ด่วน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ คณาจารย์ รวมตัวคัดค้าน รัฐบาลแจกเงิน

ด่วน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ คณาจารย์ รวมตัวคัดค้าน รัฐบาลแจกเงิน

6 ต.ค. 2023
ด่วน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ คณาจารย์ รวมตัวคัดค้าน รัฐบาลแจกเงิน /โดย ลงทุนแมน
“ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปแบบใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ”
นี่อาจเป็นข้อสรุปของเรื่องนี้ ที่เป็นข่าวใหญ่วันนี้
แถลงการณ์นำโดย ดร.วิรไท สันติประภพ และ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิชาการ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เราเห็นชื่อแล้วต้องอึ้ง เพราะล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์ชื่อดังที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้ง ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ สงขลานครินทร์
เรียกได้ว่าแทบจะยกอาจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศมาแล้ว..
ตัวแถลงการณ์ มีใจความหลักคือ เรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิก นโยบายแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท เพราะมองว่าเป็นนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยได้ ไม่คุ้มเสีย และการที่ผู้กําหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ “เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย”
ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด ในแถลงการณ์ ผู้ที่มีประสบการณ์อย่างอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ และนักวิชาการ คณาจารย์ทั้งหลายกล้าใช้คำนี้ ก็คงต้องมั่นใจมาก ว่า มันเลื่อนลอยจริง ๆ
แล้วแถลงการณ์นี้ ให้เหตุผลว่าอะไรบ้าง ลงทุนแมนจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
1) คำแถลงการณ์นี้ได้ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกําลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสํานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจํานวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ
สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามี “การบริโภคส่วนบุคคล” เป็นตัวจักรสําคัญอยู่แล้ว..
โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งสูงที่สุด ใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปี การบริโภคจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และร้อยละ 4.6 ในปีหน้า
ดังนั้นแถลงการณ์จึงระบุว่า ไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคลในตอนนี้
สิ่งที่รัฐต้องทำ ควรจะเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุน และการส่งออกมากกว่า
นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก
หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง
การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้ จะทําให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) สูงขึ้น และอาจนําไปสู่ภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด..
2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจํากัด ย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ
เงินจํานวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทําให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง Digital Infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป
“ค่าเสียโอกาสสําคัญ” คือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงินจํานวน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง
เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน “มีค่าต่ำกว่า 1” และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสําหรับการใช้จ่ายโดยตรง และการลงทุนของภาครัฐ
การที่ผู้กําหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ “จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย”
ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปแบบใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน
4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น มาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก
การก่อหนี้จํานวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้จากสถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทําให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศ ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น
หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปีอยู่แล้ว
นี่ยังไม่นับ จํานวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน Digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย ถ้ารวมด้วยก็จะมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปอีก
5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติล็อกดาวน์ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จําเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลัง และสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
แต่หลังจากวิกฤติล็อกดาวน์และภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาด รอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (Fiscal Consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง” (Fiscal Space) ไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต
นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก
การทํานโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง และไม่คํานึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศ ซึ่งจะทําให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทย สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจําเป็น..
7) สําหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลัง เป็นสิ่งจําเป็น
ขณะที่จํานวนคนในวัยทํางานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุข จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาท” แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับนั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจก เงิน เพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คํานึงถึงวินัย และเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทําลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจําเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทําแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทําเช่นนั้น..
---
หลังจากอ่านบทความนี้จบ ก็ทำให้ลงทุนแมนคิดได้ว่า
มนุษย์เราเกิดมา ถ้าให้แบ่งเป็น 2 ขั้ว
ขั้วที่ 1 คือ กล้าทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์
ขั้วที่ 2 คือ กล้าทำในสิ่งที่ให้สังคมโดยรวมได้ผลประโยชน์
มนุษย์ขั้วที่ 2 นั้น เขามักจะไม่มองถึงแค่ปัจจุบัน แต่จะมองถึง หลักความยั่งยืน ที่ผลรวมทั้งหมดในอนาคตที่จะเกิดขึ้น มันจะได้มากกว่า สิ่งที่จ่ายไปในวันนี้
ส่วนมนุษย์ขั้วแรกนั้น ไม่สนใจหรอก ว่าในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร เพราะเขามักจะคิดว่า เขาอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงวันนั้น ไม่ต้องสนใจอนาคต สิ่งที่มนุษย์ขั้วนี้จะทำก็คือ ทำอะไรก็ได้ให้ผลประโยชน์วนกลับมาที่ตัวเขาให้เร็วที่สุดในปัจจุบัน..
