อิสราเอล จากเมืองทะเลทราย สู่ผู้นำ เกษตรกรรมทันสมัย

อิสราเอล จากเมืองทะเลทราย สู่ผู้นำ เกษตรกรรมทันสมัย

14 เม.ย. 2024
อิสราเอล จากเมืองทะเลทราย สู่ผู้นำ เกษตรกรรมทันสมัย /โดย ลงทุนแมน
ประเทศที่ถูกปกคลุมด้วยทะเลทรายกว่าครึ่งหนึ่ง และมีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียง 20% แถมยังมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม
แต่ปัจจุบัน อิสราเอล สามารถพลิกทะเลทรายให้สามารถปลูกพืชได้ จนกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก
และยังมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคมากพอที่จะส่งออกได้อีกด้วย
อิสราเอล ทำได้อย่างไร ทำไมถึงพลิกทะเลทราย ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อิสราเอล เป็นดินแดนที่อยู่ระหว่าง 3 ทวีป คือ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ประชากรที่นี่ จึงมีความหลากหลาย
หนึ่งในนั้น ก็คือ “ชาวยิว” ที่เคยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ และกลับมาที่นี่อีกครั้ง เป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่เริ่มทำเกษตรกรรมทันสมัยในอิสราเอล
โดยช่วงเริ่มแรกนั้น ผืนดินในอิสราเอลมีปัญหา และไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย
ประกอบกับปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ และแหล่งน้ำที่ขาดแคลน อีกทั้งปริมาณฝนในแต่ละปีก็น้อย
แต่ชาวอิสราเอลก็แก้ปัญหา ด้วยการใช้สารเคมีปรับหน้าดินให้มีคุณภาพอีกครั้ง จนสามารถแก้ปัญหาดิน และเพาะปลูกพืชได้สำเร็จ
จบจากเรื่องดิน ก็คือ “เรื่องน้ำ” ที่ยังมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ
เพราะอิสราเอลมีแหล่งน้ำจืดเพียง 2 แห่ง คือ ทะเลสาบกาลิลี และแม่น้ำจอร์แดน
โดยแหล่งน้ำจืดทั้ง 2 นั้น อยู่ทางตอนเหนือของประเทศและติดกับจอร์แดน ก็มีปัญหาในการใช้งาน เนื่องจากอิสราเอลเป็นชนชาติยิว ซึ่งมีความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศอาหรับที่เป็นชาติมุสลิม
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ ทำให้อิสราเอลจำเป็นต้องหาทางออกในการหาน้ำให้เพียงพอ
โดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรรม ที่สำคัญอย่างมากกับประเทศเกิดใหม่ ที่ต้องมีแหล่งอาหารเพียงพอสำหรับประชากรในประเทศ
ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ “National Water Carrier” ที่เป็นท่อลำเลียงน้ำจากทางเหนือของประเทศลงมาทางใต้
โครงการนี้ก่อสร้างมาอย่างยาวนาน ใช้เวลากว่า 16 ปี จนกระทั่งท่อส่งน้ำทั่วประเทศเสร็จสมบูรณ์ ในปี 1964
แต่หลังจากนั้นก็ยังมีปัญหาใหม่ตามมา..
แม้ว่าน้ำจะเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม แต่การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ได้กลายมาเป็นโจทย์ใหม่แทน
เพราะน้ำกว่า 80% ถูกใช้ไปกับภาคเกษตรกรรม
ซึ่งถือว่าสูงมาก จนทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอื่น และไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคของคนในประเทศ
ในปี 1956 คุณ Simcha Blass ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการน้ำเพื่อการเกษตร Netafim ก็ได้คิดค้นระบบน้ำหยด หรือ Drip Irrigation เพื่อแก้ปัญหาการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมได้สำเร็จ
วิธีการของเขาคือ แทนที่จะรดน้ำแบบทั่วไป ก็เจาะท่อหรือต่อสาย หยดน้ำลงบริเวณโคนของต้นไม้โดยตรง เพื่อให้ได้รับน้ำและสารอาหารโดยตรง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำได้มากถึง 75%
นอกจากนี้ อิสราเอลยังเน้นการปลูกพืชตระกูลถั่ว ที่มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูดิน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ควบคู่ไปกับการใช้น้ำที่น้อยลงอีกด้วย
นอกจากต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อิสราเอลรู้ดีว่า ความเสี่ยงของประเทศตัวเองคือ น้ำที่มีอาจไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของประเทศ
ดังนั้นในปี 2000 อิสราเอลจึงทุ่มเงินลงทุนกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน เพื่อกรองน้ำทะเลมาใช้งาน
ซึ่งตอนนี้ น้ำในประเทศกว่า 50% มาจากน้ำทะเลที่ผ่านการกรองแล้ว อิสราเอลจึงมั่นใจได้มากขึ้น ว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ
ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ในปี 1993 รัฐบาลอิสราเอล เห็นว่าอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี จะทำให้ธุรกิจในประเทศไปได้ไกลมากขึ้น
รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายที่มีชื่อว่า “Yozma” ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้เงินทุนกับเหล่าสตาร์ตอัป และสิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มเติม
รวมทั้งสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา จนกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเงินวิจัยและพัฒนา ต่อ GDP อยู่ที่ 4.8% ในปี 2022 ซึ่งมากที่สุดในโลก แซงหน้าเกาหลีใต้
พอเป็นแบบนี้ อิสราเอลจึงมีสตาร์ตอัป เกิดขึ้นใหม่มากมาย โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม ที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 348 บริษัท
ตัวอย่างก็เช่น
- Netafim บริษัทจัดการน้ำเพื่อการเกษตร
- SeeTree บริษัทที่ใช้ AI มาวิเคราะห์สุขภาพต้นไม้
- CropX บริษัทที่ใช้เซนเซอร์ติดตามความชื้นในดิน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อิสราเอล จะเปลี่ยนจากเมืองทะเลทราย มาสู่ผู้นำเกษตรกรรมทันสมัย
แม้จะเจอข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก รวมไปถึงความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศอาหรับ และปาเลสไตน์
แต่อิสราเอลก็สามารถพัฒนาเกษตรกรรมของตัวเองให้ดีขึ้นได้
แม้ว่าปัจจุบัน ภาคเกษตรกรรม ทำเงินให้ประเทศได้เพียง 2% เพราะเศรษฐกิจอิสราเอล ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง แต่อิสราเอลก็ยังมีผลผลิตทางการเกษตร เพียงพอต่อการบริโภค และบางส่วนยังสามารถส่งออกได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ การจ้างงานกว่า 99% ของแรงงานในประเทศ กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และบริการเป็นหลัก
ซึ่งด้วยระบบและเทคโนโลยีที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานทักษะสูงมากนัก
ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรม จะอาศัยแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน โดยหนึ่งในแรงงานหลักที่ว่า ก็คือคนไทย กว่า 20,000 คน ที่เข้าไปทำงานในภาคเกษตรกรรม ของอิสราเอล..
อย่างไรก็ตาม อิสราเอล กำลังเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสายตาชาวโลก จับจ้องมากที่สุด ณ เวลานี้ จากความขัดแย้งกับ อิหร่าน
ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะถูกยกระดับ จนลามไปดึงประเทศมหาอำนาจอื่น ให้มาร่วมวง และเกิดเป็นสงครามโลกหรือไม่ ?
แล้วชะตากรรมของดินแดนแห่งนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป
และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด
ซึ่งเราเห็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์มามากแล้ว ของผลลัพธ์จากสงคราม
สิ่งที่เกิดขึ้น
อาจทำให้ประเทศหนึ่ง ๆ ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม และความรุ่งเรือง
ต้องเหลือเพียงซากปรักหักพัง เท่านั้น..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.