ตลท. เพิ่มมาตรการเครื่องหมาย C หรือ Caution เพื่อช่วยเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ตลท. เพิ่มมาตรการเครื่องหมาย C หรือ Caution เพื่อช่วยเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

25 มี.ค. 2024
SET x ลงทุนแมน
ล่าสุด ตลท.เพิ่มมาตรการเครื่องหมาย C หรือ Caution
เพื่อช่วยเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
โดยเครื่องหมาย C จะถูกแบ่งย่อยตามสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น
- CB (Business) ฐานะการเงิน
- CS (Financial Statements) งบการเงิน
- CC (Non-Compliance) ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์
- CF (Free Float) สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์
ผู้ลงทุนจะสามารถซื้อหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย C ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น..
เครื่องหมาย C คืออะไร และผู้ลงทุนได้ประโยชน์อะไรจากเครื่องหมายนี้
เครื่องหมาย C หรือ Caution เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงิน และการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีเกณฑ์ปรับเครื่องหมาย C ใหม่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแยกประเภทเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนเห็นถึงความเสี่ยงในด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C ผู้ลงทุนจะต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance และบริษัทจดทะเบียนจะต้องจัดประชุม เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
เรามาดูรายละเอียดของเกณฑ์เครื่องหมาย C ใหม่นี้ไปด้วยกัน
1. เครื่องหมาย CB (Business) แสดงถึงความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงิน
เดิมตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวการพิจารณาขึ้นเครื่องหมาย C จากเหตุ ดังนี้
- ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว โดยพิจารณาจากงบไตรมาส หรืองบปี
- ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หรือล้มละลาย จะพิจารณาเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว
- หน่วยงานกำกับดูแลสั่งแก้ไขฐานะการเงิน / ระงับการดำเนินงานบางส่วน /
ไม่ให้ขยายธุรกิจชั่วคราว ซึ่งมีผลต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณาเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว
และล่าสุดได้เพิ่มเหตุพิจารณาที่ครอบคลุมเรื่องความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ประกอบไปด้วย
- บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีได้จากการดำเนินงานน้อยกว่า 100 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท ตามลำดับ โดยพิจารณาจากงบการเงินประจำปี
- มีผลขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง 3 ปี จนส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าทุนชำระแล้ว โดยพิจารณาจากงบการเงินประจำปี
- มีการผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน หรือตราสารหนี้ โดยพิจารณาเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
2. เครื่องหมาย CS (Financial Statements) แสดงถึงความเสี่ยงด้านงบการเงิน
เหตุเดิม ก.ล.ต. สั่งแก้ไขงบการเงิน หรือมีคำสั่งให้ทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) และได้ขยายเหตุการพิจารณากรณีรายงานของผู้สอบบัญชีมีลักษณะไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินทุกกรณี โดยพิจารณาจากงบรายไตรมาส หรืองบรายปี
3. เครื่องหมาย CC (Non-Compliance) แสดงถึงการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์
เดิมเกณฑ์จะครอบคลุมถึงกรณีบริษัทจดทะเบียนที่มีสินทรัพย์ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ในรูปของเงินสดหรือหลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company) และได้เพิ่มเหตุกรณีคณะกรรมการตรวจสอบ Audit Committee (AC) มีจำนวนน้อยกว่า 3 คน เป็นระยะเวลานานเกิน 3 เดือน
4. เครื่องหมาย CF (Free Float) สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงมาตรการดำเนินการเพื่อเร่งให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพราะสภาพคล่องของหลักทรัพย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่บริษัทจดทะเบียน อันจะส่งผลให้สามารถระดมทุนได้ง่ายและประสบความสำเร็จ โดยกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องดำรงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) รวมกันไม่น้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ราย หากไม่เป็นตามที่กำหนดจะถูกขึ้นเครื่องหมาย CF นั้นเอง
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดของเครื่องหมาย C ทั้ง 4 ประเภท ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมเหตุต่างมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้เป็นการเตือนผู้ลงทุนสามารถก่อนตัดสินใจลงทุนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนสามารถติดตามรายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C ประเภทต่าง ๆ ได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/surveillance-c-sign-temporary-trading/summary
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.