กวดวิชาออนไลน์ ใหญ่สุดของอินเดีย วันนี้กำลังจะล้มละลาย

กวดวิชาออนไลน์ ใหญ่สุดของอินเดีย วันนี้กำลังจะล้มละลาย

21 ก.พ. 2024
กวดวิชาออนไลน์ ใหญ่สุดของอินเดีย วันนี้กำลังจะล้มละลาย /โดย ลงทุนแมน
- เปิดตัวปี 2015 ก่อตั้งโดยติวเตอร์ชื่อดัง ที่เคยสอนคลาสสดให้คนกว่า 12,000 คนพร้อมกัน
- ผ่านไปแค่ 90 วัน มีผู้ใช้งาน 20 ล้านคน
- ผ่านไป 7 ปี มีผู้ใช้งาน 150 ล้านคน ระดมทุนได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท มีนักลงทุนชื่อดังมากมายมาร่วมลงทุน อย่างเช่น หน่วยงานการกุศลของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ของ META
- มูลค่าบริษัททำจุดสูงสุด 700,000 ล้านบาท กลายเป็นสตาร์ตอัป ที่มาแรงที่สุดในอินเดีย
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ สตาร์ตอัปที่ชื่อว่า “BYJU'S” อ่านว่า บาย - จู ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปทางการศึกษาที่เติบโตแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ปัจจุบัน BYJU'S มีคดีฟ้องร้องติดตัว หนี้สินมากมาย ถึงขั้นจะล้มละลาย และมูลค่าบริษัทจาก 700,000 ล้านบาท วันนี้เหลือเพียง 30,000 ล้านบาท เท่านั้น..
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ BYJU'S
ทำไมจู่ ๆ จากดาวรุ่ง กลายเป็นดาวร่วง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
สำหรับคนที่ไม่รู้จัก BYJU'S ก็ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นแพลตฟอร์มกวดวิชาออนไลน์สัญชาติอินเดีย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย Byju Raveendran
ซึ่งเขาเริ่มต้นจากการเป็นติวเตอร์กวดวิชาที่มีชื่อเสียง และเดินสายเปิดคลาสสอนไปทั่วประเทศ ถึงขนาดที่ว่าเคยเปิดคลาสติวเข้มให้กับนักเรียนกว่า 12,000 คนพร้อม ๆ กัน
BYJU'S เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2015 โดยมีหลากหลายวิชาให้เลือกเรียน รวมถึงมีการจ้างติวเตอร์เข้ามาจำนวนมาก สำหรับสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมจนถึงมัธยม
รวมทั้งเปิดคอร์สติวสอบวัดผลประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้ยื่นสมัครเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อีกด้วย
โดย BYJU'S มีรายได้จากการเก็บค่าบริการแบบ Subscription ซึ่งมีกลยุทธ์ที่ดึงดูดลูกค้าด้วยการเปิดให้เรียนฟรีในบางรายการ แต่ถ้าสมัครสมาชิกแบบ Subscription จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกคอร์ส
หากเราลองไปดูการเติบโตของ BYJU'S ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นสตาร์ตอัปดาวรุ่งอย่างแท้จริง
- หลังเปิดตัว 90 วัน BYJU'S มียอดสมาชิกกว่า 20 ล้านคน
- มีบริษัทผู้ลงทุนชื่อดัง เช่น Sequoia Capital, Tencent และ Chan Zuckerberg Initiative หน่วยงานการกุศลของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และภรรยา ร่วมลงทุน และสามารถระดมทุนได้รวมเกือบ 200,000 ล้านบาท
- ผลประกอบการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปี 2018 รายได้ 2,100 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 5,600 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 9,440 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 9,900 ล้านบาท
- ต้นปี 2022 มียอดผู้ใช้งานแตะ 150 ล้านคน และมูลค่าบริษัทก็พุ่งทะลุไปสูงถึง 786,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็น สตาร์ตอัป ที่มาแรงที่สุดในเวลานั้น
แต่เรื่องทุกอย่างกลับพลิกผัน เพราะในวันนี้ BYJU'S เหลือมูลค่าบริษัทเพียง 35,000 ล้านบาท ลดลง 95% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี และบริษัทกำลังจะล้มละลาย..
