ประเทศไทย ส่งออกน้ำตาล อันดับ 3 ของโลก

ประเทศไทย ส่งออกน้ำตาล อันดับ 3 ของโลก

24 ม.ค. 2024
ประเทศไทย ส่งออกน้ำตาล อันดับ 3 ของโลก /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 3 อันดับแรก ครองส่วนแบ่ง 64% ของมูลค่าการส่งออกทั้งโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกน้ำตาล ไปกว่า 108,940 ล้านบาท ตามหลังเพียงบราซิลและอินเดีย เท่านั้น
อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เป็นอย่างไร
ทำไม สามารถส่งออกได้เป็นอันดับ 3 ของโลก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกว่า น้ำตาลเป็นสินค้าที่ไทยส่งออก มาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีตลาดปลายทางหลักคือ ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งวัตถุดิบของน้ำตาล จะมาจากอ้อยและหัวบีต แต่ในไทย มักใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะปลูกขึ้นในเขตเมืองร้อน ได้ง่ายมากกว่า
ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนได้เข้ามาทำกิจการโรงงานน้ำตาลในไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจน้ำตาลในไทย กลับเริ่มซบเซา เพราะราคาในตลาดโลกตกต่ำ ประกอบกับนโยบายรัฐในตอนนั้น ยังไม่เอื้อต่อธุรกิจน้ำตาลมากนัก
จนกระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทย
ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกครั้ง ด้วยการตั้งบริษัทที่ผูกขาดโดยรัฐขึ้นมา เพื่อขาย นำเข้า และส่งออกน้ำตาล
และค่อย ๆ เปิดโอกาสให้ธุรกิจเอกชน เข้ามาแข่งขันในธุรกิจน้ำตาล ทำให้เกิดโรงงานน้ำตาลผุดขึ้นในแต่ละภูมิภาค
ตัวอย่างเช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ก็เริ่มเปิดโรงงานน้ำตาลของตัวเองในปี 2499
แล้วประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำตาล อันดับ 3 ของโลก ได้อย่างไร ?
เหตุผลแรกเลย
ก็เพราะว่าเรามี “ผลผลิตต้นทางเป็นจำนวนมาก”
ปัจจุบัน อ้อยถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาล ซึ่งในไทยมีเกษตรกรหลายแสนราย กระจายตัวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
โดยมีการปลูกอ้อยมากถึง 11 ล้านไร่ และมีผลผลิตในทุกปีมากถึง 100 ล้านตัน ทำให้สามารถส่งเข้าโรงงานน้ำตาลได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผลผลิตต่อไร่ของอ้อย ก็ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
จากในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 7,000 กิโลกรัมต่อไร่
เพิ่มเป็น 9,600 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2565
ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่บริษัทน้ำตาลในไทย วิจัยและส่งเสริมพันธุ์อ้อยใหม่ ๆ ไปให้เกษตรกร รวมทั้งมีสภาพอากาศที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย
เรื่องต่อมาคือ
“อุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยครบวงจร”
ไล่ตั้งแต่เกษตรกรไร่อ้อย ที่สามารถปลูกอ้อยได้อย่างต่อเนื่อง แล้วเรายังมีธุรกิจหีบอ้อย และโรงงานน้ำตาล อีกกว่า 57 แห่งทั่วประเทศ
และต้องบอกว่า ผลผลิตอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล เช่น กากน้ำตาล และชานอ้อย ยังมีการนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติม
กากน้ำตาล สามารถผลิตไปเป็นเอทานอล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน
ส่วนชานอ้อย นำไปผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อขายหรือใช้ในโรงงานได้อีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ โรงงานน้ำตาลในไทย จึงสามารถผลิตได้ทั้งน้ำตาล เอทานอล และไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน ทำให้คุ้มค่ากับการลงทุนในที่เดียว
ซึ่งช่วยให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แถมยังสามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ทุกช่วงเวลา
และที่สำคัญ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในไทย ยังมองหาลู่ทางในการทำตลาด และส่งออกไปยังต่างประเทศอยู่เสมอ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
ส่วนเหตุผลสุดท้าย คือ
“การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง”
อย่างที่พูดไปตอนต้นว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยถูกให้ความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าหลัก ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ
แถมยังเป็นสินค้าหลัก ที่ต้องใช้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศกว่า 39% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดในประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น การประกันราคาอ้อย การตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาล ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
มาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า น้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
โดยไทย เป็นประเทศที่ปลูกวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาล อย่าง “อ้อย” เป็นจำนวนมาก และให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
และมีอุตสาหกรรมครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แถมสามารถนำผลผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายทาง
รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม มีแรงจูงใจในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
จึงทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก นั่นเอง
ซึ่งในปี 2565 ผู้ส่งออกน้ำตาล 3 อันดับแรก มาจาก
- บราซิล 386,562 ล้านบาท
- อินเดีย 200,309 ล้านบาท
- ไทย 108,940 ล้านบาท
โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10% ของตลาดโลก เท่ากับว่า เรามีอิทธิพลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ไม่น้อยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาลคือ ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่มีสาเหตุจากการเก็บเกี่ยวอ้อยไฟไหม้ เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานน้ำตาล
การเก็บเกี่ยวอ้อยในปัจจุบัน ยังเน้นการใช้แรงงานมากกว่ารถเกี่ยวอ้อย เพราะรถเกี่ยวอ้อยมีราคาสูง และไม่เหมาะกับบางพื้นที่
แต่แรงงานก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมา
และแม้จะมีการกำหนดราคารับซื้ออ้อยสด ให้สูงกว่าอ้อยไฟไหม้แล้วก็ตาม แต่เหมือนว่าปัญหาเรื่องฝุ่น ก็ยังเกิดขึ้น และทำร้ายคนไทยในทุก ๆ ปี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-สารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตรรายสินค้า ปี 2565 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/agriculture/sugar/io/sugar-2023-2025
-https://www.worldstopexports.com/sugar-exports-country/?expand_article=1
-http://www.sugarzone.in.th/history.htm
-https://www.ocsf.or.th/ShowContent.aspx?id=300050
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.