มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่

มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่

4 ธ.ค. 2023
มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่ /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจจะเคยเห็น การชิงไหวชิงพริบกันในตลาดหุ้น เพื่อแย่งกิจการกันจากในซีรีส์ หรือหนังต่างประเทศ
แต่รู้หรือไม่ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในตลาดหุ้นไทยเอง ก็มีเหตุการณ์การชิงไหวชิงพริบกัน ระหว่างบริษัทไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
นั่นคือ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และบริษัท เป๊ปซี่โค เจ้าของน้ำอัดลมแบรนด์ “Pepsi” จากสหรัฐอเมริกา
ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างตระกูลบุลสุข ถือหุ้นในบริษัทเพียง 7% เท่านั้น ขณะที่คู่ขัดแย้งอย่างเป๊ปซี่โค ถือหุ้นมากถึง 41.5%
แล้วตระกูลบุลสุข ใช้กลยุทธ์อะไรถึงสามารถทำให้เสริมสุข ยังเป็นบริษัทของคนไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
แต่เดิมนั้นเสริมสุขและเป๊ปซี่ เป็นพันธมิตรกัน ซึ่งเสริมสุขเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่ในไทย แต่เพียงผู้เดียว
สิ่งที่เสริมสุขต้องจ่ายก็คือ “ค่าหัวเชื้อ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ต้องรับมาจากเป๊ปซี่เท่านั้น
แต่ทว่าในช่วงที่จับมือกัน ราคาค่าหัวเชื้อที่เสริมสุขต้องจ่าย มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ทางบริษัท เป๊ปซี่โค ยังไม่อนุญาตให้เสริมสุขขึ้นราคาขายเป๊ปซี่อีกด้วย
ทำให้ในปี 2553 ทั้ง 2 บริษัทมาถึงจุดแตกหักกัน เพราะเสริมสุขมีอัตรากำไรสุทธิเพียง 2% หรือก็คือขายของ 100 บาท ได้กำไร 2 บาท
ซึ่งถือว่าน้อยมาก บวกกับหากเสริมสุขไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ บริษัทอาจจะถึงขั้นขาดทุน
เรื่องนี้หากเรามองในมุมของเสริมสุข ก็คงรู้สึกว่าไม่แฟร์เท่าไรนัก เพราะในเวลานั้นไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เป๊ปซี่ สามารถเอาชนะโค้กได้
โดยปัจจัยความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของเสริมสุข ที่มีเครือข่ายร้านค้าอยู่ในมือจำนวนมาก รวมถึงระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คณะกรรมการของบริษัท เสริมสุข จึงมีมติให้ฝ่ายบริหารทบทวนเงื่อนไขสัญญา ที่ทำไว้กับทางเป๊ปซี่
เมื่อฝ่ายเป๊ปซี่รู้ข่าว จึงรีบจัดตั้ง บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมา เพื่อเสนอซื้อหุ้นเสริมสุขในตลาดหุ้น
โดยบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส เสนอซื้อหุ้นเสริมสุข จากนักลงทุนในตลาดที่ราคา 29 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาในตลาด ณ ขณะนั้น ราว 40%
แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ได้ออกมาประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นเสริมสุข อยู่ที่ 41 บาท
ในเวลานั้น ผู้ที่กุมชะตาชีวิตของเสริมสุข คือผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นรวมกันถึง 58%
พอนักลงทุนรายย่อยมองว่า ราคาที่ทางเป๊ปซี่เสนอมา ต่ำกว่าราคาที่ถูกประเมิน จึงไม่ค่อยมีใครยอมขายหุ้นให้กลุ่มเป๊ปซี่
บทสรุปก็คือ กลุ่มเป๊ปซี่ได้หุ้นมาเพียง 22.7 ล้านหุ้น คิดเป็นเพียง 8% เท่านั้น
ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขที่ประกาศไว้ว่าต้องได้หุ้นไม่น้อยกว่า 25.14 ล้านหุ้น กลุ่มเป๊ปซี่จึงต้องยกเลิกการเสนอซื้อหุ้นในครั้งนี้ไป
นอกจากกลุ่มเป๊ปซี่ จะยกเลิกการซื้อหุ้นออกไปแล้ว ทางกลุ่มตระกูลบุลสุขเอง ก็มีหุ้นในมือเพิ่มขึ้นอีก 12%
จากการรับซื้อหุ้นที่ราคา 29 บาท จากนักลงทุนรายใหญ่ อันดับ 3 ของบริษัท ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ตำนานนักลงทุนหมื่นล้านในตลาดหุ้นไทย นั่นเอง
ว่ากันว่าตระกูลโอสถานุเคราะห์ และตระกูลบุลสุข รู้จักกันมานานแล้ว
และการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ก็น่าจะทำเพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมบริษัท ของตระกูลบุลสุขให้ใกล้เคียงกับเป๊ปซี่
