สรุปวิกฤติอียิปต์ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย 27% ในโพสต์เดียว

สรุปวิกฤติอียิปต์ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย 27% ในโพสต์เดียว

9 มี.ค. 2024
สรุปวิกฤติอียิปต์ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย 27% ในโพสต์เดียว /โดย ลงทุนแมน
ถ้าเราลองหลับตาลง แล้วจินตนาการไปพร้อมกับลงทุนแมนว่า หากเราตื่นนอนขึ้นมา แล้วเจอกับ
- ข้าวของในประเทศ แพงขึ้น 30%
- ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เพิ่มขึ้น 27%
ก็คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะอยู่ดี ๆ ค่าครองชีพแทบทุกอย่างของเรา เพิ่มขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศอียิปต์ ที่ตอนนี้คนอียิปต์ กำลังเผชิญชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วอะไรที่ทำให้อียิปต์ มาอยู่จุดนี้ได้
ดินแดนฟาโรห์แห่งนี้ กำลังเจอกับวิกฤติอะไรอยู่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้ไหมว่า จริง ๆ แล้วคนอียิปต์ เคยรวยกว่าคนไทย โดยเมื่อปี ค.ศ.1960 หรือราว 64 ปีที่แล้ว
คนอียิปต์ มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 3,160 บาทต่อปี ในขณะที่คนไทยตอนนั้น มีรายได้ต่อหัวเพียง 2,140 บาทต่อปีเท่านั้น
ซึ่งในตอนนั้น เศรษฐกิจอียิปต์รุ่งเรืองมาก เพราะมีทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่าง “น้ำมันดิบ” ที่สามารถใช้และส่งออกไปยังต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าของโลก ทั้งทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป ด้วยคลองสุเอซ ที่ภาคการขนส่งสร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 180,000 ล้านบาท
และยังมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เดินทางมาเยี่ยมชมมหาพีระมิดกีซา จนทำให้อียิปต์มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
แต่ภาพความโชติช่วงของเศรษฐกิจ กลับเริ่มมอดลง ทีละเล็กทีละน้อย จนประเทศเริ่มเข้าสู่ความมืดมน และทำให้อียิปต์ เจอกับวิกฤติเศรษฐกิจมาถึงทุกวันนี้
ซึ่งสาเหตุของวิกฤติที่ว่า ก็มาจาก..
1) การวางแผนเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
ในช่วงปี 1962 เป็นต้นมา อียิปต์ใช้นโยบายการตรึงค่าเงินปอนด์อียิปต์ของตัวเองไว้คงที่ โดยอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 0.4 ปอนด์อียิปต์
ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศมีเสถียรภาพ ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และการนำเข้าของประเทศ
แต่กลับส่งผลเสียต่อภาคการส่งออกของอียิปต์ เพราะทำให้สินค้าส่งออกของอียิปต์ ดูแพงขึ้นในสายตาของต่างประเทศ
ทั้ง ๆ ที่สินค้าส่งออกหลักของอียิปต์ หากไม่นับน้ำมันเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก และต้องสู้ด้วยเรื่องราคาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร ไหม ฝ้าย สิ่งทอ
อีกทั้งภาคธุรกิจ ยังไม่ถูกเหลียวแลจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลมุ่งเน้นแต่แปรรูปเอกชน ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ และไม่สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
ทำให้ภาคการส่งออกอียิปต์ ขาดความสามารถในการแข่งขัน
พอเป็นแบบนี้ อียิปต์จึงเริ่มนำเข้า มากกว่าส่งออก
หรือขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1960
จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มผันผวน
ซึ่งธนาคารกลางอียิปต์เอง ก็พยายามควบคุมค่าเงินให้คงที่ โดยแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนหลายครั้ง จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างหนัก
และในที่สุดต้องกู้เงินครั้งแรกจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาชดเชย ในปี 2016 ที่ผ่านมา
แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น จนต้องขอกู้ IMF เพิ่มอีกในเวลาต่อมา..
2) ประชากรในประเทศ ที่เพิ่มเร็วเกินไป
เมื่อ 60 ปีก่อน คนอียิปต์มีเพียง 27 ล้านคน เท่า ๆ กับคนไทยในตอนนั้น แต่ปัจจุบัน อียิปต์มีประชากรแซงไทย และมากถึง 113 ล้านคน
ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ อาหารไม่พอ เพราะอียิปต์มีพื้นที่ทะเลทรายมากถึง 96% แถมยังเพาะปลูกได้เฉพาะบริเวณปากแม่น้ำไนล์ตอนเหนือเท่านั้น
พอเป็นแบบนี้ ทำให้อียิปต์จำเป็นต้องนำเข้าอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาลี ที่เป็นอาหารหลัก
และไม่เพียงแค่นี้ เพราะปัจจุบัน อียิปต์ผลิตน้ำมันได้ 680,000 บาร์เรลต่อวัน แต่คนอียิปต์ ต้องการใช้น้ำมันถึง 877,000 บาร์เรลต่อวัน
ดังนั้นอียิปต์ จึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน แม้สามารถผลิตน้ำมันในประเทศได้ก็ตาม
เมื่อต้องนำเข้าน้ำมันและอาหารมากขึ้น ก็ยิ่งซ้ำเติมทำให้ประเทศขาดดุลการค้ามากขึ้นไปอีก
3) อียิปต์ เจอความขัดแย้งรอบด้านบ่อยครั้ง
แม้จะโชคดีเรื่องทำเลที่ตั้ง ที่สามารถควบคุมการค้าโลกผ่านคลองสุเอซได้ แต่ดินแดนตรงนี้ ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมายเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ ที่อียิปต์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทำให้งบประมาณประเทศ ต้องทุ่มไปกับการทหารจำนวนมาก
ซึ่งเงินตรงนี้ เคยสูงถึงเกือบ 20% ของ GDP ประเทศ
และรัฐบาลอียิปต์ก็ต้องใช้วิธีขาดดุลงบประมาณ โดยการก่อหนี้สาธารณะ และทำให้หนี้สาธารณะของอียิปต์ ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนมีระดับ 90% ของ GDP ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤติอาหรับสปริง ที่ทำให้อียิปต์เกิดความไม่สงบในประเทศ และล่าสุด ก็มีกลุ่มฮูตี ที่มีการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงในปัจจุบัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวอียิปต์ ที่เคยคิดเป็น 16% ของ GDP กระทบอย่างหนัก จนลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียง 4% ของ GDP ในปี 2020

