Kikkoman ซีอิ๊ว 420 ปี “ซอฟต์พาวเวอร์” ประเทศญี่ปุ่น

Kikkoman ซีอิ๊ว 420 ปี “ซอฟต์พาวเวอร์” ประเทศญี่ปุ่น

7 ธ.ค. 2023
Kikkoman ซีอิ๊ว 420 ปี “ซอฟต์พาวเวอร์” ประเทศญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า Kikkoman แบรนด์ซอสโชยุ ที่เราเจอตามร้านอาหารญี่ปุ่น ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อราว ๆ 420 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันบริษัทเจ้าของแบรนด์นี้
มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 440,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ถ้าให้เดากันเล่น ๆ หลายคนน่าจะคิดว่า รายได้หลักของ Kikkoman น่าจะมาจากประเทศบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่น
แต่ความจริงแล้ว รายได้ในญี่ปุ่นเป็นเพียง 1 ใน 4 ของรายได้รวมเท่านั้น ที่เหลือมาจากต่างประเทศทั้งหมด
แล้วเรื่องราวของซีอิ๊วญี่ปุ่น 420 ปี เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว ต้องบอกว่า ซอสถั่วเหลือง ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เกิดขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อน ที่ประเทศจีน
จากนั้นซอสถั่วเหลือง ก็ได้เข้ามาที่ประเทศญี่ปุ่น และมีการปรับสูตรให้มีเอกลักษณ์ จนกลายเป็น “ซอสโชยุ” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้คนญี่ปุ่นจะใช้ซอสโชยุมานาน แต่ยังไม่ได้มีการผลิตออกมาจำนวนมาก เพราะยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่เพียงพอ
จนกระทั่งเมื่อประมาณช่วง ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่ “ซอสโชยุ” ในญี่ปุ่นเริ่มแพร่หลายมากขึ้น
ตระกูล Mogi และ Takanashi จึงมองเห็นโอกาสเติบโตของซอสโชยุ จึงตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตซอสร่วมกันที่เมืองโนดะ ในปี พ.ศ. 2146
ซึ่งสาเหตุที่เลือกเมืองนี้ ก็เพราะว่าอยู่ไม่ไกลจากเมืองเอโดะ หรือโตเกียวในปัจจุบัน ที่มีคนจากพื้นที่ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เข้ามาอาศัยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้แหล่งปลูกถั่วเหลืองและข้าวสาลี วัตถุดิบสำคัญในการผลิตซอส และอยู่ใกล้ทะเล ทำให้สะดวกต่อการขนส่งอีกด้วย
ต่อมาเมื่อเมืองโนดะ ได้กลายเป็นแหล่งผลิตโชยุที่สำคัญของประเทศ
ทำให้ตระกูล Mogi และ Takanashi ไปชวนอีก 6 ตระกูลให้มาร่วมธุรกิจด้วยกัน
หลังจากรวบรวมได้ครบ ทั้ง 8 ตระกูล ก็ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมกัน
โดยในตอนแรกใช้ชื่อว่า Noda Shoyu Corporation เพื่อผลิตซอสถั่วเหลืองส่งขาย ทั้งในประเทศและนอกประเทศญี่ปุ่น
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Kikkoman Corporation ตามชื่อแบรนด์ “Kikkoman”
เรื่องราวทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศ หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้เศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
แต่ยอดขาย Kikkoman ของบริษัทกลับเติบโตน้อยกว่ามาก
ทางออกของบริษัทในตอนนั้น จึงมีอยู่ 2 ทาง
นั่นคือ
1. ต้องมีสินค้าอื่น นอกจากซอสถั่วเหลือง
2. เน้นขายในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ในข้อแรกไม่ได้เป็นปัญหามากนัก ทำให้ไม่นาน Kikkoman ก็สามารถตั้งบริษัทย่อย เพื่อผลิตสินค้าอื่น อย่างซอสมะเขือเทศและไวน์ ได้สำเร็จ
แต่สำหรับข้อ 2 เหมือนจะยากกว่า เพราะที่ผ่านมา รายได้หลักของบริษัทมาจากในประเทศ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
ก็มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนอเมริกัน ที่เดินทางเข้ามายังญี่ปุ่นมากขึ้น
ทำให้ซอสโชยุของญี่ปุ่น เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
