รู้จัก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นักลงทุนรายใหญ่ พอร์ตล้านล้าน

รู้จัก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นักลงทุนรายใหญ่ พอร์ตล้านล้าน

28 ม.ค. 2024
รู้จัก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นักลงทุนรายใหญ่ พอร์ตล้านล้าน /โดย ลงทุนแมน
“กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” หรือ กบข.
คือหนึ่งในนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ ของประเทศไทย
รู้ไหมว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมา กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ย ได้ถึง 5.7% ต่อปีแบบทบต้น ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เลยทีเดียว
ปัจจุบัน กบข. มีเงินกองทุนภายใต้การจัดการ มูลค่าราว 1.28 ล้านล้านบาท
เทียบง่าย ๆ มากกว่ามูลค่าบริษัท DELTA หุ้นที่ใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทยในตอนนี้เสียอีก
แล้ว กบข. มีหน้าที่อะไร
หน้าพอร์ตของ กบข. เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ กบข. เกิดขึ้นเมื่อปี 2539
เมื่อทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้ กระทรวงการคลังปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund)
นำมาสู่ การจัดตั้งเป็น กบข. อย่างในปัจจุบัน
โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการ ก่อนวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 สามารถเลือกได้ว่า จะเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ ตามความสมัครใจ
แต่สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ทุกคนต้องเป็นสมาชิก กบข.
และตอนนี้สมาชิกทั้งหมดของ กบข. นั้น มีจำนวน 1.2 ล้านคน เลยทีเดียว
โดยเป้าหมายหลัก ๆ ในการจัดตั้ง กบข. ก็เพื่อ
1) ส่งเสริมการออมของสมาชิก
2) เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ประโยชน์ผลตอบแทน เมื่อสมาชิกออกจากราชการ
3) จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการ หรือเกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญ จากส่วนราชการต้นสังกัด
ซึ่งเงินก้อน กบข. ก็จะเป็นส่วนของ
- เงินออมของสมาชิก
- ส่วนเงินสมทบและเงินชดเชยจากรัฐ
- ผลตอบแทนการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการให้
ทั้งนี้ สมาชิกจะต้องออมเงิน จากเงินเดือนขั้นต่ำ 3% ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ของเงินเดือนทุกเดือน
และรัฐช่วยออกสมทบให้อีก เท่ากับขั้นต่ำ 3%
โดยเดือนกันยายน ปี 2566 มูลค่าเงินกองทุนของ กบข. มีมูลค่าราว 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- ส่วนเงินสำรอง ที่รัฐจ่ายเข้ารายปี ให้กับ กบข. มีมูลค่าราว 0.81 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกัน สำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการ
- ส่วนของสมาชิก เช่น เงินสะสม เงินสมทบเงินชดเชย เงินประเดิม เงินกองกลางจากรัฐ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวทั้งหมด ราว 0.47 ล้านล้านบาท
หากเราลองเจาะเฉพาะส่วนของสมาชิก ในพอร์ตมูลค่า 0.47 ล้านล้านบาท สัดส่วนของการลงทุน จะเป็น
- ตราสารหนี้ 62%
- สินทรัพย์ทางเลือก (เช่น อสังหาฯ, ทองคำ) 22%
- หุ้น 16%
ด้วยความที่นโยบายการลงทุนของ กบข. มุ่งเน้นความสมดุล ระหว่างความปลอดภัยของเงินต้น และผลตอบแทนจากการลงทุน ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ดังนั้น จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ เกือบ 2 ใน 3 จึงเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า นั่นเอง
ซึ่ง กบข. ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถึงสัดส่วนหลัก ๆ จะเป็นตราสารหนี้ แต่พอร์ตหุ้นของ กบข. ก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยมีการลงทุนทั้งในหุ้นไทย รวมไปถึงหุ้นต่างประเทศด้วย
ยกตัวอย่างหุ้นที่ทาง กบข. ลงทุน
หุ้นไทย
- AOT มูลค่าเงินลงทุน 1,728 ล้านบาท
- ADVANC มูลค่าเงินลงทุน 1,593 ล้านบาท
- PTT มูลค่าเงินลงทุน 1,089 ล้านบาท
- GULF มูลค่าเงินลงทุน 992 ล้านบาท
- BDMS มูลค่าเงินลงทุน 889 ล้านบาท
หุ้นต่างประเทศ
- Microsoft มูลค่าเงินลงทุน 1,532 ล้านบาท
- Amazon มูลค่าเงินลงทุน 1,043 ล้านบาท
- Alphabet (Google) มูลค่าเงินลงทุน 1,019 ล้านบาท
- Apple มูลค่าเงินลงทุน 1,005 ล้านบาท
- Meta Platforms มูลค่าเงินลงทุน 928 ล้านบาท
ต้องหมายเหตุไว้ว่า ส่วนของต่างประเทศนั้น เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือ ETF
แล้วการลงทุนของ กบข. ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2562 ผลตอบแทน 5.5% ต่อปี
ปี 2563 ผลตอบแทน 4.8% ต่อปี
ปี 2564 ผลตอบแทน 5.8% ต่อปี
ปี 2565 ผลตอบแทน -1.5% ต่อปี
ซึ่งถ้านับผลตอบแทน ตั้งแต่ กบข. ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน (ปี 2540-2565)
กบข. ทำผลตอบแทนการลงทุนได้เฉลี่ย 5.7% ต่อปี
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะรู้จัก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. กันแล้ว ว่ามีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และชีวิตหลังเกษียณของข้าราชการไทย นับล้านชีวิต

และยังเป็นอีกหนึ่งในนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ ที่มีบทบาทต่อตลาดทุนไทย อีกด้วย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.