เวียดนาม เมื่อช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ กำลังเจอความท้าทาย

เวียดนาม เมื่อช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ กำลังเจอความท้าทาย

8 มี.ค. 2024
เวียดนาม เมื่อช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ กำลังเจอความท้าทาย /โดย ลงทุนแมน
เวียดนาม หนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างพุ่งกระฉูด และเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ถ้าดูที่ขนาดเศรษฐกิจก็จะพบว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวียดนามมี GDP อยู่ที่ 7,000,000 ล้านบาท แต่ในวันนี้กลายเป็น 14,600,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
หรือถ้าดูที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ก็จะพบว่า คนเวียดนามรวยขึ้นเท่าตัวเช่นกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยเพิ่มขึ้นจาก 55,000 บาทต่อปี เป็น 109,000 บาทต่อปี (ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 190,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 25% จากเมื่อ 10 ปีก่อน)
ในด้านการลงทุนจากต่างชาติ หรือ FDI ในปี 2555 เวียดนามมี FDI อยู่ที่ 300,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 642,000 ล้านบาท ในปี 2565
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 FDI ของเวียดนาม ก็สูงกว่าไทยมาโดยตลอด
จะบอกว่าเศรษฐกิจของเวียดนาม กำลังอยู่ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ ก็คงไม่ผิดนัก
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพอันสดใสนี้ ก็มีปัญหาที่กำลังซุกซ่อนอยู่..

แล้วอะไรคือเหตุผล ที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด ?
และอะไรคือความท้าทาย ที่เวียดนามกำลังเผชิญ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ที่ผ่านมา เวียดนามเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
เพราะหลายบริษัทข้ามชาติ ต้องเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ จีน+1 หรือก็คือการหาที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่นอกประเทศจีน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง จากการถูกกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษี
นอกจากนี้ ยังเป็นการหนีจากปัญหาโครงสร้างประชากรของจีน ที่วัยแรงงานเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่ไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม ก็มีตั้งแต่ Apple, Samsung, LG และ Panasonic
ทำให้ตอนนี้ ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมื่อเทียบกับ GDP ของเวียดนาม สูงถึง 4.4%
ซึ่งมากกว่าทั้งฟิลิปปินส์, ไทย และอินโดนีเซีย ที่อยู่ที่ 2.3%, 2.1% และ 1.6% ตามลำดับ
หลายคนอาจสงสัยต่อว่า แล้วทำไมหลายบริษัทข้ามชาติ ถึงเลือกที่จะไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม
นั่นก็เป็นเพราะว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
1. ความเป็นมิตรกับทั้งจีนและสหรัฐฯ
ความสำเร็จในการใช้นโยบายการทูตแบบไผ่ลู่ลมของเวียดนาม ที่เน้นรักษาความเป็นกลางทางการทูต ทำให้เวียดนาม กลายเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับทั้งจีนและสหรัฐฯ โดยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีระดับความสัมพันธ์ในขั้นสูงสุดกับทั้งสหรัฐฯ และจีน
แถมยังเป็นประเทศเดียวที่ได้ต้อนรับการมาเยือนของทั้ง สี จิ้นผิง และโจ ไบเดน ในปีที่ผ่านมา..
