต่อไปในอนาคต
โดยเฉพาะนักลงทุนไทยประเภท High Net Worth คงไม่นำเงินกลับเข้ามาอีกแต่จะไปลงทุนใน 2 ประเทศนี้แทน
ซึ่งถ้าบุคคลเหล่านี้ไม่นำเงินกลับมาด้วยเหตุของการเก็บภาษีเช่นว่านี้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าภาษีเงินได้ที่ได้รับจะคุ้มค่าผลกระทบในระยะยาวหรือไม่
รูปแบบของการลงทุนอาจพัฒนาไปถึงขั้น จัดทำเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน จากนิติบุคคลโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Back To Back นำเงินได้ไปเป็นหลักประกันแล้วปล่อยกู้เข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดกระบวนการเป็นหนี้เงินกู้แทนที่จะมีเงินลงทุน
นักลงทุนคนธรรมดาก็อาจจะจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ ใช้กองทุนรูปแบบต่างๆในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีที่ต่ำ เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง
สรุปประเด็นที่ 2 ก็คือ “เกณฑ์การเก็บภาษีไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และมีช่องโหว่ ซึ่งจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย”
ประเด็นที่ 3: ถ้ารัฐบาลจะเก็บภาษี ควรทำอย่างไร ?
หากรัฐบาลมีความประสงค์จะเก็บภาษีเงินได้ที่อยู่ต่างประเทศตามหลักภาษีเงินได้ทั่วโลก (Global income) แบบสหรัฐอเมริกา
ประเทศไทยจะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ให้ชัดเจนตามประเภทเงินได้ ตามหลักแหล่งเงินได้ ตามหลักถิ่นที่อยู่ให้ชัดเจน
ทั้งนี้อาจจะพิจารณาแก้ไขมาตรา 41 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถดำเนินการได้ด้วยการออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ
ควรมีการกำหนดรายละเอียดอัตราภาษีที่ไม่สูงเกินไป วิธีการคำนวณและอัตราต้องกำหนดให้ชัดเจน และต้องไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อนและดูเปรียบเทียบกฎหมายของสิงคโปร์และฮ่องกง
ประเทศอินโดนีเซียเคยมีมาตรการที่จะให้นักลงทุนชาวอินโดนีเซียที่มีเงินฝากอยู่ที่สิงคโปร์นำเงินกลับเข้ามาในอินโดนีเซีย โดยมีมาตรการเรื่องการนิรโทษกรรมภาษี และเก็บภาษีในอัตรา ที่ไม่สูงมาก
สรุปประเด็นที่ 3 ก็คือ “ถ้าจะเก็บภาษี ควรปรับโครงสร้างภาษีให้ชัดเจนทั้งระบบ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยเฉพาะ สิงคโปร์ และฮ่องกง”
ข้อเสนอของ ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์
1. ในช่วงเวลาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ขอให้ส่งไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 ทวิและมาตรา 13 ฉ ของประมวลรัษฎากร เพื่อวินิจฉัยถึง “ความชอบด้วยกฎหมาย” ของคำสั่งนี้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือให้คณะกรรมการกฤษฏีกาคณะพิเศษพิจารณา
มิเช่นนั้นคงมีผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยและนำคดีขึ้นสู่ศาลภาษี ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายและเวลาที่อาจไม่คุ้มค่าแก่ทุกฝ่าย
2. ให้มีการพิจารณาผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าภาษีที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามคำสั่งนี้ เทียบกับภาษีเงินได้ที่หายไปจากการที่คนไทยนำเงินไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน
รัฐบาลไทยควรทำอย่างไรและพิจารณาความคุ้มค่าของคำสั่งดังกล่าว
3. ในขณะเดียวกัน หากต้องการจะจัดเก็บภาษีจริงๆ
รัฐบาลก็ควรแก้ไขกฎหมายวิธีการเก็บภาษีให้ชัดเจนไม่ใช่แก้ทีละจุดเหมือนการปะผุบ้านแต่ควรสร้างบ้านใหม่
โดยควรต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และสร้างความชัดเจนของการเสียภาษีในแต่ละประเภทเงินได้ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม โดยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ในขณะนี้ที่ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างภาษีของไทยเพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสเป็นและควรส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้
คำสั่งดังกล่าวของกรมสรรพากรฉบับนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ สรุปว่า ภาษีที่จะได้ “ไม่คุ้มค่า” กับโอกาสที่เสียไปของประเทศไทยในปัจจุบัน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.