ทำไมรัฐบาล ถึงต้องกดดันแบงก์ชาติ ให้ลดดอกเบี้ย ?

ทำไมรัฐบาล ถึงต้องกดดันแบงก์ชาติ ให้ลดดอกเบี้ย ?

9 เม.ย. 2024
ทำไมรัฐบาล ถึงต้องกดดันแบงก์ชาติ ให้ลดดอกเบี้ย ? /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงที่ผ่านมา เรามักจะเห็นผู้คนจากภาคส่วนต่าง ๆ มีการถกเถียงกันเรื่องอัตราดอกเบี้ย ว่าถึงเวลาที่ควรจะลดแล้วหรือยัง ?
โดยฝั่งที่อยากให้ลดดอกเบี้ยซึ่งก็คือรัฐบาล มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่
ในขณะที่แบงก์ชาติ ผู้รับผิดชอบในการปรับอัตราดอกเบี้ย กลับมองต่างออกไป และไม่คล้อยตามแรงกดดันจากรัฐบาล
ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย การที่รัฐบาลและแบงก์ชาติ มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น เกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการกดดันให้ลดดอกเบี้ย
แล้วอะไรคือต้นเหตุของความขัดแย้งที่ว่านี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ กลไกของภาครัฐ ในการควบคุมเศรษฐกิจกันก่อน
ถ้าหากเราพูดถึงบทบาทของภาครัฐ ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 บทบาทใหญ่ ๆ ได้แก่
- ธนาคารกลาง ซึ่งเป็นผู้ดูแล “นโยบายการเงิน”
- รัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ดูแล “นโยบายการคลัง”
โดยธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติ จะดูแลเศรษฐกิจ ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินฝาก ที่เราเห็นจากธนาคารต่าง ๆ ก็จะอ้างอิงมาจากดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง
ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย เรามักจะเห็นธนาคารกลาง ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย
เมื่อดอกเบี้ยลดต่ำลง ก็จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ผู้ที่ต้องการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ หรือบริษัทที่เล็งจะลงทุนในโครงการต่าง ๆ จะตัดสินใจกู้ได้ง่ายขึ้น เพราะต้นทุนการกู้ยืมเงินต่ำลง การลงทุนให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น
รวมถึงส่งผลให้ประชาชนทั่วไป ผู้ที่ฝากเงิน นำเงินออกมาใช้จ่าย หรือไปลงทุนมากขึ้น เพราะมองว่าผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยลง ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะฝากเงินอยู่เฉย ๆ
และนอกจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ในบางครั้ง ธนาคารกลาง อาจเลือกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ ทั้งจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน
หรือพูดง่าย ๆ ว่าธนาคารกลาง เป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาล หรือเอกชนเอง เพื่อนำเงินไปลงทุนต่อ
และทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ มีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมากขึ้นตามไปด้วย และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
โดยเราจะเรียกนโยบายการเงินแบบนี้ว่า “นโยบายการเงินแบบขยายตัว”
ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงมาก จนเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ หรือเงินเฟ้อสูง
ธนาคารกลาง ก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง ผ่านการเพิ่มต้นทุนทางการเงิน ทำให้คนกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายน้อยลง การลงทุนต่าง ๆ ลดลง
รวมถึงธนาคารกลางอาจขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ซื้อมา เพื่อดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งเราจะเรียกนโยบายการเงินแบบนี้ว่า “นโยบายการเงินแบบหดตัว”
โดยนอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ธนาคารกลางก็มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินอีกด้วย
มาถึงอีกบทบาทหนึ่ง นั่นก็คือ รัฐบาล..
