ทำไมยุโรป ผลิตชิป สู้สหรัฐฯ และเอเชีย ไม่ได้

ทำไมยุโรป ผลิตชิป สู้สหรัฐฯ และเอเชีย ไม่ได้

5 ก.พ. 2024
ทำไมยุโรป ผลิตชิป สู้สหรัฐฯ และเอเชีย ไม่ได้ /โดย ลงทุนแมน
แม้อุตสาหกรรมชิป จะกลายเป็นสมรภูมิการค้าระดับโลก เพราะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอุปกรณ์ที่เราใช้กัน ไล่ตั้งแต่สมาร์ตโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงรถยนต์
แต่รู้ไหมว่า 3 ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ซึ่งมาจากไต้หวัน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ผลิตชิปรวมกันคิดเป็น 60% ของการผลิตชิปทั้งโลก
ในขณะที่ทวีปยุโรป ซึ่งดูเป็นทวีปที่ก้าวหน้าทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับผลิตชิปเพียง 5.6%
เรียกได้ว่า เป็นทวีปที่ผลิตชิปได้น้อยที่สุดในโลก
ทำไมยุโรป ถึงผลิตชิปได้น้อยที่สุดในโลก แม้จะมีวิทยาการที่ก้าวหน้า ไม่แพ้ชาติใด ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ชิปมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่ ชิปความจำ, ชิปประมวลผล และชิปเฉพาะทาง
ชิปแต่ละแบบ ก็จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น
- ชิปความจำ ใช้ในการจดจำข้อมูลต่าง ๆ
- ชิปประมวลผล ที่มีตั้งแต่การคำนวณต่าง ๆ ไปจนถึงการแสดงผลออกมาเป็นรูปภาพ, วิดีโอ หรือข้อความ
- ชิปเฉพาะทาง เช่น ชิปสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, หุ่นยนต์ และอุปกรณ์สื่อสาร
โดยชิปที่พัฒนาไปไกล และแข่งขันกันสูงมากที่สุด ก็คือชิปประมวลผล ซึ่งจะมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มพลังในการประมวลผลให้มากขึ้น และใช้พลังงานน้อยลง
อุตสาหกรรมที่ดันให้ชิปประมวลผลเติบโต และพัฒนาอยู่ตลอด ก็คือ คอมพิวเตอร์, สมาร์ตโฟน และสินค้าไอทีต่าง ๆ
และปัจจุบัน ผู้ผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีการผลิต ขนาด 5 นาโนเมตร หรือ 3 นาโนเมตร มีเพียง 2 รายเท่านั้น นั่นคือ Samsung จากเกาหลีใต้ และ TSMC จากไต้หวัน
ในขณะที่ชิปความจำ และชิปเฉพาะทางอื่น ๆ ก็จะกระจายการผลิตออกไปในแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เช่น สหรัฐฯ เอเชีย และยุโรป
ทีนี้กลับมาตอบคำถามที่ว่า
ทำไม ยุโรปถึงผลิตชิปได้น้อยที่สุดในโลก ?
เหตุผลแรกเลย ก็เพราะว่า
“ยุโรป ทุ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ไม่เท่าสหรัฐฯ และเอเชีย”
สหรัฐฯ และประเทศในเอเชีย เช่น จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ ได้ลงทุนอย่างมาก ในการวิจัย พัฒนา และการสร้างโรงงาน เพื่อผลิตชิปขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งยุโรปยังตามหลังในด้านนี้ เนื่องจากลงทุนน้อยกว่า ส่งผลให้มีขีดความสามารถในการผลิตชิปน้อยกว่า
โดยปัจจุบัน การออกแบบชิปส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ก่อนที่จะส่งไปผลิตที่ทวีปเอเชีย เช่น Samsung จากเกาหลีใต้ และ TSMC จากไต้หวัน
ซึ่งเอเชีย ถือว่ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะชิปประมวลผลขั้นสูง จากการใช้โมเดลธุรกิจรับจ้างผลิตมาก่อนหน้านี้
แม้ในตอนแรก จะได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงที่ถูก
แต่ Samsung และ TSMC ก็ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาการผลิตมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิปขั้นสูง
อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ไม่ได้ถูกตัดออกไป จากเครือข่ายซัปพลายเชนการผลิตชิปของโลกเสียทีเดียว เพราะทวีปนี้ยังมีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญมาก ในวงการชิปของโลกอีก 2 ธุรกิจ
ธุรกิจแรกคือ ธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรมของชิป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้ออกแบบชิป ให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น บริษัท Arm Holdings จากอังกฤษ ที่เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมชิป และจำหน่ายสิทธิบัตรที่ตัวเองมี ให้กับบริษัทอื่น ๆ รวมถึง Apple ซึ่งใช้เทคโนโลยีของ Arm ในการพัฒนาชิปของ iPhone เช่นกัน
ซึ่ง Arm ครองส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ตโฟนมากถึง 99% หรือเรียกได้ว่า ชิปบนสมาร์ตโฟนทุกเครื่อง ใช้สถาปัตยกรรมของ Arm เกือบทั้งหมด
ส่วนอีกธุรกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เครื่องจักรผลิตชิปจากบริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรายเดียวในโลก ที่สามารถสร้างเครื่องผลิตชิประดับสูงที่ใช้เทคโนโลยี EUV lithography
ซึ่งเทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีเดียวที่สามารถผลิตชิปขนาดเล็กระดับ 3-5 นาโนเมตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีนี้มีเพียงแค่ ASML บริษัทเดียวที่สามารถทำได้..