Kikkoman จึงตัดสินใจเลือกตลาดสหรัฐฯ เป็นที่แรก เพื่อเน้นส่งออกซอสไปตลาดต่างประเทศ และตั้งบริษัทนำเข้าซอสที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2500
โดยกลยุทธ์ที่ใช้ตีตลาดในตอนนั้น คือ เน้นโปรโมตในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ว่า ซอสของบริษัทใช้ปรุงรสอาหารได้ทุกอย่าง
ผลตอบรับก็ออกมาดี ทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่กลับไม่ได้กำไรมากเท่าที่ควร
เพราะซอสถูกผลิตในญี่ปุ่น ก่อนส่งไปขายยังสหรัฐฯ ทำให้บริษัทเสียต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก
บริษัทจึงแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่ง ด้วยการตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ แทน
ซึ่งสหรัฐฯ มีแหล่งวัตถุดิบอย่างข้าวสาลีและถั่วเหลืองมากมาย ไม่ต่างอะไรกับโรงงานที่เมืองโนดะของญี่ปุ่น
ทำให้หลังตั้งโรงงานสำเร็จ ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มทำกำไร
หลังจากเจาะตลาดสหรัฐฯ สำเร็จแล้ว Kikkoman ก็มองเป้าหมายตลาดยุโรป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
แต่ปัญหาก็คือ คนยุโรปมีวัฒนธรรมอาหารของตัวเอง ไม่อยากรับเอาอาหารชาติอื่นเข้ามา บริษัทจึงต้องหาวิธีรุกตลาดที่แตกต่างจากสหรัฐฯ
แทนที่จะเน้นขายให้ลูกค้าโดยตรง บริษัทเน้นการขายให้กับร้านอาหาร และตั้งร้านอาหารชื่อว่า DAITOKAI ที่ต้องใช้ซอสโชยุของตัวเอง
เพื่อให้คนยุโรปคุ้นเคยกับซอสโชยุ พร้อมชูจุดเด่นการเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ทำมาจากถั่วเหลือง
ด้วยกลยุทธ์นี้ ทำให้ Kikkoman เจาะตลาดยุโรปได้สำเร็จ
ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ บริษัทยังขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียและอเมริกาใต้
ด้วยกลยุทธ์คล้าย ๆ กัน คือ การเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละประเทศก่อน เป็นอันดับแรก
จนวันนี้ Kikkoman กลายเป็น บริษัทผลิตซอสถั่วเหลือง ที่มีกำลังการผลิตมากสุดในโลก
รวมทั้งยังมีสินค้าอื่น นอกจากซอสถั่วเหลืองอีกมากมาย
เราลองมาดูรายได้ 3 ปีย้อนหลัง
(บริษัทปิดงบ 12 เดือน ตอนเดือนมีนาคม)
- ปี 2564
รายได้ 104,755 ล้านบาท
กำไร 7,428 ล้านบาท
- ปี 2565
รายได้ 123,119 ล้านบาท
กำไร 9,274 ล้านบาท
- ปี 2566
รายได้ 147,545 ล้านบาท
กำไร 10,425 ล้านบาท
รายได้เติบโตเฉลี่ย 19% ต่อปี
กำไรเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ในญี่ปุ่นเพียง 24% แต่มีรายได้จากต่างประเทศมากถึง 76% เลยทีเดียว
โดยถ้าเราเจาะเข้ามาดูแค่ในส่วนของรายได้จากต่างประเทศ จะแบ่งออกเป็น
- 72% มาจากอเมริกาเหนือ
- 15% มาจากเอเชีย โอเชียเนีย
- 11% มาจากยุโรป
- 2% มาจากประเทศอื่น ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ชัดเลยว่า
จุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท
คือการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลมายังยอดขายโดยตรง
แต่ยังส่งผลทางอ้อม ให้แบรนด์ Kikkoman กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
จนอาจพูดได้ว่า Kikkoman ทำให้ซอสโชยุ กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่น
ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะใช้แบรนด์นี้ โดยไม่รู้ตัว
ไปเป็นที่เรียบร้อย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.kikkoman.com/en/culture/soysaucemuseum/history/
-https://www.kikkoman.com/en/corporate
-https://finance.yahoo.com/quote/KIKOF
-https://japan-forward.com/an-interview-with-kikkoman-how-the-japanese-soy-sauce-became-a-global-seasoning/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Soy_sauce
-https://www.kikkoman.com/en/finance/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.