2 พี่น้องชาวอินโด ต่อยอดธุรกิจรุ่นพ่อ จนรวยสุดในประเทศ

2 พี่น้องชาวอินโด ต่อยอดธุรกิจรุ่นพ่อ จนรวยสุดในประเทศ

2 พี่น้องชาวอินโด ต่อยอดธุรกิจรุ่นพ่อ จนรวยสุดในประเทศ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า อินโดนีเซีย มีจำนวนนักสูบ กว่า 100 ล้านคน
โดยอุตสาหกรรมบุหรี่ของอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 1,263,000 ล้านบาท และผลิตบุหรี่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก
ด้วยขนาดอุตสาหกรรมที่ใหญ่ จึงไม่แปลกที่มหาเศรษฐีในประเทศ จะเป็นเจ้าของโรงงานบุหรี่ อย่างเช่น 2 พี่น้องตระกูลฮาร์โตโน ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากถึง 1,800,000 ล้านบาท
แต่ความร่ำรวยของพวกเขา ไม่ได้มาจากธุรกิจบุหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเจ้าของธนาคารใหญ่สุดในประเทศ และธุรกิจอื่น ๆ อีกมาก
แล้วเส้นทางธุรกิจของ พี่น้องฮาร์โตโน น่าสนใจแค่ไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว ความร่ำรวยของตระกูลฮาร์โตโน ไม่ได้มาจาก 2 พี่น้องเสียทีเดียว แต่ธุรกิจของพวกเขา ต่อยอดมาจากรุ่นคุณพ่อ
ซึ่งคือคุณ Oei Wie Gwan นักธุรกิจเชื้อสายจีน ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการโรงงานผลิตบุหรี่ ที่กำลังจะไปไม่รอด
ต้องอธิบายก่อนว่า ธุรกิจบุหรี่ในอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก และบุหรี่เป็นสินค้าที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซียมานาน
จากผลสำรวจพบว่า จำนวนคนสูบบุหรี่ในอินโดนีเซีย มีสัดส่วนมากถึง 40% จากจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน และเมื่อลองขยายภาพดู จะพบว่าผู้ชายกว่า 76% สูบบุหรี่
โดยบุหรี่ ที่สูบกันในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบุหรี่กานพลูเป็นหลัก ซึ่งบุหรี่ชนิดนี้ถูกคิดค้นขึ้นในอินโดนีเซียเป็นที่แรก
ในตอนเริ่มแรกนั้น โรงงานของตระกูลฮาร์โตโน ขายบุหรี่ในชื่อแบรนด์ Djarum Gramofon ก่อนที่ภายหลังจะย่อเหลือเพียง Djarum ซึ่งแปลว่า “เข็ม”
ต่อมาในช่วงปี 1960 โรงงานเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ และไม่นานหลังจากนั้น คุณ Oei Wie Gwan ก็เสียชีวิตลง ทำให้ลูกชายทั้ง 2 คนของเขา ก็คือคุณ Michael และคุณ Robert ต้องเข้ามารับช่วงต่อกิจการ และเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
ทั้ง 2 คน ช่วยกันหาแหล่งเงินทุนเข้ามาฟื้นฟูโรงงาน และพัฒนากระบวนการผลิตโดยเฉพาะ มีการเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร รวมถึงออกบุหรี่รุ่นใหม่ ๆ ภายใต้แบรนด์ Djarum
หลังจากนั้น ธุรกิจประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ชื่อของ Djarum กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นยังมีแบรนด์บุหรี่รายใหญ่อื่น ๆ ที่ยังคุมตลาดอยู่เช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น Sampoerna หรือ Gudang Garam ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศรวมกันมากกว่า 50%
กลยุทธ์การเติบโตของ Djarum จึงเน้นไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาดที่เล็งไว้ ก็คือ ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา
ด้วยคุณสมบัติที่ดูดง่าย และมีหลายรสชาติให้ลอง ทำให้บุหรี่กานพลูของ Djarum เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดต่างประเทศ จนช่วงปี 2000 Djarum มีส่วนแบ่งกว่า 97% ในตลาดบุหรี่ที่มีรสชาติของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้เกิดการแพร่หลายในหมู่นักสูบหน้าใหม่ และก็ได้ขยายไปยังกลุ่มเยาวชนด้วย จนเกินควบคุม
ทำให้ในปี 2009 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศแบน ห้ามจำหน่ายบุหรี่ปรุงแต่งรสชาติทุกรูปแบบ ซึ่งประกาศนี้พุ่งเป้าไปที่ Djarum โดยเฉพาะ
หลังจากนั้น ส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ ของ Djarum ก็ลดลงเรื่อย ๆ
ซึ่งปัจจุบัน บุหรี่กานพลูของ Djarum ก็ยังวางขายในสหรัฐฯ ในรูปแบบของซิการ์แทนบุหรี่ทั่วไปเท่านั้น
ถึงแม้ว่า Djarum จะไม่ใช่เบอร์หนึ่งในตลาดยาสูบของอินโดนีเซีย และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ไปบ้าง
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ที่เริ่มส่งออกต่างประเทศ ในปี 1972 จนถึงปัจจุบัน ความมั่งคั่งของ 2 พี่น้องฮาร์โตโน ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก แถมพวกเขายังได้ขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปมากกว่าแค่ผู้ผลิตยาสูบ ไม่ว่าจะเป็น
- เข้าซื้อหุ้นใน Bank Central Asia (BCA) ธนาคารใหญ่สุดในประเทศ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง จาก Salim Group ตระกูลมหาเศรษฐีของอินโดนีเซีย
ปัจจุบัน Djarum Group ถือหุ้น BCA อยู่ 55% และธนาคารแห่งนี้มีมูลค่ากว่า 2,700,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดของอินโดนีเซีย อีกด้วย
- ก่อตั้งแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Polytron
- ธุรกิจอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลวงจาการ์ตา, ธุรกิจสื่อ และเกษตรกรรมทั่วประเทศ
จากเส้นทางธุรกิจของพี่น้อง “ฮาร์โตโน” ที่สร้างการเติบโตให้ Djarum ด้วยการฟื้นฟูธุรกิจยาสูบของครอบครัว และได้ขยายอาณาจักรไปยังหลากหลายธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการซื้อธนาคาร BCA
ก็ได้ช่วยให้ 2 พี่น้องฮาร์โตโน มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 1,800,000 ล้านบาท กลายเป็นตระกูลที่รวยสุดอันดับ 5 ในเอเชีย และอันดับ 1 ในประเทศอินโดนีเซียได้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-www.indonesiarichest.net/biography-michael-r-budi-ฮาร์โตโน/
-www.celebfamily.com/business/michael-ฮาร์โตโน.html
-www.the101.world/tobacco-history-in-indonesia/
-https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5087594/
-https://www.forbes.com/profile/r-budi-michael-ฮาร์โตโน/?sh=9434fa42cbe1
-https://www.statista.com/outlook/cmo/tobacco-products/cigarettes/indonesia
-https://www.statista.com/statistics/261173/leading-countries-in-tobacco-production/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon