ขนส่งรายใหญ่ไทย กำลังถูก Shopee Lazada บีบให้ขาดทุน

ขนส่งรายใหญ่ไทย กำลังถูก Shopee Lazada บีบให้ขาดทุน

ขนส่งรายใหญ่ไทย กำลังถูก Shopee Lazada บีบให้ขาดทุน /โดย ลงทุนแมน
ปี 2565 Flash Express ขาดทุน 2,186 ล้านบาท ในขณะที่ Kerry ขาดทุน 2,830 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2566 Kerry ขาดทุน 2,725 ล้านบาท ถ้าให้ครบปี Kerry ก็น่าจะขาดทุนมากขึ้น
หลายคนอาจคิดว่า ธุรกิจขนส่ง กำลังทำการกุศล หรือเปล่า? มานั่งคอยส่งฟรีให้ผู้บริโภค
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจขนส่งในไทย มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวกับ Shopee Lazada ด้วย
เบื้องหลังคืออะไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนหน้านี้ หนึ่งในธุรกิจที่ร้อนแรงในยุค E-Commerce ครองเมือง คงหนีไม่พ้น “ธุรกิจขนส่ง”
ซึ่งที่ผ่านมา หลาย ๆ บริษัท ก็ได้เข้ามาแข่งขันในสมรภูมินี้ เพื่อชิงเค้กที่กำลังก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากเจ้าตลาดเดิมอย่างไปรษณีย์ไทย ไปจนถึง Kerry, J&T และ Flash Express
และด้วยการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาด E-commerce ก็ทำให้บริษัทขนส่งเหล่านี้ ได้อานิสงส์ตาม ๆ กันไปด้วย
โดย Kerry ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2563 และมีมูลค่าบริษัทในวันแรกที่เทรดในตลาดทะลุ 1 แสนล้านบาท
ในขณะที่ Flash Express ได้กลายมาเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์น รายแรกในไทย
ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี สำหรับธุรกิจขนส่ง เพราะภาพรวมเทรนด์ E-commerce ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่ความเป็นจริง ธุรกิจขนส่ง กำลังเจอกับฝันร้าย แบบที่ไม่มีใครคาดคิด จนตอนนี้อยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก..
ทำไมธุรกิจขนส่งถึงกำลังเหนื่อย ทั้งที่ E-commerce ก็ยังคงมาแรง ?
สาเหตุสำคัญก็เพราะ
- การแข่งขันที่รุนแรง
- การเปลี่ยนโมเดลการขนส่งสินค้า โดยเจ้าของแพลตฟอร์ม E-commerce
ด้วยความที่ธุรกิจขนส่ง เป็นธุรกิจที่คล้ายกันเกือบทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าเราจะใช้บริการขนส่งเจ้าไหน บริการก็จะไม่ต่างกันมาก
การแข่งขันจึงเป็นไปในลักษณะของการตัดราคากัน
ทำให้ธรรมชาติของธุรกิจขนส่ง ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็น Red Ocean หรือมีการแข่งขันอย่างดุเดือด
อีกทั้งยังต้องเผชิญกับคู่แข่งต่างอุตสาหกรรม อย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีฐานผู้ใช้จากบริการอื่น ๆ กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดขนส่งพัสดุในช่วงเวลาเร่งด่วน และระยะทางสั้น ด้วย เช่น Grab, LINE MAN, Robinhood
และที่สำคัญ บรรดาแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Lazada และ Shopee ก็หันมาทำขนส่งของตัวเองแล้ว
แน่นอนว่ายิ่งมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น การแข่งขันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้ผู้เล่นแต่ละราย ต่างเสี่ยงถูกแย่งชิ้นเค้กของตัวเองไป
ทำให้ธุรกิจขนส่งทั้งหลาย ต้องหันไปลดต้นทุน ให้สามารถทำราคาค่าส่งให้ถูกลงได้ เพื่อให้พอสู้ได้ในสมรภูมิสงครามราคา ที่ยังไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหน..
เรื่องนี้เห็นได้จากผลประกอบการของทั้ง 2 ฝั่ง
ฝั่งขนส่งของแพลตฟอร์ม E-commerce
Lazada Express
ปี 2564 มีรายได้ 9,638 ล้านบาท ขาดทุน 286 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 16,060 ล้านบาท กำไร 2,700 ล้านบาท
SPX Express (Shopee Express)
ปี 2564 มีรายได้ 15,011 ล้านบาท ขาดทุน 290 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 16,765 ล้านบาท กำไร 933 ล้านบาท
มาดูที่ฝั่งบริษัทขนส่งกันบ้าง
Kerry
ปี 2564 มีรายได้ 18,972 ล้านบาท กำไร 47 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 17,145 ล้านบาท ขาดทุน 2,830 ล้านบาท
Flash Express
ปี 2564 มีรายได้ 17,607 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 14,805 ล้านบาท ขาดทุน 2,186 ล้านบาท
จะเห็นว่าผลประกอบการของฝั่ง E-commerce เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ฝั่งบริษัทขนส่ง กลับเป็นภาพตรงกันข้าม..
ส่วนสาเหตุสำคัญต่อมาก็คือ การเปลี่ยนโมเดลการขนส่งสินค้า โดยเจ้าของแพลตฟอร์ม E-commerce
หากพูดถึง E-commerce ในประเทศไทย แน่นอนว่า Shopee และ Lazada คือ 2 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุด
ในสมัยก่อน ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสินค้า หรือ User เป็นผู้เลือกใช้บริการขนส่งได้เอง เวลาซื้อสินค้า
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทขนส่ง มีการแข่งขันทั้งในด้านราคา หรือคุณภาพการบริการได้บ้าง
แต่ในวันนี้ ถ้าหากเราซื้อสินค้าจาก 2 แพลตฟอร์มที่ว่า
จะเห็นว่าเราไม่มีสิทธิ์เลือกผู้ขนส่งสินค้าเองแล้ว
โดยทางแพลตฟอร์ม จะเป็นผู้เลือกบริษัทขนส่งให้
การที่ Shopee และ Lazada ใช้โมเดลในรูปแบบนี้ ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งทั้งหลาย มีอำนาจในการต่อรอง ลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..
กลุ่มการขนส่งที่ได้กำไรก็รับไว้ขนส่งเอง ส่วนการขนส่งที่จะไปจ้าง Kerry หรือจ้าง Flash ต่อ ก็สามารถจ้างในราคาที่บีบให้ผู้ถูกจ้างมีกำไรน้อย

