บราซิล ประเทศผลิตหมู ถูกสุดในโลก  ถูกกว่าไทย 2 เท่า

บราซิล ประเทศผลิตหมู ถูกสุดในโลก ถูกกว่าไทย 2 เท่า

20 ธ.ค. 2023
บราซิล ประเทศผลิตหมู ถูกสุดในโลก
ถูกกว่าไทย 2 เท่า /โดย ลงทุนแมน
ถ้าเรากำเงิน 100 บาท ไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาดสดในไทย เงินเท่านี้อาจจะได้เนื้อหมูไม่ถึง 1 กิโลกรัม
ในทางกลับกัน หากเราไปซื้อเนื้อหมูที่บราซิล มูลค่าเท่า ๆ กัน เราจะได้เนื้อหมูกลับบ้านอย่างน้อย 2 กิโลกรัม และอาจจะได้เงินทอนกลับมาด้วย..
ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า บราซิล มีต้นทุนการผลิตหมู เพียง 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำที่สุดในโลก
ในขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตหมู เฉลี่ยสูงถึง 90 บาทต่อกิโลกรัม
แล้วทำไม บราซิลถึงมีต้นทุนการผลิตหมู ต่ำขนาดนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
บราซิล เรียกได้ว่าเป็นดินแดนสวรรค์ ของการทำเกษตรกรรม
เพราะมีอากาศเหมาะสำหรับการเพาะปลูก และมีต้นน้ำ ที่อุดมสมบูรณ์ อย่างป่าแอมะซอน
และด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ ถึง 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศจีนแค่นิดเดียว จึงทำให้บราซิลขึ้นมาเป็นผู้นำการเกษตรของโลก ได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะการเป็นแหล่งปลูกธัญพืชสำคัญของโลก เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี อ้อย ถั่วเขียว ข้าวฟ่าง ซึ่งบราซิลเป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลก
เรื่องนี้ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของบราซิล โดยเฉพาะเนื้อหมู ที่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนต่ำสุดในโลก
เนื่องจากต้นทุนการผลิตเนื้อหมู กว่า 60 ถึง 80%
มาจากต้นทุนอาหารสัตว์ ซึ่งต้องใช้ข้าวโพดและถั่วเหลือง เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
ทำให้บราซิลที่มีแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศอยู่แล้ว จึงมีต้นทุนการผลิตหมูต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ
นอกจากความได้เปรียบเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกข้อ ที่ทำให้เนื้อหมูของบราซิล มีราคาถูก คือบราซิลพัฒนาอุตสาหกรรมหมูของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมเกษตรของบราซิล เป็นเกษตรทันสมัยมากขึ้น
ซึ่งสำหรับการเลี้ยงหมู ก็ได้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพหมู และให้เงินอุดหนุนเกษตรกร เพื่อวางระบบการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ที่น่าสนใจคือ มีการวางโซนนิงผลิตหมูให้เชื่อมโยงกัน โดยพื้นที่ทางใต้ซึ่งใกล้ท่าเรือหลัก ถูกจัดให้เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูป
ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่เป็นแหล่งอาหาร และมีภูมิอากาศที่เหมาะสม ถูกจัดให้เป็นที่ตั้งของฟาร์มหมู ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
และยังมีการตั้งหน่วยงานวิจัยชื่อว่า EMBRAPA เพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ธัญพืชที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
พอเป็นแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้บราซิลควบคุมต้นทุนการผลิตหมูได้ดี
โดยมีต้นทุนเพียง 40 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งได้เป็น
- ค่าอาหารสัตว์ 32 บาท
- ค่าจ้างแรงงาน 0.8 บาท
- อีก 7.2 บาท เป็นต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าโรงเรือน ค่าลูกหมู ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ายาและวัคซีน
อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า บราซิล มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอาหารสัตว์สูง ทำให้สามารถผลิตหมูออกมาได้เป็นจำนวนมาก และกดต้นทุนให้ต่ำสุดในโลกได้
ตัดภาพมาที่ไทย ที่ต้องนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพด เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้เรามีต้นทุนการผลิตหมูสูงถึง 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบ่งเป็น ค่าอาหารสัตว์มากถึง 67% หรือคิดเป็น 60 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว
และยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าลูกหมู ซึ่งสูงถึง 20% ค่ายาและวัคซีน ค่าโรงเรือน ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 28 บาทต่อกิโลกรัม
ต้นทุนที่สูง ส่งผลให้ราคาหมูในไทย ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท ในขณะที่ราคาหมูในบราซิล ตกเพียง 47 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น
และทำให้เงิน 100 บาท คนบราซิล ซื้อเนื้อหมูได้ 2 กิโลกรัม แต่คนไทยซื้อเนื้อหมูได้ไม่ถึง 1 กิโลกรัม นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.gosmartfarmer.com/news/27735
-https://www.swinethailand.com
-https://www.pig333.com/articles/pig-production-in-brazil-production-and-consumption
-https://en.wikipedia.org/wiki/Agriculture_in_Brazil
-https://www.agweb.com/opinion/story-brazilian-agriculture
-https://agricultureandfoodsecurity.biomedcentral.com/articles/10.1186/2048-7010-1-4
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.