จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สร้างแบรนด์รถยนต์ จนส่งออกได้ ในชั่วอายุคน

จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สร้างแบรนด์รถยนต์ จนส่งออกได้ ในชั่วอายุคน

20 พ.ย. 2023
จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สร้างแบรนด์รถยนต์ จนส่งออกได้ ในชั่วอายุคน /โดย ลงทุนแมน
- เกาหลีใต้ เริ่มผลิตรถยนต์ในปี ค.ศ. 1955 ถัดมาอีกแค่ 20 ปี สามารถส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก
- ญี่ปุ่น เริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศในปี ค.ศ. 1950 และใช้เวลาเพียง 30 ปี แซงหน้าสหรัฐฯ ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน
- จีน เริ่มพัฒนารถยนต์ของตัวเองในปี ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นเพียง 20 ปี สามารถส่งออกรถยนต์แซงหน้าญี่ปุ่นได้สำเร็จ
รู้ไหมว่า เพียงไม่กี่สิบปีเท่านั้น หรือไม่เกินชั่วอายุคน
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตรถยนต์ ทั้งสามประเทศนี้ สามารถส่งออกแบรนด์รถยนต์ของตนเอง ได้เป็นครั้งแรก
แล้วเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาเริ่มกันที่ “เกาหลีใต้”
เกาหลีใต้เริ่มต้นการผลิตรถยนต์ของตัวเอง เมื่อปี ค.ศ. 1955 โดย Choi Mu-seong นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ด้วยการดัดแปลงรถจี๊ปของสหรัฐฯ แบบง่าย ๆ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1962 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกนโยบายกีดกันผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติ และเลือกปกป้องบริษัทรถยนต์ของประเทศตัวเองแทน
ทำให้เกิดบริษัทรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ขึ้นมากมาย
ตัวอย่างเช่น
- Kia Industry ร่วมทุนประกอบรถยนต์กับ Mazda
- Hyundai เรียนรู้เทคนิคการผลิตรถยนต์ ร่วมกับ Ford Motor
โดยบริษัทเกาหลีใต้ ได้สั่งสมความรู้ และเรียนรู้เทคนิคการผลิตและประกอบรถยนต์ให้ได้คุณภาพมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1975 บริษัทเกาหลีใต้ก็สามารถส่งออกรถยนต์ได้เป็นครั้งแรก โดย Hyundai ที่สามารถผลิตรถของตัวเองที่มีชื่อว่า “Pony” ไปยังทวีปอเมริกาใต้ได้
และต่อมาปี ค.ศ. 1984 ก็สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ยังทำให้ Daewoo ธุรกิจผลิตและส่งออกสิ่งทอ หันมาซื้อกิจการรถยนต์จากเกาหลีใต้ Saehan เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ตามมาด้วย Kia ที่สามารถส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1992 ด้วยการร่วมทุนกับ Ford Motor แทน Mazda จากญี่ปุ่น
แต่แล้ววิกฤติเอเชียในปี ค.ศ. 1997 ก็เกิดขึ้น หลายบริษัทรถยนต์ของเกาหลีใต้ได้ล้มละลาย และทำให้ Hyundai เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Kia มาตั้งแต่ตอนนั้น
ในขณะที่ Samsung ก็ใช้จังหวะนี้ เข้ามารุกสู่ธุรกิจผลิตรถยนต์ และปัจจุบันหันมาผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
ถัดมาคือ “ญี่ปุ่น”
รถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มผลิตในประเทศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1917 แต่ยังไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์จากสหรัฐฯ อย่าง Ford และ General Motors ได้เลย
จนมาสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นต้องพึ่งพาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota, Nissan และ Isuzu เพื่อผลิตรถให้กับกองทัพ
ซึ่งด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรญี่ปุ่นที่มีน้อย และยิ่งโดนแบนจากหลายประเทศในช่วงนั้น
ก็ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เริ่มเรียนรู้การผลิตรถแบบประหยัดน้ำมัน และมีต้นทุนต่ำมากที่สุด
ทำให้หลังสงครามโลกจบลง ญี่ปุ่นจึงสามารถผลิตรถแบบนี้ได้ดี ปกป้องไม่ให้รถต่างชาติเข้ามาแข่งขันในประเทศ
และสามารถส่งออกรถยนต์ไปยังต่างประเทศได้เป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1950
ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันในปี ค.ศ. 1973 รถยนต์ญี่ปุ่น
ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็ได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย
เพราะมีจุดเด่นเรื่องประหยัดน้ำมันและราคาถูกนั่นเอง
และในที่สุด ก็สามารถตีตลาดรถยนต์ไปได้ทั่วโลก
นำโดยบริษัท Toyota ที่มีแบรนด์ในมืออย่าง Lexus ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของรถยนต์ญี่ปุ่นไปอย่างสิ้นเชิง
มาจนกระทั่ง ญี่ปุ่นสามารถผลิตและส่งออกรถยนต์
แซงหน้าสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าตลาดรถยนต์มานาน
ได้ในช่วงปี ค.ศ. 1980 หรือราว 30 ปีหลังจาก
ญี่ปุ่นเริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าได้มาก ทำให้สหรัฐฯ บังคับให้ญี่ปุ่นยอมรับข้อตกลง Plaza Accord เพื่อให้เงินเยนแข็งค่า และเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า
พอเป็นแบบนี้ ทำให้รถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวอีกครั้ง
เพื่อให้แข่งขันกันได้ในตลาดโลก ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูก เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย
ทำให้ไทย กลายเป็นผู้ผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญในอาเซียน มาจนถึงทุกวันนี้
และสุดท้ายคือ “จีน”
ในช่วงแรกของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน เริ่มต้นในทศวรรษ 1950
โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมไปถึงเทคโนโลยีการผลิตจากสหภาพโซเวียต แต่ยังปิดไม่ให้รถยนต์จากตะวันตกเข้ามาในประเทศ
ทำให้เกิดบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน 4 แห่ง ได้แก่ SAIC Motor, Dongfeng, FAW และ Changan แต่ก็ผลิตได้น้อย เพราะคุณภาพการผลิตยังไม่สูงมาก
จนในช่วงปี ค.ศ. 1990 รัฐบาลจีนเปิดให้มีการนำเข้ารถยนต์จากตะวันตกเป็นครั้งแรก แต่กลายเป็นว่ารถยนต์จากตะวันตกขายดี เพราะคุณภาพดีกว่ารถยนต์ของจีน
ทำให้รัฐบาลจีนต้องแก้เกม ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 200% แต่ก็ไม่เป็นผล จนต้องแก้เกมใหม่ ด้วยการให้บริษัทรถยนต์จากตะวันตก มาตั้งโรงงานผลิตในจีนได้
แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์จีน..
เงื่อนไขนี้ ทำให้บริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับตะวันตก เกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น
- SAIC, FAW ร่วมทุนกับ Volkswagen Group
- Changan ร่วมทุนกับ Ford, Mazda
ซึ่งทำให้รถยนต์จีนเริ่มมีคุณภาพดีขึ้น จากเทคนิคการผลิตรถคุณภาพจากตะวันตก และเกิดบริษัทรถยนต์จีนอื่น ๆ ตามมา เช่น BYD ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จีนรู้ตัวเองดีว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเอง ไม่มีทางไล่ตามแบรนด์รถยนต์ของสหรัฐฯ เยอรมนี
ญี่ปุ่น หรือชาติอื่น ๆ ได้ทัน
จีนจึงตัดสินใจเบนเข็มการพัฒนารถยนต์ของตัวเอง
ด้วยการสนับสนุน “รถยนต์ไฟฟ้า” ไม่ว่าจะเป็น
การอุดหนุนราคารถไฟฟ้าในประเทศ
รวมไปถึงการสร้างสถานีชาร์จ สนับสนุนให้บริษัทจีน เป็นเจ้าของแหล่งวัตถุดิบของแบตเตอรี่ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน
ทำให้ปัจจุบัน จีนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และสามารถส่งออกรถยนต์ได้แซงหน้าญี่ปุ่น ภายในระยะเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว ถ้าให้สรุปประโยคสั้น ๆ ทั้งสามประเทศ..
- เกาหลีใต้ นักพัฒนารถยนต์แบบล้มลุกคลุกคลาน
- ญี่ปุ่น นักประดิษฐ์รถยนต์ด้วยวัตถุดิบจำกัด
- จีน ยักษ์หลับที่เรียนรู้ไว และมีทางเดินของตัวเอง
ซึ่งแต่ละประเทศก็มีเส้นทางการพัฒนารถยนต์ที่ต่างกัน
และใช้โอกาสที่มีอยู่ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสร้างแบรนด์รถยนต์ของประเทศตัวเอง และสามารถส่งออกไปในหลายประเทศทั่วโลกได้สำเร็จ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://daxueconsulting.com/south-koreas-automobile-industry
-https://www.kiaoflagrange.com/blog/history-of-kia
-https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1059056014000033
-https://en.wikipedia.org/wiki/Automotive_industry_in_South_Korea
-https://en.wikipedia.org/wiki/Automotive_industry_in_Japan
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.