ซึ่งเครื่องมือสำคัญ ที่รัฐบาลใช้ดูแลระบบเศรษฐกิจหลัก ๆ ก็คือ การจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล
โดยรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้ 2 แบบ คล้ายกับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ก็คือ
- นโยบายการคลังแบบขยายตัว
- นโยบายการคลังแบบหดตัว
สำหรับนโยบายการคลังแบบขยายตัว ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย
รัฐบาลอาจประกาศลดอัตราภาษีลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า รัฐบาลยอมลดรายได้ของตัวเอง เพื่อให้ประชาชน รวมถึงบริษัทต่าง ๆ มีเงินมากขึ้น สำหรับนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนอื่น ๆ
อีกทั้งรัฐบาลอาจอัดฉีดงบประมาณ ลงไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กันด้วย
การลดรายได้ของตัวเองให้ต่ำลง สวนทางกับรายจ่ายจากการอัดฉีดงบประมาณที่มากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย
เราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “งบประมาณขาดดุล”
ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไป
รัฐบาลอาจประกาศขึ้นอัตราภาษี รวมถึงลดการอัดฉีดงบประมาณลง เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ซึ่งอาจจะทำให้รายได้ของรัฐบาล มีมากกว่ารายจ่าย
โดยเราจะเรียกกรณีนี้ว่า “งบประมาณเกินดุล”
โดยทั่วไป การดำเนินนโยบายการเงิน ของธนาคารกลาง
และการดำเนินนโยบายการคลัง ของรัฐบาลนั้น ควรมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
มาถึงคำถามสำคัญ “แล้วทำไมรัฐบาล ถึงมักกดดันให้ธนาคารกลาง ลดดอกเบี้ย ?”
คำตอบก็คือ เพราะรัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจมีการเติบโต ในช่วงที่ตัวเองบริหาร
ซึ่งการมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ก็เอื้อให้เกิดการใช้จ่าย การลงทุนที่มากขึ้น อย่างที่กล่าวไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารกลางต้องการมากที่สุด ไม่ใช่การเติบโต แต่เป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในระยะยาว
ดังนั้น ในบางช่วงเวลา ธนาคารกลาง จึงอาจดำเนินนโยบายในทิศทางแตกต่างจากรัฐบาล เพราะกังวลว่า การลดดอกเบี้ยในเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และค่าเงินอ่อนตัวลงได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ
ส่วนในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ อยู่ในภาวะวิกฤติ และจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น ซึ่งเราอาจเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้ประเทศไทย จำเป็นต้องมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยหนึ่งในตัวอย่างก็คือ โครงการ Digital Wallet ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 560,000 ล้านบาท
ด้วยจำนวนเงินที่มหาศาล คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการกู้เงิน ไม่ว่าจะกู้ผ่านสถาบันการเงิน หรือออกพันธบัตรรัฐบาล
ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตามมา
เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ก็จะทำให้ภาระตรงนี้ เบาลงนั่นเอง
แต่เมื่อเราหันไปมองฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากถึง 8 ครั้ง
ทำให้อัตราดอกเบี้ยซึ่งเคยอยู่ที่ 0.5% ในปี 2565 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% ในตอนนี้ โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
และเพื่อป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลออกจากประเทศมากจนส่งผลกระทบกับค่าเงินบาท โดยการไม่ให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย กับประเทศอื่น ต่างกันมากจนเกินไป จากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา
จากรายงานการประชุม ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เท่าเดิม
โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อที่ลดลง มาจากการอุดหนุนราคาพลังงาน โดยถ้าหากรัฐบาลเลิกอุดหนุนเมื่อไร เงินเฟ้อก็จะกลับมา
และหนี้ครัวเรือนไทย ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งการลดดอกเบี้ย อาจกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก
ทำให้ กนง. มองว่า ยังไม่ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ในเวลานี้
มาถึงตรงนี้ ทุกคนก็คงจะรู้จัก นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง รวมถึงเหตุผลที่รัฐบาล ออกมากดดันแบงก์ชาติ ให้ลดดอกเบี้ยแล้ว เพราะต่างฝ่าย ต่างมีเหตุผลของตัวเอง
ซึ่งก็ต้องรอดูท่าทีหลังจากนี้ ว่าแนวโน้มการปรับดอกเบี้ย จะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
สิ่งที่ควรจะเป็น และควรให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือ ทั้งรัฐบาลและแบงก์ชาติ ต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจ “เติบโต” และมี “เสถียรภาพ” ไปพร้อม ๆ กัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20240207.html
-https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-66-3/TheKnowledge_policyrate.html
-https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1116013
-https://www.oknation.net/post/detail/634f79b7f5d63d42014fec5d
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.