สิ่งที่น่าสนใจคือ ความผิดพลาดหลายข้อของ BYJU'S ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นทีหลัง แต่เริ่มก่อตัวมาในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทกำลังเติบโต
เรื่องแรกเลยคือ BYJU'S มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าจ้างพนักงานฝ่ายบริการที่เติบโตตามจำนวนผู้ใช้งาน รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงมากจากการโฆษณาเพื่อโปรโมตแบรนด์
ทั้งการโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ จัดโปรโมชันดึงดูดลูกค้า และสนับสนุนทีมกีฬา รวมถึงเป็นสปอนเซอร์ให้กับ FIFA WORLD CUP 2022
หากลองไปดูค่าใช้จ่าย 3 ปี ย้อนหลัง ของ BYJU'S พบว่า
ปี 2019 มีค่าใช้จ่าย 5,700 ล้านบาท
ปี 2020 มีค่าใช้จ่าย 12,400 ล้านบาท
ปี 2021 มีค่าใช้จ่าย 30,400 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับรายได้ที่ BYJU'S ทำได้ จะเห็นว่าผลประกอบการขาดทุนมาตลอด และปี 2021 ขาดทุนมากถึง 20,500 ล้านบาท
นอกจากตัวเลขผลประกอบการที่ดูดเงินทุนออกจากบริษัทแล้ว ที่ผ่านมา BYJU'S ยังผลาญเงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท ไปกับการซื้อกิจการมากถึง 17 แห่ง เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดบนแพลตฟอร์ม
แต่การลงทุนเหล่านั้น กลับไม่ช่วยดันยอดขายให้กิจการ และบางแห่งยังพ่วงผลขาดทุนติดมือมาด้วย..
และปัจจัยสำคัญ ก็เป็นเพราะเมื่อพ้นช่วงล็อกดาวน์ สถานศึกษาหลายแห่งกลับมาเปิดสอน นักเรียนจำนวนมากกลับไปเข้าเรียนตามปกติ ยอดผู้ใช้บริการของ BYJU'S ซึ่งเป็นแอปเรียนออนไลน์ ก็ลดลงอย่างมาก
บวกกับปัญหาที่เกิดจากการกดดันยอดขายอย่างหนักกับพนักงานขาย ทำให้เกิดการ Hard Sell เกินไป จนได้ยอดขายจากลูกค้าที่ไม่ตรงกลุ่ม อย่างเช่น คนขับรถตุ๊ก ๆ หรือครอบครัวยากจน ซึ่งไม่ใช่ฐานลูกค้าที่จะใช้บริการต่อไปในระยะยาว
อีกทั้งยังเกิดข่าวเสียเกี่ยวกับการขายเชิงกดดันลูกค้าให้ซื้อ และการปล่อยสินเชื่อเพื่อการศึกษาของ BYJU'S ที่สุดท้ายลูกค้าหลายคนไม่สามารถใช้คืนได้
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ BYJU'S เริ่มหมดความน่าเชื่อถือ และไม่มีการเติบโตหลังจากพ้นช่วงล็อกดาวน์ รวมถึงมีความเสี่ยงที่เงินทุนจะหมดบริษัท
นอกจากนี้ BYJU'S ยังมีปัญหาจากการบันทึกรายได้ค่าคอร์สเรียนระยะยาว ที่ไม่กระจายการรับรู้รายได้ตามจริง
อธิบายง่าย ๆ คือ BYJU'S จะบันทึกค่าคอร์สเรียนทั้งหมด 3 ปี ที่ลูกค้าจ่ายมาไว้ในปีแรกที่ชำระ ทำให้ยอดตัวเลขผู้ใช้งานที่แสดงในแต่ละปี, รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ และรายได้ของกิจการไม่สอดคล้องกัน
เช่น รายได้เดิมของปี 2021 จะมีส่วนของค่าคอร์สเรียนในอีก 2 ปีข้างหน้ามารวมอยู่ด้วย ทำให้รายได้ที่แสดงสูงเกินจริง
และต่อให้ปีถัดไปจำนวนสมาชิกของ BYJU'S ไม่เปลี่ยนแปลง แต่รายได้ก็จะลดลงอย่างมาก จากการรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้นจากลูกค้าคนเดิมไปหมดแล้ว
แต่ค่าใช้จ่ายไม่ลดลง เพราะลูกค้ารายเดิมที่จ่ายเงินไปแล้วยังมาใช้บริการตามสัญญา 3 ปีนั่นเอง
ซึ่งในเวลาต่อมา BYJU'S ก็ได้แก้ไขการบันทึกบัญชีตามคำท้วงของผู้ตรวจสอบบัญชี ด้วยการรับรู้รายได้ในแต่ละปีให้ตรงตามคอร์สเรียนที่ลูกค้าซื้อและได้เรียนแล้ว
และระเบิดลูกใหญ่ของ BYJU'S ก็คือการกู้สินเชื่อ Term Loan B
สำหรับสินเชื่อแบบ Term Loan B จะมีการผ่อนจ่ายในปีแรก ๆ ด้วยยอดเงินต้นที่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 1-2% ของเงินต้นทั้งหมดเท่านั้น
และมีดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่แพงกว่าสินเชื่ออื่น ๆ แต่ก็ไม่มากนัก ซึ่งในเคสของ BYJU'S อยู่ที่ประมาณ 5-6% ต่อปี
ทว่าเงินต้นที่จ่ายน้อยในแต่ละงวด ก็จะถูกเรียกเก็บทั้งหมดทีเดียวในงวดสุดท้าย
ซึ่ง BYJU'S ได้กู้สินเชื่อแบบ Term Loan B มาเมื่อสิ้นปี 2021 ด้วยยอดสินเชื่อกว่า 43,000 ล้านบาท แต่ผ่านไปแค่ปีเดียว เมื่อผลประกอบการแย่ลง ก็มีการเลื่อนการผ่อนชำระสินเชื่อ และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน
สุดท้าย BYJU'S ก็ถูกเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ ฟ้องดำเนินคดีในท้ายที่สุด รวมถึงยังมีคดีความที่เจ้าหนี้ฟ้องเพื่อเรียกร้องสิทธิในเงิน 18,000 ล้านบาท ที่ถูกโยกย้ายระหว่างบริษัทในเครือของ BYJU'S เพื่อให้นำกลับมาใช้หนี้อีกด้วย
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ความผิดพลาดของ BYJU'S ยังมีให้เห็นอีกมาก เช่น
- งบการเงินปี 2021 ถูกเลื่อนส่งหลายครั้ง และมาส่งได้ในปี 2023
- กรรมการบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนของนักลงทุนรายใหญ่ ลาออกยกชุด จนเหลือเพียงแค่ Raveendran, พี่ชาย และภรรยา ของเขาเท่านั้น
- ยกเลิกสัญญาจ้างพรีเซนเตอร์กับลิโอเนล เมสซี รวมถึงผิดนัดชำระเงินค่าสปอนเซอร์ให้กับทีมคริกเกตของอินเดีย ซึ่งนำมาสู่การฟ้องล้มละลายเช่นกัน
จากปัญหาทั้งหมดนี้ ก็ได้สะท้อนไปยังมูลค่าบริษัทที่ถูกประเมินให้เหลือเพียง 35,000 ล้านบาท เท่านั้น
นอกจากเทรนด์เรียนออนไลน์ทั่วโลกที่แข่งขันกันสูงแล้ว เมื่อมองถึงปัญหาใหญ่จริง ๆ ของเรื่องนี้ ก็คือการบริหารจัดการเงินของ BYJU'S ที่ใช้จ่ายเงินแบบเกินตัว
- อัดงบการตลาดอย่างบ้าคลั่ง โดยหวังพึ่งรายได้ในอนาคต
- ไล่ซื้อกิจการหลายแห่งที่ยังไม่ทำกำไร และสุดท้ายก็พ่วงมาด้วยการขาดทุน
- เมื่อเงินทุนจากนักลงทุนหมด ก็ยังไปกู้เงินและใช้จ่ายเกินตัวเหมือนเดิม
ทำให้แม้ BYJU'S จะเป็นสตาร์ตอัปมาแรง ที่ระดมทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาท
แต่ด้วยความผิดพลาดมากมาย กับหนี้สินที่ทำให้แม้จะเคยระดมทุนมาได้นับแสนล้านบาท แต่ก็ไม่อาจช่วยติดปีกให้ยูนิคอร์นตัวนี้ โบยบินไปได้อยู่ดี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.statista.com/statistics/1239071/byju-net-revenue/
-https://www.crunchbase.com/organization/byju-s/company_financials
-https://www.5paisa.com/blog/is-byjus-bankrupt
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-01/byju-s-alpha-files-for-chapter-11-bankruptcy-in-delaware
-https://www.livemint.com/companies/news/byjus-fy21-losses-widen-after-change-in-revenue-recognition-11663151849251.html
-https://www.thehindubusinessline.com/news/education/byjus-denies-allegations-of-hiding-500-million-in-offbeat-hedge-fund/article67302612.ece
-https://www.hindustantimes.com/cricket/nclt-notice-to-byjus-over-158-crore-bcci-dues-101701713404777.html
-https://economictimes.indiatimes.com/tech/startups/edtech-unicorn-byjus-looks-to-raise-1-2-billion-via-term-loan/articleshow/87583914.cms
-https://thewire.in/business/byjus-incurs-over-rs-8000-crore-in-losses-in-fy22-driven-by-whitehat-jr-and-osmo
-BYJU'S: A Billion Dollar Loss | The Fall Of India's Most Valuable Edtech Startup / CNBC-TV18
-What's happening to BYJU'S? / Think School
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.