ข้าวไทยแพงสุดในรอบ 15 ปี แต่ชาวนาอาจไม่รวยขึ้น

ข้าวไทยแพงสุดในรอบ 15 ปี แต่ชาวนาอาจไม่รวยขึ้น

ข้าวไทยแพงสุดในรอบ 15 ปี แต่ชาวนาอาจไม่รวยขึ้น /โดย ลงทุนแมน
ข้าว เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ทำเงินเข้าประเทศ “หลักแสนล้านบาท” เกือบทุกปี
แถมปีนี้ ยังเป็นปีที่ราคาข้าวสูงสุดในรอบ 15 ปี ทำให้ มูลค่าการส่งออกข้าวไทย เติบโตขึ้น
แม้ว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นก็ตาม ชาวนาไทยอาจยังไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอยู่ดี แล้วเป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เราอาจเข้าใจมาตลอดว่า ข้าวไทยน่าจะปลูกมากสุดในโลก เพราะที่ผ่านมา เราส่งออกข้าวเป็นที่หนึ่งมานาน
จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่า ไทยมีผลผลิตข้าวเป็นอันดับ 6 ของโลกเท่านั้น ในขณะที่ 3 ประเทศที่ปลูกข้าวเยอะสุด ได้แก่ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ
แต่ข้าวจะถูกส่งออกได้ ก็ต่อเมื่อเหลือจากการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถเหลือจนส่งออกได้
โดย 3 ประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักตอนนี้ ได้แก่
- อินเดีย มีส่วนแบ่งการตลาด 39%
- ไทย มีส่วนแบ่งการตลาด 14%
- เวียดนาม มีส่วนแบ่งการตลาด 12%
จะเห็นได้ว่า อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในขณะที่เวียดนามก็ไล่ตามไทยมาติด ๆ
เมื่อไม่นานมานี้ อินเดียต้องเจอกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตตกต่ำ จึงมีการระงับการส่งออกข้าวหลายชนิด เพื่อเก็บไว้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
นี่จึงเป็นโอกาสทองของข้าวไทยที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น
โดยหากไปดูการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมา
จะพบว่า
- ปี 2564 มูลค่าการส่งออก 109,771 ล้านบาท
ปริมาณการส่งออก 6.3 ล้านตัน
- ปี 2565 มูลค่าการส่งออก 138,697 ล้านบาท
ปริมาณการส่งออก 7.7 ล้านตัน
- 8 เดือนแรกของปี 2566
มูลค่าการส่งออก 100,369 ล้านบาท
ปริมาณการส่งออก 5.2 ล้านตัน
เห็นได้ว่า ข้าวไทยมีการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย ทำให้ผลผลิตข้าวก็น้อยลงไปอีก เพราะข้าวต้องใช้น้ำจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นโอกาสการส่งออกของข้าวไทย ที่จะกลับมาทวงแชมป์ส่งออกข้าวอีกครั้ง แต่ชาวนาไทย อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิด
เรื่องแรกเลย
ก็เพราะว่า “ต้นทุนการผลิตที่สูง”
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนาไทยขายผลผลิตได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือพูดง่าย ๆ คือ ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยต้นทุนที่ว่านี้ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร และที่สำคัญคือค่าปุ๋ย ที่คิดเป็น 1 ใน 4 ของต้นทุนการผลิตข้าวทั้งหมด
ช่วงที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยเคมีได้เพิ่มสูงขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ยหลักของโลก และไทยจำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ยมากกว่า 90% ของปุ๋ยที่ต้องใช้ภายในประเทศ

ดังนั้นแม้จะขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และทำให้การขายข้าวของชาวนาไทยแต่ละครั้ง อาจไม่ได้กำไรเลย
เรื่องต่อมา คือ
“ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่ง”
หากเราไปดูผลผลิตต่อไร่ของ 3 ผู้ส่งออกข้าวหลัก
จะพบว่า
- อินเดีย มีผลผลิต 643 กิโลกรัมต่อไร่
- เวียดนาม มีผลผลิต 934 กิโลกรัมต่อไร่
- ไทย มีผลผลิต 465 กิโลกรัมต่อไร่
เห็นได้ชัดเลยว่า ไทยสามารถปลูกข้าวต่อไร่ได้ต่ำกว่าผลผลิตจากคู่แข่งอย่างมาก
สาเหตุก็เพราะว่า คู่แข่งมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า
ในขณะที่ข้าวส่งออกของไทย ต้องใช้เวลาโตนานกว่า และมีต้นทุนดูแลสูง จึงสามารถปลูกได้เพียงไม่กี่ครั้งต่อปี ทำให้ผลผลิตต่อไร่ทำได้ไม่สูงมาก นั่นเอง
บวกกับข้าวไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปีถึง 78% ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำฝนตามฤดูกาล และปลูกปีละครั้งเท่านั้น
พอเกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่เราต้องเผชิญ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
และเรื่องสุดท้าย “โครงสร้างการผลิตข้าวไทย”
ในตลาดข้าวไทยจะมี 3 ผู้เล่นหลัก ได้แก่ ชาวนา โรงสีข้าว และผู้ส่งออกข้าว โดยชาวนาเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุด เพราะมีมากกว่า 4.1 ล้านคนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากเราไปดูกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อรายของ 3 ผู้เล่นหลักนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
จะพบว่า
- ผู้ส่งออก มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 18,400,000 บาทต่อรายต่อปี
- โรงสี มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 6,200,000 บาทต่อรายต่อปี
- ชาวนา มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคนต่อปี
เห็นได้ว่า ชาวนาไทยที่เป็นรายย่อย มีกำไรเฉลี่ยต่อปีที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่อย่างผู้ส่งออกและโรงสี
ซึ่งกำไรที่ต่ำก็สื่อถึงอำนาจต่อรองที่ต่ำด้วย และหากการส่งออกหดตัว ชาวนาก็เป็นกลุ่มแรกที่จะโดนกดราคาขาย
และยิ่งมีการแข่งขันด้านราคากับอินเดียและเวียดนาม ยิ่งทำให้ราคาข้าวไทยถูกลงไปอีก ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่าคู่แข่งด้วยซ้ำ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้เล่นแต่ละรายก็มีตลาดเป็นของตัวเอง
- ข้าวไทย สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียมได้ด้วยข้าวหอมมะลิ ที่มีราคาและคุณภาพสูง
- เวียดนาม เน้นเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง ด้วยข้าวพันธุ์หนานุ่ม ซึ่งมีราคาถูกกว่า
- อินเดีย เน้นเจาะตลาดกลางถึงล่าง โดยการขายข้าวนึ่ง ซึ่งมีราคาไม่แพง
แต่ด้วยต้นทุนการผลิตของเราที่สูง บวกกับเรามีผลผลิตต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ และมีโครงสร้างที่ชาวนาแทบไม่มีอัตราต่อรองอะไรเลย
เรื่องทั้งหมดนี้ จึงทำให้สถานการณ์ในตอนนี้ กลายเป็นว่า แม้ข้าวไทยจะแพงสุดในรอบ 15 ปี แต่ชาวนาไทย ก็อาจยังมีชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ต่างจากเดิม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.ers.usda.gov/webdocs/outlooks
-https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_19Feb2021.html
-https://tdri.or.th/2022/12/powerpoint-future-thai-rice/
-https://www.oae.go.th
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon