นกแอร์ กำลังฝันร้าย

นกแอร์ กำลังฝันร้าย

17 มี.ค. 2018
นกแอร์ กำลังฝันร้าย / โดย ลงทุนแมน
เราคงรู้อยู่แล้วว่า
ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ สู้กันด้วยราคา
ทุกสงครามราคา ย่อมมีคนเจ็บตัว
และคนที่น่าจะเจ็บที่สุดตอนนี้ก็คือ นกแอร์
เกิดอะไรขึ้นกับนกแอร์? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ธุรกิจสายการบินถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ สายการบินต้นทุนต่ำ หรือ low cost airline ที่คนทั่วไปสามารถเดินทางโดยเครื่องบินในราคาที่บางครั้งสูสีกับรถทัวร์
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน
ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ คงเหมือนกับอยู่ในสงคราม
โดยเฉพาะสายการบินของคนไทยอย่าง นกแอร์ นั้นถึงกับอยู่ในสภาวะที่ถือว่า วิกฤติ
สายการบินนกแอร์ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 ในชื่อ บริษัท สกายเอเชีย จำกัด โดยมีแนวคิดที่จะให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือของ การบินไทย
แต่เนื่องจาก การบินไทย นั้นมีมุมมองว่าวิธีการบริหารธุรกิจของการบินไทยนั้นไม่เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” ในตลาดการบินต้นทุนต่ำเอง
การบินไทยจึงเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนกแอร์ โดยแรกเริ่มนั้นถือหุ้นในสัดส่วนราว 39%
ต่อมาบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น สายการบินนกแอร์ จำกัด ในปี 2556 และเป็นปีแรกที่บริษัทเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้น ซึ่งนกแอร์รายงานรายได้รวมกว่า 11,314 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรกว่า 1 พันล้านบาท
แต่แล้ววิกฤติก็เริ่มก่อตัว
ในสนามแข่งขันของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของไทยนั้น มีผู้เล่นรายหลักๆ ด้วยกัน 3 รายคือ
นกแอร์
ไทยแอร์เอเชีย
และ ไทยไลอ้อนแอร์
เนื่องจากสายการบินต้นทุนต่ำนั้น ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานที่ ค่าโดยสารต้องถูก ใครๆ ก็บินได้ จึงหนีไม่พ้นการแข่งกันตัดราคา
รวมไปถึงการออกโปรโมชั่นต่างๆ นานาเพื่อดึงดูดลูกค้า ที่นำไปสู่สงครามราคาอย่างรุนแรง (Red ocean market)
ซึ่งโดยปกติแล้ว ในตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก บริษัทที่มีต้นทุนต่ำกว่าหรือบริหารต้นทุนได้ดีกว่า ก็จะได้เปรียบในเรื่องของการตั้งราคา
แต่ดูเหมือนว่า นกแอร์ จะมีปัญหา
รายได้และกำไรของนกแอร์
ปี 2558 รายได้ 14,296 ล้านบาท ขาดทุน 726 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 16,938 ล้านบาท ขาดทุน 2,795 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 20,377 ล้านบาท ขาดทุน 1,854 ล้านบาท
ถึงแม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่นกแอร์กลับขาดทุน 3 ปีรวมกันไปแล้ว 5,000 ล้านบาท
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Thai Air Asia ของบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV
ปี 2558 รายได้ 30,464 ล้านบาท กำไร 1,078 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 33,130 ล้านบาท กำไร 1,869 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 37,282 ล้านบาท กำไร 1,477 ล้านบาท
ด้านส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินภายในประเทศ
นกแอร์
ปี 2558 มีส่วนแบ่ง 24.8%
ปี 2559 มีส่วนแบ่ง 20.3%
ปี 2560 มีส่วนแบ่ง 18.8%
Thai Air Asia
ปี 2558 มีส่วนแบ่ง 28.5%
ปี 2559 มีส่วนแบ่ง 29.5%
ปี 2560 มีส่วนแบ่ง 31.2%
นกแอร์ กำลังสูญเสียส่วนแบ่งให้กับคู่แข่งไปเรื่อยๆ
ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า นกแอร์จะสามารถพลิกโฉมกลับมามีที่ยืนท่ามกลางธุรกิจที่ดุเดือดนี้ได้หรือไม่
ที่น่าสนใจคือ ส่วนของผู้ถือหุ้นของนกแอร์นั้นลดลงจาก 3,771 ล้านบาทในปี 2557 เหลือเพียง 238 ล้านบาทในปี 2559 จนต้องเพิ่มทุนครั้งใหม่ในปลายปี 2560 อีกราว 1,700 ล้านบาท
(การเพิ่มทุนคือ การที่เจ้าของหุ้น/นักลงทุน ใส่เงินเข้าไปเพิ่มให้บริษัท)
โดยผู้บริหารได้ให้เหตุผลว่า จะนำไปใช้ในการซ่อมบำรุง เช่าเครื่องบิน รวมถึงจะปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายเพื่อทำให้นกแอร์กลับมามีกำไรอีกครั้ง
ก็คงต้องติดตามว่าการเพิ่มทุนนี้จะเป็นการนำเงินไป “ละลาย” ทิ้งอีกครั้งหรือไม่
เพราะล่าสุด สิ้นปี 2560 นกแอร์มีส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ 1,315 ล้านบาทเท่านั้น
แปลว่าหากขาดทุนในหลักพันล้านเช่นปีก่อนๆ อีก ส่วนของผู้ถือหุ้นก็อาจจะกลับไปติดลบได้ภายใน 1-2 ปี
โลกธุรกิจนั้นไม่ได้สวยงามเสมอไป ธุรกิจใดที่มีกำไรดีแต่ไม่มีกำแพงป้องกันคู่แข่ง ย่อมไม่สามารถหนีพ้นฝันร้ายที่จะเกิดขึ้นได้
ประเด็นที่น่าคิดอยู่ที่ว่า ตอนนี้นกแอร์ได้ตื่นแล้วหรือยัง..
----------------------
<ad> เดินทางด้วยเครื่องบิน เราก็ต้องมีกระเป๋าสัมภาระ
แต่ถ้าสนใจเป็นเจ้าของห้องเก็บของส่วนตัว ใจกลางเมืองทำเลสุด Hot สีลม และ สุขุมวิท 24 ใกล้ BTS ช่องนนทรี และ พร้อมพงศ์ ติดต่อเรา i-Store self-storage สะอาด สะดวก ปลอดภัย เข้าออกได้ตลอด 24 ชม. เริ่มต้น 1,500 บาทต่อเดือน ติดต่อ 0625953393 www.i-store.co.th
FB : i-Store Self Storage
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.