การขายหุ้นของคุณนิติ ถือว่าต่ำกว่าราคาตลาดไปพอสมควร เพราะตั้งแต่มีข่าวการแย่งซื้อหุ้นเสริมสุข ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด จาก 20 บาท ขึ้นไปสูงสุดที่ 35 บาท
ซึ่งนอกจากสงครามในตลาดหุ้นแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีคดีฟ้องร้องระหว่างกันอีกด้วย
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป แต่แล้วก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่ามีมือที่ 3 จะเข้ามาแย่งเก็บหุ้นเสริมสุขด้วย
นั่นคือ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ที่อยู่ดี ๆ ก็ประกาศคำเสนอซื้อหุ้นของเสริมสุข ที่ราคาหุ้นละ 42 บาท รวมมูลค่าเสนอซื้ออยู่ที่ 11,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ บริษัทนี้เพิ่งเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่จะเสนอซื้อหุ้น รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ทำให้เกิดเสียงลือกันไปต่าง ๆ นานาว่า บริษัทนี้เป็นนอมินีของฝ่ายไหนกันแน่
เสริมสุขออกมาปฏิเสธว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ ไม่กี่วันต่อมาทางกลุ่มเป๊ปซี่ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ก็มีผู้เสนอขายหุ้นให้ บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ คิดเป็นสัดส่วน 32.6% ทำให้บริษัทลึกลับแห่งนี้ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 2 ทันที
และที่น่าแปลกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ผู้ที่เสนอขายหุ้นให้บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ก็คือ คุณสมชาย บุลสุข และลูกชายของเขา ชนิดที่ไม่เหลือหุ้นในมืออยู่เลยแม้แต่หุ้นเดียว
ตระกูลบุลสุข ออกจากเกมแย่งหุ้นนี้ไป พร้อมกับเงินจากการขายหุ้นในดีลนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งดูเหมือนว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดี กับคุณสมชาย บุลสุข เป็นอย่างมาก
เพราะคุณสมชายยังคงได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการของเสริมสุขต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็ตาม
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ น่าจะเป็นพันธมิตรของคุณสมชาย
ซึ่งคุณสมชาย อาจจะตั้งใจเชิญกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่เป็นพันธมิตรของตัวเอง มาคานอำนาจกับกลุ่มเป๊ปซี่ ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก โดยมีเงื่อนไขว่าให้คุณสมชาย อยู่ในตำแหน่งบริหารต่อไป
ด้วยความที่เสริมสุข มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ดีอยู่แล้ว ทำให้คุณสมชายหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ในระหว่างนี้ ความขัดแย้งเรื่องสัญญาระหว่างเสริมสุข กับเป๊ปซี่ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
เป๊ปซี่ยังคอยเก็บหุ้นของเสริมสุขอย่างเงียบ ๆ โดยพยายามใช้บริษัทนอมินีชื่อ บริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ และบริษัท ซันโทรี่ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องดื่มญี่ปุ่น เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เสริมสุข
ในเวลานั้น เมื่อรวมหุ้นที่ถือโดยบริษัทในกลุ่มเป๊ปซี่ทั้งหมด จะมีสิทธิ์ออกเสียงเกิน 50% แล้ว
และพอก่อนถึงวันเสนอชื่อกรรมการบริษัทชุดใหม่ ให้ผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณา ผู้ถือหุ้นรายย่อยคนหนึ่งของเสริมสุข ฟ้องศาลให้มีการตรวจสอบว่า บริษัท ซันโทรี่ และบริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ เป็นบริษัทนอมินีของกลุ่มเป๊ปซี่ ที่ต้องการครอบงำกิจการอย่างผิดกฎหมายหรือไม่
ศาลจึงมีคำสั่งระงับสิทธิ์การเข้าร่วมประชุม ของบริษัททั้ง 2 แห่ง และทำให้กลุ่มเป๊ปซี่พ่ายแพ้ในการเสนอชื่อกรรมการบริษัทชุดใหม่ของเสริมสุข
เมื่อเสริมสุขสามารถรักษาอำนาจ ในคณะกรรมการบริษัทของตัวเองไว้ได้แล้ว อำนาจต่อรองก็กลับมาอยู่ที่ฝ่ายเสริมสุขอีกครั้ง