ด้วยความที่อยู่ตรงกลางและไม่มีปัญหากับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจ ก็ได้ทำให้เวียดนามกลายเป็นเหมือนหลุมหลบภัยสำหรับหลายบริษัทข้ามชาติ
2. ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ
เวียดนามมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าหลายประเทศ โดยมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง อยู่ที่ 23-33 บาทต่อชั่วโมง
โดยถ้าเทียบชั่วโมงการทำงานที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ 182-262 บาทต่อวันเท่านั้น หรือต่ำกว่าไทยถึง 37%
และค่าแรงที่ต่ำนี้ ก็เป็นเหมือนแม่เหล็กชิ้นสำคัญ ที่ดึงดูดหลายบริษัทข้ามชาติให้เข้าไปตั้งฐานการผลิต เพราะต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ ก็หมายถึงกำไรที่มากขึ้นนั่นเอง
3. การให้สิทธิประโยชน์ในหลายด้าน
เวียดนามมีการให้สิทธิประโยชน์ในหลายด้านกับบริษัทข้ามชาติ
เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ถึงแม้จะอยู่ที่ 20% เท่าบ้านเรา แต่ก็มีนโยบายช่วยเหลือต่าง ๆ ออกมา จนเหลือจ่ายจริงแค่ 5% และยังมีบางช่วงที่มีระยะเวลายกเว้นภาษี
นอกจากนี้ยังมีการแก้กฎหมายร่วมทุน การยกเว้นการขอใบอนุญาตทางธุรกิจเพิ่มเติม และอีกหลายนโยบายที่มีการแก้ไขให้เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ
4. ข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ
เวียดนามมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) กับอีกหลายคู่ค้าทั่วโลก
ทำให้ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานในเวียดนาม สามารถส่งออกสินค้าไปขายได้ยังหลายประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษี
และ FTA ที่สำคัญที่สุดเลย ก็คือ FTA ระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ที่ทำให้บริษัทในเวียดนามสามารถเข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 448 ล้านคน ใน 27 ประเทศได้ โดยไม่ต้องเจอกับกำแพงภาษี
นับเป็นแต้มต่อที่สำคัญของเวียดนาม เพราะทั้งไทยและอินโดนีเซีย ยังไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป..
ทั้ง 4 ข้อนี้ คือเสน่ห์ของเวียดนาม ที่ทำให้หลายบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ หลงใหลในดินแดนแห่งนี้ และแห่เข้าไปลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของเวียดนามก็ต้องเจอกับความท้าทาย เมื่อหลายบริษัทข้ามชาติ กำลังเริ่มไม่มั่นใจในเวียดนาม เหมือนเคย
โดยถ้าจะให้พูดถึงเหตุผลของเรื่องนี้ ก็ต้องขอเท้าความก่อนว่า
เวียดนามเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ เพียงพรรคเดียว ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศมาตลอด 70 ปี
ฟังดูแล้วอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่หลายคนชื่นชอบ
แต่นี่เป็นหนึ่งในข้อดี ที่ทำให้มีหลายบริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะมองว่ามีความมั่นคงและมีเสถียรภาพด้านการเมือง และมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ต่อเนื่อง
ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม มีนโยบายสำคัญคือการปราบปรามการคอร์รัปชัน โดยมีการไล่เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรค นักธุรกิจ ตลอดจนนายพล ไปแล้วนับร้อยคนในช่วงที่ผ่านมา
แม้จะดูเหมือนเป็นนโยบายที่ดี แต่ตอนนี้ นโยบายที่ว่ากำลังทำให้เกิดข้อสงสัยและปัญหาตามมา
สิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มสงสัยกันก็คือ นโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามการคอร์รัปชันจริง ๆ หรือเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการควบรวมอำนาจ ตลอดจนเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
นอกจากนี้ยังมีกรณีจับกุมตัวสื่อมวลชน หรือนักกิจกรรมภาคประชาชน ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ
โดยตามรายงานจาก Human Rights Watch เวียดนามมีการจับกุมและกักบริเวณ นักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ 170 คน ในช่วงปี 2547-2564
ทำให้มีการตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า นโยบายนี้มีจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร แต่ผลกระทบของมันได้เกิดขึ้นแล้ว
เพราะนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายคน กังวลว่าตนเองจะโดนดำเนินคดีด้วยข้อหาคอร์รัปชัน จึงไม่กล้าอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการลงทุนต่าง ๆ
ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก็มีทั้ง การขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จากการที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุมัติสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากขาดลายเซ็นจากเจ้าหน้าที่
และที่ทำให้เกิดผลกระทบมากที่สุด คือความล่าช้าในการอนุมัติโครงการพลังงาน ที่มีส่วนทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน จนส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิต
ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มลังเลใจที่จะลงทุน และอาจถอนการลงทุนออกจากเวียดนาม
จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็ทำให้ภาคธุรกิจเป็นอัมพาตได้ โดยเฉพาะเมื่อการบังคับใช้ถูกมองว่าคลุมเครือ และมีจุดประสงค์ทางการเมือง
ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เอง ก็กำลังทำให้ต่างชาติเริ่มไม่มั่นใจในเวียดนามเหมือนแต่ก่อน
ซึ่งยังมีอีกหลายปัจจัย ที่กำลังลดทอนความเชื่อมั่นในเวียดนาม ของนักลงทุนต่างชาติ เช่น
- การเมืองเวียดนามที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม มักเป็นความลับ
- ความสัมพันธ์ทางการทูตที่เคยทำได้สำเร็จ วันนี้กำลังถูกบีบให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น
- การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ยังติดปัญหาในหลายเรื่อง
- ข่าวการทุจริตและฉ้อโกง ของภาคธุรกิจในเวียดนาม
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเวียดนามเป็นประเทศเสน่ห์แรง เนื่องจากมีจุดเด่นหลายอย่าง ที่ทำให้หลายบริษัทข้ามชาติเชื่อว่า การมาตั้งโรงงานในที่แห่งนี้ จะทำให้พวกเขาได้รับความมั่นคง และมีกำไรที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ อีกด้านหนึ่ง เวียดนาม ก็กำลังเจอความท้าทายที่ต้องจัดการ
เพราะระบอบการปกครอง และนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชัน กำลังถูกตั้งข้อสงสัย
รวมถึงปัญหาอีกหลายประเด็น ที่ค่อย ๆ โผล่ออกมาให้เห็น ทั้งในภาคเศรษฐกิจและธุรกิจ
ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในเวียดนามเหมือนแต่ก่อน
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม จะสามารถทำลายข้อสงสัย และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ กลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ ถือเป็นจิกซอว์สำคัญของความรุ่งโรจน์ ของเวียดนาม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.vietnam-briefing.com/doing-business-guide/vietnam/human-resources-and-payroll/minimum-wage
-https://www.vietnam-briefing.com/doing-business-guide/vietnam/human-resources-and-payroll/labor-law#:~:text=The%20working%20hour%20limit%20is,and%20200%20 hours%20a%20 year.
-https://www.mol.go.th
-https://unctad.org/ublication/world-investment-report-2023
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.ADJ.NNTY.PC.CD?locations=VN-TH-ID-PH
-https://data.worldbank.org/indicator/BX.KLT.DINV.WD.GD.ZS?contextual=default&end=2022&locations=VN-TH-ID-PH-MY&start=1970&view=chart
-https://europetouch.mfa.go.th
-https://thediplomat.com/2024/01/how-to-break-the-deadlock-in-the-indonesia-eu-trade-talks/
-https://thaipublica.org/2024/02/pridi394/
-https://www.reuters.com/world/asia-pacific/vietnams-anti-graft-crackdown-chills-supply-chains-investment-2022-11-28/
-https://www.economist.com/asia/2024/01/23/few-countries-are-better-placed-than-vietnam-to-get-rich
-https://www.bbc.com/thai/articles/cn30myk3dngo
-https://www.bbc.com/thai/articles/cyew1ly2p25o
-https://www.the101.world/corruption-crackdown-in-vietnam/
-https://www.voathai.com/a/vietnam-bright-spot-tk/4613595.html
-https://www.bbc.com/thai/thailand-63071744
-https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=NnVZenExb2ZkK009
-https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/103674
-https://infocenter.git.or.th/article/article-20230201
-https://thematter.co/brief/207544/207544#google_vignette
-https://fulcrum.sg/the-unexpected-twist-in-vietnams-renewable-energy-saga/
-https://fulcrum.sg/can-vietnam-reach-its-offshore-wind-power-goals/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.