โดยราคาของ EUV lithography ต่อเครื่อง มีราคาสูงถึง 7,000 ล้านบาท เพราะมีกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการสร้างเครื่องนี้ขึ้นมา แถมยังต้องใช้เลนส์กระจกที่มีคุณภาพสูงด้วย
และผู้ผลิตเลนส์กระจกคุณภาพสูงให้กับ ASML
ก็คือ Zeiss จากเยอรมนี ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตของคุณภาพชั้นเยี่ยมอยู่แล้ว
ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ASML มีการขายเครื่องผลิตชิปให้กับบริษัทในเอเชีย และสหรัฐฯ มากถึง 90%
จะเห็นได้ว่า แม้ยุโรปไม่ได้เป็นฐานการผลิตชิปหลักของโลก แต่ก็ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมชิปเช่นกัน
เหตุผลต่อมาคือ
“ยุโรป เน้นผลิตชิปเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดั้งเดิม”
การผลิตชิป โดยเฉพาะชิปประมวลผล ต้องสั่งสมความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน เพื่อที่จะสามารถผลิตชิปประเภทนี้ ให้เล็กลงเรื่อย ๆ ได้
ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า ยุโรปไม่ได้เป็นฐานการผลิตหลักมาตั้งแต่ต้น การไปแข่งขันในด้านนี้ จึงเป็นไปได้ยาก
แต่สิ่งหนึ่งที่ยุโรปเชี่ยวชาญ นั่นคือ การผลิตชิปเฉพาะทาง ที่เน้นผลิตให้เหมาะกับการใช้งานและสนับสนุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิม อย่างเครื่องจักรและยานยนต์
บริษัทชิปยุโรปส่วนใหญ่ จึงเน้นผลิตชิปแบบใช้งานเฉพาะทางมากกว่า ตัวอย่างก็เช่น
- NXP Semiconductors ของเนเธอร์แลนด์ บริษัทออกแบบและผลิตชิปสำหรับรถยนต์
- Infineon ของเยอรมนี
บริษัทวิจัยและผลิตชิปสำหรับจัดการพลังงาน และรถยนต์
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยุโรปเน้นตลาดชิปเฉพาะกลุ่ม ยอดการผลิตรวมในภูมิภาค จึงน้อยกว่าชิปประมวลผลจากเอเชีย และสหรัฐฯ ที่เติบโตไปกับตลาดสมาร์ตโฟน และสินค้าไอที ซึ่งมีจำนวนชิ้นที่ผลิตออกมาในแต่ละปีมากกว่ามหาศาล
และเหตุผลสุดท้าย
“ยุโรป ให้ความสำคัญและโดดเด่นในอุตสาหกรรมอื่น มากกว่า”
รู้ไหมว่า 10 อันดับบริษัทใหญ่สุดในยุโรป มีบริษัทด้านแฟชั่นและความงาม ไปแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ LVMH, L'Oréal, Hermès และ Dior
โดยบริษัทที่ใหญ่สุดของยุโรปตอนนี้
นั่นคือ Novo Nordisk จากเดนมาร์ก ซึ่งเน้นขายยาเบาหวาน และยารักษาโรคอ้วน
เรื่องนี้มีสาเหตุจากการที่ยุโรป ต้องเจอกับโรคระบาดขนาดใหญ่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้อุตสาหกรรมยาของยุโรป ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นโดดเด่น เนื่องจากการพัฒนาจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป ที่มีช่างฝีมือที่มีชื่อเสียง เกิดขึ้นมามากมาย
ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น รถยนต์และวิศวกรรม เยอรมนีก็มีชื่อเสียงอย่างมาก จากการสร้างประเทศขึ้นมาด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของตัวเอง
ถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของยุโรป ถึงไม่ค่อยมีธุรกิจการผลิตชิปเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก
แม้จะมีบ้าง แต่ก็เป็นชิปเฉพาะทาง ที่เน้นขายให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ประโยชน์ ไม่ได้เน้นพัฒนาชิปเพื่อนำไปแข่งขันกับชาติอื่น
นอกจากนี้ ในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปจากภาครัฐ หากเทียบกับสหรัฐฯ และประเทศในเอเชีย
ที่ผ่าน ๆ มาในยุโรป ถือว่ายังขาดการสนับสนุนที่จริงจังอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ยุโรปได้ตั้งเป้าตัวเอง ให้สามารถผลิตชิปได้มากขึ้น ด้วยการดึงบริษัทจากสหรัฐฯ และเอเชีย ให้เข้ามาตั้งโรงงานและฐานการผลิต
โดยสหภาพยุโรป ได้ประกาศแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมชิปกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิปของยุโรป ให้ทัดเทียมกับสหรัฐฯ และเอเชีย
และตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดชิป เป็น 30% ของโลก ภายในปี 2030
ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในอนาคต ยุโรปจะสามารถขึ้นมาผงาด ในฐานะฐานการผลิตชิปที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ตามที่หวังได้หรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ยุโรปก็มีแต้มต่ออยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตชิปอยู่แล้ว ทั้งบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชิป อย่าง Arm และผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิป อย่าง ASML
ดังนั้นสำหรับยุโรปแล้ว การเข้าสู่สนามและเป็นผู้ผลิตชิปแบบเต็มตัว ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Chip War Book by Chris Miller
-https://www.infineon.com/cms/en/about-infineon/company/find-a-location/
-https://behorizon.org/an-assessment-of-the-european-microchip-industry-and-its-expansion-strategy
-https://en.irefeurope.org/publications/online-articles/article/why-is-the-european-chips-act-doomed-to-fail/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.