คราวนี้ดูเหมือนว่า เป๊ปซี่เริ่มยอมลดค่าหัวเชื้อลงแล้ว พร้อมกับยื่นข้อเสนอ ขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 32.6%
แต่ถึงตอนนี้ราคาหุ้นเสริมสุข ก็พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 50 บาทแล้ว จากราคาที่กลุ่มเป๊ปซี่เสนอซื้อตอนแรกที่ 29 บาท
พูดง่าย ๆ ก็คือ ตอนนี้เป๊ปซี่ต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นแพงขึ้นถึง 72%
ในตอนนั้น ทุกคนคิดว่าเรื่องคงจบลงตรงที่ว่า เป๊ปซี่ได้เสริมสุขไปครอบครอง และรักษาแชมป์ธุรกิจน้ำอัดลมในไทยต่อไป
แต่พอใกล้ถึงวันที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงเรื่องราคาซื้อขายหุ้นกัน กลับมีบุคคลที่ 4 มาชิงเสนอราคาตัดหน้ากลุ่มเป๊ปซี่
บุคคลที่ 4 ในเรื่องนี้ก็คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด บริษัทในเครือของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเสนอราคาซื้ออยู่ที่ 58 บาทต่อหุ้น
และในที่สุด กลุ่มเป๊ปซี่ก็ยอมยกธงขาว ยอมแพ้กับสงครามในการแย่งชิงหุ้นเสริมสุข พร้อมกับทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่มไทยเบฟ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท
เรื่องทั้งหมดมาเฉลยตรงที่ว่า บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ เป็นผู้ชักชวนให้กลุ่มไทยเบฟ เข้ามาเสนอราคาซื้อหุ้นจากกลุ่มเป๊ปซี่
โดยกลุ่มไทยเบฟเอง ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเสริมสุขมานานแล้ว เพราะเสริมสุขเป็นผู้กระจายสินค้าของโออิชิ ให้กลุ่มไทยเบฟมาโดยตลอด
ปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟ ก็กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 1 ของเสริมสุข ผ่านบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ในสัดส่วน 64%
และคุณสมชาย บุลสุข ก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทของเสริมสุข ซึ่งเป็นบริษัทที่ตระกูลของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง แม้วันนี้มันจะถูกเปลี่ยนมือไปให้กลุ่มไทยเบฟครอบครองแล้วก็ตาม
ส่วนตลาดน้ำอัดลมในไทย ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะจากเดิมที่เป๊ปซี่ครองส่วนแบ่งตลาดได้ 60% อันดับ 2 คือ โคคา-โคล่า ที่มีส่วนแบ่งตลาด 40%
มาวันนี้ โคคา-โคล่า กลายเป็นแชมป์ แทนที่เป๊ปซี่ ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 51% อันดับ 2 คือ เป๊ปซี่ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 37%
ส่วนเสริมสุขก็พัฒนาน้ำอัดลมเป็นของตัวเองขึ้นมาคือ เอส โคล่า ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 8%
กรณีความขัดแย้งระหว่างเสริมสุขกับเป๊ปซี่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีการเดินเกมในตลาดหุ้น และการชิงไหวชิงพริบกันทางกฎหมายแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือคำว่า พันธมิตร
ในฝั่งเป๊ปซี่โค ถ้าไม่นับบริษัทนอมินีแล้ว ก็ต้องสู้ศึกแบบโดดเดี่ยว แต่ในฝั่งเสริมสุข หรือก็คือตระกูลบุลสุข กลับมีพันธมิตรมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น
- ตระกูลโอสถานุเคราะห์
- บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด
- กลุ่มไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ ที่สุดท้ายได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และนี่ก็คือบทสรุปของ มหากาพย์แย่งหุ้นเสริมสุข สงครามระหว่างบริษัทไทย กับเป๊ปซี่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.posttoday.com/business/23738
-https://www.posttoday.com/business/34298
-https://www.posttoday.com/finance/stock/33567
-https://www.brandcase.co/41607
-https://ibnida.wordpress.com/2011/04/06/เสริมสุขมาวินศึกชิง-ssc/
-https://www.posttoday.com/business/110044#:~:text=ไทยเบฟฯ%20เขี่ย,ก์ขยายอาณาจักรเครื่องดื่ม
-https://www.posttoday.com/business/84235
-https://viratts.com/2011/05/20/sermsuk1/
-https://board.thaivi.org/viewtopic.php?t=53540&start=960
-https://positioningmag.com/1424257
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.