“2 บัญชี” ท่าประจำเลี่ยงภาษี ธุรกิจไทย

“2 บัญชี” ท่าประจำเลี่ยงภาษี ธุรกิจไทย

3 ม.ค. 2024
“2 บัญชี” ท่าประจำเลี่ยงภาษี ธุรกิจไทย /โดย ลงทุนแมน
ในการดำเนินธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ทุกบริษัทมีเป้าหมายเหมือนกันก็คือ สร้างกำไรให้ได้มากที่สุด
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างผลตอบแทน ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการ
แต่กำไรที่มากขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่าย “ภาษี” เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
บางบริษัท เลือกที่จะใช้วิธีการบางอย่าง เพื่อจ่ายภาษีให้น้อยลง หรือหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีสิ่งที่เรียกว่า “ระบบบัญชี 2 เล่ม” ช่วยในการบริหารจัดการ
แล้วระบบบัญชี 2 เล่ม คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ระบบบัญชี 2 เล่ม ความหมายตรงตัวเลยก็คือ การที่กิจการหนึ่ง ๆ มีการทำบัญชีขึ้นมา 2 เล่ม
- เล่มแรก สำหรับส่งหน่วยงานรัฐ และเผยแพร่ให้นักลงทุน
- เล่มที่ 2 สำหรับใช้เฉพาะภายในบริษัท
แล้วทำไมบริษัท ถึงต้องจัดทำบัญชี 2 เล่ม ?
คำตอบก็คือ เพื่อแยกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกิจการ กับสิ่งที่บริษัท อยากให้โลกรู้ ออกจากกัน..
โดยบัญชีเล่มแรกนั้น มีแรงจูงใจในการทำให้ตัวเลขกำไรออกมาน้อย ๆ เพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อยลง
ในขณะที่เล่มที่ 2 จะบันทึกบัญชีแบบตรงไปตรงมา เพื่อดูผลประกอบการที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วนำไปใช้สำหรับบริหารกิจการ
ต้องบอกก่อนว่า ตามมาตรฐานการทำบัญชี ระบบบัญชี 2 เล่มนั้น ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากวิธีการบริหารจัดการ ของบางกิจการเท่านั้น
ในแต่ละไตรมาสหรือแต่ละปี บริษัทต่าง ๆ ก็จะต้องมีการจัดทำบัญชี เพื่อรวบรวมข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ของกิจการ ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็น งบการเงิน
หลังจากได้งบการเงินแล้ว บริษัทก็จะนำส่งไปยังหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
หรือถ้าหากเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องนำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึง ก.ล.ต. ด้วย
ซึ่งภาษีที่บริษัทจะต้องจ่าย ก็จะถูกคิดมาจากงบการเงินนี้ แต่อาจจะมีการปรับปรุงรายการทางบัญชีบางรายการ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ในการคำนวณภาษี
โดยทั่วไป ถ้าหากบริษัทมีกำไรมาก รายจ่ายภาษีก็มักจะสูงเป็นเงาตามตัว หากไม่มีการสนับสนุนหรือการลดหย่อนพิเศษจากภาครัฐ
ในบางบริษัท จึงมีการใช้ช่องโหว่ทางบัญชีหรือทางกฎหมายมาช่วย เพื่อให้บริษัทเสียภาษีลดลง หรืออาจถึงขั้นหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีเลย แม้จะมีกำไรที่สูงมากก็ตาม
ซึ่งแนวทางหลัก ๆ ที่บริษัทนิยมใช้กัน เพื่อลดการจ่ายภาษี ก็คือ
- บันทึก “รายได้” ให้ต่ำที่สุด
- สร้าง “ค่าใช้จ่าย” ให้มากที่สุด
เพื่อทำให้ตัวเลขกำไร ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี ลดลง
ในส่วนของฝั่งรายได้ บางกิจการ อาจพยายามหาทางหลบเลี่ยงการบันทึกรายได้เข้ามา หรือบันทึกรายได้ให้น้อยกว่าความเป็นจริง
เช่น เวลาขายของได้ ก็ให้ลูกค้าจ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคลแทน โดยไม่ผ่านบัญชีของกิจการ
ซึ่งในบัญชีเล่มแรก ที่นำส่งหน่วยงานรัฐ ก็อาจไม่มีการบันทึกตัวเลขรายได้ในส่วนนี้
แต่จะบันทึกในบัญชีเล่มที่ 2 เพื่อให้เจ้าของกิจการ รู้รายได้ที่เข้ามาจริง ๆ
หรือเคยไหม เวลาเราไปซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้า แล้วมักถูกถามว่า “จะเปิดบิล VAT ไหม ?”
เพราะร้านจะคิดราคาสินค้าหรือบริการ ระหว่างเอา VAT กับไม่เอา VAT แตกต่างกัน
ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าหากลูกค้าเลือกที่จะขอเปิดบิล VAT หรือใบกำกับภาษี ราคาของสินค้าหรือบริการนั้น ก็มักจะแพงกว่าการเลือกไม่ขอเปิดบิล VAT
เหตุผลสำคัญของวิธีนี้ก็คือ หากลูกค้าไม่เปิดบิล VAT กับทางร้านค้า ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า บริษัทจะไม่นำรายได้ที่เกิดขึ้น เข้าไปบันทึกไว้ในบัญชี
ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไร ที่นำมาคำนวณภาษี ลดน้อยลงไปด้วย นั่นเอง
อีกทั้งร้านค้า อาจใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ เช่น
- รับค่าสินค้าเป็นเงินสด
- ให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล หรือบุคคลที่สาม
เพื่อให้การหลีกเลี่ยงการบันทึกรายได้ตรวจสอบได้ยากขึ้น
ซึ่งกิจการที่จะใช้วิธีเหล่านี้ มักเป็นกิจการขนาดเล็กอย่าง SME หรือเป็นระดับห้างหุ้นส่วนจำกัด
พูดถึงฝั่งของรายได้กันแล้ว
ทีนี้ มาดูมุมการสร้างรายจ่ายให้มากที่สุดกันบ้าง..
โดยบริษัท อาจใช้วิธีสั่งสินค้าหรือบริการ จากบริษัทอื่น ๆ ที่สูงกว่าราคาในตลาด
หรือแม้แต่การจ้างพนักงานแบบปลอม ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ส่วนของต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งก็จะส่งผลให้กำไรของบริษัท ลดน้อยลง และเสียภาษีต่ำลง
โดยบริษัทที่เป็นผู้ส่งสินค้าหรือบริการ รวมถึงพนักงานปลอมเหล่านี้ ก็มักจะเป็นคนใกล้ชิดของผู้บริหารนั่นเอง
เช่นเดียวกับกรณีของธุรกิจขนาดเล็ก ที่อาจจะมีการใช้กลเม็ดต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเดือนให้ญาติพี่น้อง โดยที่ไม่ได้ทำงานจริง
หรือเอาเงินไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ อย่างการที่เจ้าของกิจการ ซื้อของใช้ส่วนตัว แต่บันทึกเป็นรายจ่ายของกิจการ เป็นต้น
นอกจากการหาทางทำให้ “รายได้ต่ำ” และ “ค่าใช้จ่ายสูง” กว่าความเป็นจริงแล้ว
อีกแนวทางของผู้ประกอบการ ในการลดภาษี ก็คือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย ในการจัดสรรกำไร
ตัวอย่างเช่น
- หากบริษัท A มีผลกำไร 10 ล้านบาท ในการคำนวณภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันคิดอยู่ที่ 20% เท่ากับว่า บริษัท A จะต้องเสียภาษีสูงถึง 2 ล้านบาท
- หากผู้บริหารบริษัท A เลือกที่จะตั้งธุรกิจ SME ขึ้นมา 3 แห่ง แล้วสั่งสินค้าหรือบริการจาก SME ที่ตั้งขึ้นมาใหม่
ทำให้บริษัท A มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มีกำไรลดลง
ส่วน SME (ของบริษัท A) ก็มีรายได้และกำไร เพิ่มเข้ามาแทน
หรือก็คือ เป็นการถ่ายโอนกำไรจากบริษัท A กระจายไปตาม SME ที่ตั้งขึ้นใหม่
โดยพยายามจัดสรรให้ SME แต่ละแห่ง มีกำไรไม่เกิน 3 ล้านบาท
เพราะตามกฎหมายธุรกิจ SME จะถูกคิดภาษีในอัตรา 15% หากมีกำไรไม่เกิน 3 ล้านบาท เท่ากับว่ากำไรก้อนที่ควรจะถูกคิดภาษี 20% ของบริษัท A จะไปถูกคิดภาษี 15% แทน ในนามของบริษัท SME ที่ตั้งขึ้นมา
ในขณะที่บริษัท A ก็จะจ่ายภาษีลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจไม่ต้องจ่ายเลย หากมีผลประกอบการขาดทุน
โดยบริษัท SME ที่ตั้งมา อาจตอบแทนผู้บริหารหรือบริษัท A ด้วยวิธีอื่น ๆ แทน ซึ่งก็สรุปได้ว่า บริษัท A จะได้ผลประโยชน์อยู่ดี แถมยังเสียภาษีลดลง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของแนวทางการทำบัญชี เพื่อหลบเลี่ยงภาษีเท่านั้น
ในความเป็นจริง บางบริษัทอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการหลบเลี่ยงมากมาย เช่น การทำธุรกรรมผ่านดินแดนปลอดภาษี หรือ Tax Haven ซึ่งมักเป็นท่าประจำที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเลือกใช้
มาถึงตรงนี้ ทุกคนก็คงจะนึกออกแล้วว่า ในกิจการที่ทำระบบบัญชี 2 เล่มนั้น
มีเป้าหมายหลักคือ เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถ แยกการทำบัญชีได้ชัดเจน
บัญชีเล่มแรก ที่ถูกปรับแต่ง เพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษี และนำส่งหน่วยงานรัฐ เป็นเล่มที่รายงานผลกำไรของบริษัท ต่ำกว่าความเป็นจริง
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ และอาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายด้วย..
ในขณะที่ข้อมูลจริง ๆ ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรที่แท้จริง จะถูกบันทึกลงในบัญชีอีกเล่ม สำหรับใช้ภายในบริษัท ซึ่งก็มักจะจำกัดการเข้าถึงเฉพาะผู้บริหารระดับสูง หรือพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ว การทำบัญชี 2 เล่ม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
โดยการทำบัญชี 2 เล่ม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี อาจทำให้บริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความผิด ทั้งในทางศีลธรรมและกฎหมาย หากถูกตรวจพบ
เพราะในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมสรรพากร มีระบบการเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแม่นยำมากขึ้น ทำให้บริษัทที่คิดจะหลีกเลี่ยงภาษี ทำได้ยากกว่าสมัยก่อนมาก
อีกทั้งธุรกิจที่มีกำไรน้อย ก็มักจะเกิดปัญหา เวลาต้องการขอกู้ยืมเงิน เพราะเจ้าหนี้อาจมองว่าธุรกิจไม่ได้แข็งแกร่ง ส่งผลให้กู้เงินไม่ผ่าน หรือต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูง
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดต้นทุนอื่น ๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตามมา เช่น เวลา, ค่าจ้างบุคลากรที่มีส่วนร่วม, ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ถึงแม้จะทำให้จ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องจ่ายเลย
แต่ก็อาจจะไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการนำทรัพยากรเหล่านี้ ไปมุ่งพัฒนาธุรกิจให้เติบโต..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.