สำหรับแถลงการณ์ในวันนี้ ของนักวิชาการ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย เชื่อว่าพวกเขาได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์เท่าที่มีอยู่ ในการคิด วิเคราะห์ ถึงโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูง ว่ามันจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีในอนาคต
พวกเขาจึงกล้าที่จะเลือกเป็นมนุษย์ขั้วที่ 2 ถึงแม้ว่าคนที่เขากำลังคัดค้านจะมีอำนาจมากในตอนนี้
ที่เขากล้าก็อาจเป็นเพราะว่า เขาคิดว่าจะทำในสิ่งที่เขาเชื่อว่ามันจะดีต่อสังคม และเขาอาจเติบโตมากับความเชื่อในความรับผิดชอบต่อสังคม
ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะดูเหมือนว่ามีโอกาสน้อยมาก ที่รัฐบาลจะเปลี่ยนใจในการแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท แต่ขอให้รู้ไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะกดปุ่มนี้จะเป็นผลการกระทำ ที่ทุกคนในประเทศต้องมารับการกระทำครั้งนี้ไปจนถึงรุ่นลูกหลาน
สุดท้ายนี้ คงต้องถามกลับไปที่คนมีอำนาจในการกดปุ่มอีกครั้ง
ว่าคุณอยากเป็นมนุษย์ขั้วที่ 1 หรือขั้วที่ 2..
“ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจสร้างผลกระทบกับชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
ถ้าวิศวกรสร้างตึกผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน
แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ”
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย..
---
รายชื่อผู้ที่อยู่ในแถลงการณ์ครั้งนี้ทั้งหมด
1) ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
2) ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
3) รศ. ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
4) รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5) ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
6) รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7) ศ. ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8) ศ. ดร.ปราณี ทินกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9) รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
10) ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11) ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
12) รศ. ดร.สุกัญญา นิธังกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13) รศ. ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14) ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15) ผศ. ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
16) ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17) ผศ. ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
18) อาจารย์พงศ์พลิน ยิ่งชนม์เจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
19) ผศ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
20) ผศ. ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
21) ผศ.สุวรรณี วัธนจิตต์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22) อาจารย์พีรพัฒน์ เภรีรัตนสมพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
23) ดร.พิชญา บุญศรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
24) ผศ.สุกําพล จงวิไลเกษม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
25) อาจารย์กุศล เลี้ยวสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
26) ผศ. ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
27) ผศ. ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
28) รศ. ดร.กนกวรรณ จันทร์เจริญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
29) รศ. ดร.โสมสกาว เพชรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
30) ผศ. ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
31) รศ. ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
32) รศ. ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
33) ผศ. ดร.สันติ แสงเลิศไสว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
34) อาจารย์พีรพัฒน์ เภรีรัตนสมพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
35) รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
36) คุณวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
37) ผศ. ดร.จาริต ติงศภัทิย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
38) ดร.จิตริยา ปิ่นทอง อดีตเอกอัครราชทูต
39) คุณภัสสร เวียงเกตุ อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
40) รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
41) ผศ.จรินทร์ พิพัฒนกุล อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
42) ผศ.จินตนา เชิญศิริ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
43) รศ. ดร.ดาว มงคลสมัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
44) รศ. ดร.โกวิทย์ กังสนันท์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์
45) ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ อดีตรองอธิการบดี และอดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
46) รศ. ดร.ภาวดี ทองอุไทย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
47) รศ. ดร.ภิรมย์ จั่นถาวร อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
48) ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
49) ผศ. ดร.วัชรียา โตสงวน อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
50) รศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
51) ผศ. ดร.โอม หุวะนันทน์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
52) รศ.พรพิมล สันติมณีรัตน์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
53) รศ. ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
54) รศ. ดร.ลิลี่ โกศัยยานนท์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
55) รศ. ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
56) รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
57) ผศ. ดร.วิศาล บุปผเวส สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
58) รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
59) ผศ.มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
60) ผศ. ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
61) ผศ. ดร.ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
62) รศ. ดร.สมนึก ทับพันธุ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
63) รศ. ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์ อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
64) อาจารย์สุพรรณ นพสุวรรณชัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
65) ศ. ดร.วุฒิ ศิริวิวัฒน์นานนท์ คณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology Sydney)
66) รศ. ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
67) อ. ดร.จีราภา อินธิแสง โธฌีม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
68) อ. ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
69) รศ.ปิยะลักษณ์ พุทธวงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
70) ผศ. ดร.กรรณิการ์ ดวงเนตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
71) รศ. ดร.กรรณิการ์ ดํารงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
72) ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
73) รศ.ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
74) รศ. ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
75) ผศ. ดร.อัจฉรา ปทุมนากุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
76) ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
77) ดร.ธัญญา ศิริเวทิน อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
78) ศ. นพ.เทพ หิมะทองคํา โรงพยาบาลเทพประทาน
79) คุณเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
80) รศ.จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.