ทำไมแบงก์ชาติ ถึงยังไม่ลดดอกเบี้ย ?

ทำไมแบงก์ชาติ ถึงยังไม่ลดดอกเบี้ย ?

7 ก.พ. 2024
ทำไมแบงก์ชาติ ถึงยังไม่ลดดอกเบี้ย ? /โดย ลงทุนแมน
“ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังทำหน้าที่ โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่”
นี่คงเป็นคำถาม ที่หลายคนสงสัยกันอยู่ในตอนนี้
เพราะจริง ๆ แล้ว แบงก์ชาติ มีหน้าที่ที่ต้องดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และ ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ผ่านนโยบายทางการเงิน
แต่จาก GDP ประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา เติบโตต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ ก็ปรับตัวลงแล้ว ซึ่งก็กำลังลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับต่ำสุด ในรอบ 35 เดือน
แล้วทำไมเศรษฐกิจไม่ดี เงินเฟ้อลดลงแล้ว
แต่แบงก์ชาติ ยังไม่ลดดอกเบี้ย
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโต ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
การมีเศรษฐกิจที่เติบโต มีอัตราเงินเฟ้ออ่อน ๆ ที่ไม่มากจนเกินไป รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
เชื่อว่า นี่คือ 3 สิ่งที่ทุกฝ่าย ต่างอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ รัฐบาล และประชาชน
ที่ผ่านมา เริ่มมีหลายฝ่าย ที่อยากให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะมองว่าจะเป็นผลดี ต่อเศรษฐกิจมากกว่า
เมื่อไม่นานมานี้ คุณ สมชัย จิตสุชน อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ กนง. ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยไทย
แล้วมันมีอะไรบ้าง ? สรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. การมองระยะยาว
หลายคนอาจมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ดี จึงควรลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ย จะไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจโดยทันที แต่จะต้องใช้เวลาสักพัก ถึงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างเช่น สัญญากู้ยืมที่ระบุอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามนโยบายทันที
หรือการลงทุนของภาคเอกชน ที่ก็ต้องใช้เวลาในการวางแผน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนทันทีที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง
เมื่อการปรับอัตราดอกเบี้ยจะมีผลช้า ในการตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย แบงก์ชาติจึงต้องมองไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันจะมองไปที่ 18 เดือนข้างหน้า หรือก็คือหนึ่งปีครึ่ง
โดยต้องคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และควรจะมีอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไร ถึงจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากที่สุด
และเมื่อมองไปที่อนาคต ในสิ่งที่แบงก์ชาติกำลังดูแลอยู่ จะพบว่า
- ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ
ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในภายหน้า มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากกว่าช่วงที่ผ่านมา
โดยในด้านการท่องเที่ยว ในปีนี้ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา มากกว่าปีที่แล้ว
เนื่องจากมีนโยบายฟรีวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวจีน อินเดีย และไต้หวัน
ด้านการส่งออก ก็คาดว่าจะเติบโตขึ้น ตามปริมาณการค้าโลก ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นในปีนี้
ในส่วนของงบประมาณภาครัฐ ปี 2567 ที่ล่าช้าจนออกไม่ทันในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ก็จะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ประมาณกลางไตรมาสสองของปีนี้
นอกจากนี้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตัวเลขสินค้าคงคลังของเอกชนได้ลดลง ซึ่งเป็นเพราะไม่ได้มีการผลิตสินค้าเพิ่ม
ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างมากที่ในปีนี้ ผู้ประกอบการจะเริ่มกลับมาผลิตสินค้าอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
- ด้านเงินเฟ้อ
อีกตัวเลขหนึ่งที่หลายคนเป็นกังวลกัน เพราะติดลบมาถึง 4 เดือนติดต่อกันแล้ว ก็ต้องบอกว่า เงินเฟ้อในปีนี้ ก็มีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา
เนื่องจาก สาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการลดลงของราคาพลังงาน จากการอุดหนุนของภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ไปตลอด
ซึ่งเมื่อรัฐบาลเลิกอุดหนุนราคาพลังงานแล้ว ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
และนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อจาก ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย
2. การคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่คาดการณ์ผิด หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด..
อาจเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายไม่ได้มองถึง แต่สามารถสรุปให้เข้าใจได้แบบง่าย ๆ ว่า
ความเสียหาย จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป มีน้อยกว่าความเสียหาย จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนเกินไป
เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างสูงและติดลมบน
เมื่อเป็นแบบนั้น แบงก์ชาติจะถูกบังคับให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างสูงและรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นชะงักงัน
และยังทำให้ผู้ที่เป็นหนี้ ต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้นอย่างมาก แบบไม่ทันตั้งตัวอีกด้วย
แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่จะแย่กว่าที่เป็นในตอนนี้
โดยแนวคิดนี้ก็เป็นแนวคิดที่ตรงกับ แนวคิดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกัน
3. การคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน
หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า เสถียรภาพของระบบการเงิน หมายความว่าอย่างไร
สามารถยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว และกำลังเป็นประเด็นให้ทุกคนเข้าใจได้แบบง่าย ๆ
เช่น เรื่อง “การกู้ยืม”
เพราะการกู้ยืมที่มากจนเกินตัว คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยของไทยได้อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการขาดวินัยทางการเงิน
เพราะคนอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่กำลังต่ำ จึงนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าที่ตัวเองรับไหว หรือไม่ได้มีความรู้จริง ๆ
และยังทำให้เกิดการกู้ยืมเงิน ทั้งโดยประชาชนและภาคธุรกิจ ที่มากเกินไป หรือเกินตัว
ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นปัญหาที่แก้ยากในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า การไม่มีเสถียรภาพของระบบการเงิน เป็นสิ่งที่ส่งผลเสียอย่างร้ายแรง และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติพูดถึงเยอะขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเวลาปรับอัตราดอกเบี้ย
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแบงก์ชาติอาจมีมุมมองที่ต่างจากฝ่ายที่อยากให้ลดอัตราดอกเบี้ย จึงตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ มากกว่าที่จะลดตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
ทั้งในเรื่องของระยะเวลา ที่แบงก์ชาติต้องมองไปที่ 18 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยจะต้องใช้เวลาสักพัก ถึงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
และการคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่คาดการณ์ผิด หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
รวมถึงต้องการให้เกิดเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าการเติบโตในระยะสั้น ๆ
เมื่อพิจารณาถึง 3 มุมมองนี้แล้ว ก็อาจทำให้เราเข้าใจเหตุผล ที่ทำให้แบงก์ชาติ ตัดสินใจที่จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่แบงก์ชาติไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย ก็ทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลูกหนี้ที่กำลังต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย

ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ที่จะต้องออกมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ด้วยมาตรการด้านอื่น ๆ ต่อไป..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-https://tdri.or.th/2024/02/monetary-policy-economic-uncertainty/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.