แถมคลองสุเอซ ที่เป็นอีกเส้นเลือดสำคัญ ก็มีรายได้ที่ลดลงตามมาด้วย
จากมรสุม 3 ด้านที่เข้ามาต่อเนื่อง ทำให้อียิปต์เจอกับวิกฤติเศรษฐกิจมาถึงปัจจุบัน และในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ยิ่งทำร้ายอียิปต์มากขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้อียิปต์ต้องนำเข้าข้าวสาลีและน้ำมันในราคาแพงขึ้น จนประเทศยิ่งขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แถมยังทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งคนอียิปต์ก็ต้องจ่ายเงินในชีวิตประจำวันแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ประเทศ มีคนจนมากถึง 32.5% ของประชากรทั้งหมด
สุดท้าย ปัจจุบันอียิปต์ตัดสินใจลอยตัวค่าเงิน
จนค่าเงินอ่อนลง 38% และเร่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในประเทศ จนขึ้นมาอยู่ที่ 27% เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่สูงถึง 30%
โดยที่ทำไปทั้งหมดนี้ นอกจากแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังเพื่อต้องการได้เงินกู้จาก IMF เพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 106,000 ล้านบาท
เพราะ IMF เองมีเงื่อนไขว่า หากอยากกู้เพิ่ม อียิปต์ ต้องปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศให้ได้
ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ก็ต้องยอม เพราะหากต้องกู้เงินในประเทศต่อไป ก็ยิ่งไปแย่งแหล่งเงินทุนกู้ยืมจากภาคเอกชน และทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก
และหากจะหาแหล่งกู้จากต่างประเทศ การที่อียิปต์เจอวิกฤติเศรษฐกิจมากขนาดนี้ ก็คงไม่มีเจ้าหนี้ประเทศไหน อยากปล่อยกู้ให้กับอียิปต์มากนัก
แต่การที่รัฐบาลอียิปต์ ดำเนินนโยบายผิดพลาด จนต้องยอม IMF ก็มีต้นทุนแฝงที่ต้องแลกกลับมาเช่นกัน ทั้งชาวอียิปต์ ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และลูกหลานชาวอียิปต์ ที่มีภาระต้องชดใช้หนี้ในระยะยาว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.