กรณีศึกษา เมื่อ True กำลังลดการขาดทุน พร้อมตั้งเป้าทำกำไรในปีนี้

กรณีศึกษา เมื่อ True กำลังลดการขาดทุน พร้อมตั้งเป้าทำกำไรในปีนี้

1 มี.ค. 2024
กรณีศึกษา เมื่อ True กำลังลดการขาดทุน พร้อมตั้งเป้าทำกำไรในปีนี้
True X ลงทุนแมน
การควบรวมกิจการกำลังทำให้ True มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2566 ได้รายงานว่า EBITDA เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4/2566 ทาง ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว จากการด้อยค่าสินทรัพย์ ที่มีความซ้ำซ้อนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย และค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ จำนวน 10,899 ล้านบาท
ส่งผลให้มีการขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี สำหรับไตรมาส 4/2566 จำนวน 11,279 ล้านบาท
ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี อยู่ที่ 379 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1,219 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน
หมายความว่า ในปีต่อไป True อาจมีสภาพทางการเงินที่คล่องตัวขึ้นกว่าเดิม ด้วยต้นทุนที่จ่ายน้อยลง
เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดูดี ทำให้ล่าสุด True ได้ประกาศว่าในปี 2567 บริษัทจะมีกำไร
คำถามคือ หลังควบรวมกิจการ True ทำอย่างไร ถึงทยอยลดการขาดทุนได้อย่างต่อเนื่อง ?
และในปีนี้วางแผนธุรกิจอย่างไร เพื่อให้บริษัทมีกำไร ?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
หลังจากการควบรวมกิจการ True + dtac ได้สร้างผลประโยชน์การควบรวมอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดในไตรมาส 4 คิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท
เพราะข้อดีของการควบรวมกิจการ นอกจากจำนวนฐานผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นมหาศาลแล้วนั้น ยังได้มาด้วย Economies of Scale อันทรงพลัง เช่น การนำโครงสร้างธุรกิจและจุดแข็งของ True กับ dtac มารวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น โครงข่ายสัญญาณ, บริการ, ช่องทางการขาย, งบการตลาดและโปรโมชัน
สะท้อนจากภาพรวมค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ในปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ลดลงถึง 11.2% ขณะเดียวกัน EBITDA หรือกำไรจากการดำเนินธุรกิจก่อนหักดอกเบี้ย, ภาษี และค่าเสื่อมราคา เติบโตถึง 6.7%
จะเห็นว่าการควบรวมกิจการกำลังสร้างประโยชน์ต่อเนื่อง ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การควบรวมครั้งนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารให้ทันสมัยขึ้น เพื่อยกระดับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของลูกค้า ทำให้ลูกค้าคนไทยมั่นใจในสัญญาณ และเมื่อบวกกับกลุ่มผู้ใช้บริการนักท่องเที่ยว และกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือ True มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น
ในไตรมาส 4 ปี 2566 มีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 5 แสนเลขหมาย ทำให้เมื่อสิ้นปี 2566 มียอดผู้ใช้งานรวมเป็น 51.9 ล้านเลขหมาย
ขณะเดียวกัน True ก็ขับเคลื่อนเครือข่าย 5G จน ณ วันนี้ มีสัญญาณครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากรในประเทศ พร้อมกับมีฐานผู้ใช้งาน 5G มากที่สุด 10.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผ่านมา
ส่วนในไตรมาส 4 ค่า ARPU หรือรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้า 1 คน อยู่ที่ 494 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ที่น่าสนใจกว่านั้น True เองก็ยังขับเคลื่อนแนวคิด Better Together อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เช่น โครงสร้างเสาสัญญาณได้ทำการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) ที่ควบรวมสถานีฐานในพื้นที่เดียวกัน ที่เป็นการผสานจุดแข็งเสาสัญญาณ True และ dtac เข้าด้วยกัน เพื่อลดเสาที่ซ้ำซ้อน และอาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนลง 30% จนถึงมีแผนเตรียมรวมบริการและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว
สังเกตได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการควบรวมกิจการของ True กับ dtac จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในการควบรวมกิจการ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสร้างโมเดลธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์คือ จำนวนฐานลูกค้ามหาศาล และนำมาสู่การประหยัดต่อขนาด ที่จะส่งผลดีให้ธุรกิจมีต้นทุนลดลง แต่สามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
เมื่อการลงทุนครั้งเดียวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้สร้างโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตรงตามแผนที่วางไว้ จากนั้นข้อดีของธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อน นั่นคือการเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ ต้นทุนไม่ได้แปรผันตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ปัจจุบัน True มีผู้ใช้บริการ 51.9 ล้านเลขหมาย และหากในอนาคตมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านเลขหมาย ต้นทุนธุรกิจก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร
เลยเป็นเหตุผลให้หลังควบรวม มีการผสานทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมเพิ่มคุณภาพสัญญาณและบริการ เพื่อสร้างจำนวนลูกค้าให้มากขึ้น
ภาพในปีต่อ ๆ ไป ต้นทุนธุรกิจของ True จะลดลงเรื่อย ๆ แต่จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น
เหตุผลนี้เองที่ทำให้ นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยโดยคาดว่าจะสามารถทำกำไร ภายหลังการปรับปรุง (Normalized) ได้ในปี 2567 พร้อมกับตั้งเป้าอัตราการเติบโตต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อเทียบกับปี 2566
คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จะมีการเติบโต 3-4% และ EBITDA จะมีการเติบโต 9-11% เป้างบลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท
ต้องติดตามดูว่า เมื่อการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างธุรกิจรวมกันเป็นหนึ่ง หรือ Better Together ที่มีพลังของ Economies of Scale ช่วยประหยัดต้นทุน แต่มาพร้อมบริการสัญญาณที่ดีขึ้น จะทำให้ True ไปถึงเป้าหมาย ด้วยการมีกำไรเป็นปีแรกหลังการควบรวมกิจการ ได้หรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ ทุกการเคลื่อนไหวของ True หลังควบรวมกิจการ ก็น่าจะเป็นการเดินเกมธุรกิจที่มาถูกทาง
สะท้อนจากการเติบโต ทั้งต้นทุนธุรกิจที่ค่อย ๆ ลดลง, จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น, EBITDA ที่โตอย่างต่อเนื่อง จนถึงบริการต่าง ๆ ที่มาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนดิจิทัล
Reference
-งานแถลงข่าว บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
Tag: TRUE
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.