ทำให้ผู้ขนส่งต้องหั่นราคาค่าส่ง ให้ต่ำลงกว่าเมื่อก่อน รวมถึงลดต้นทุน เพื่อให้ยังสามารถทำธุรกิจได้ โดยหันไปพึ่งจำนวนรอบการขนส่งแทน
สรุปแล้ว การที่ธุรกิจขนส่ง ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากในวันนี้ นอกจากเพราะการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นเพราะแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada ที่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทขนส่งมากขึ้น แถมบางแพลตฟอร์ม ก็เปลี่ยนโมเดลมาเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการด้วยตัวเอง
ทำให้จากปกติที่บริษัทขนส่ง จะสามารถชูจุดเด่นของตัวเองได้บ้าง แต่ในวันนี้ กลับไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
ซึ่งวิธีถัดไปที่อาจทำให้บริษัทขนส่งต่อสู้กับ Shopee Lazada ได้ ก็อาจเป็นบริษัทขนส่งต้องควบรวมกิจการกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น
หรือถ้าไม่ควบรวมกิจการก็ต้องรอให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ รายใดรายหนึ่งล้มไปก่อน เพื่อให้การแข่งขันน้อยลง บริษัทที่เหลือถึงจะลืมตาอ้าปากได้
แต่ไม่ว่าจะเป็น การควบรวมกิจการกัน หรือการที่มี บริษัทขนส่งรายใหญ่ล้ม สิ่งนั้นน่าจะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon