ความเสี่ยงของ การกระจายความเสี่ยง..

ความเสี่ยงของ การกระจายความเสี่ยง..

ความเสี่ยงของ การกระจายความเสี่ยง.. /โดย ลงทุนแมน
“อย่าเอาไข่ทั้งหมด ไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว”
เป็นประโยคเชิงเปรียบเทียบในโลกของการลงทุนที่ว่า ไม่ควรเอาเงินทั้งหมดที่มี ไปทุ่มกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาด เราอาจจะสูญเสียเงินทั้งหมดได้
ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงนำไปสู่กลยุทธ์กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หรือ “Diversification”
เพื่อป้องกันการขาดทุนอย่างหนัก หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ หมดตัว.. จากการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นอุตสาหกรรม หรือตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้การ Diversification จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความเสียหายทั้งหมดจากการลงทุน
แต่มันก็มีข้อจำกัด และมีสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อใช้กลยุทธ์นี้
แล้วมีเรื่องอะไรที่ไม่ควรมองข้าม
การกระจายความเสี่ยง มีความเสี่ยงอะไรซ่อนอยู่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในทฤษฎีการเงินและการลงทุน ก็มีหลายแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยง หนึ่งในนั้นคือ การใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ
ซึ่งการกระจายการลงทุน มันก็แยกย่อยได้อีกหลายรูปแบบ เช่น
- กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ ฝากธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และคริปโทเคอร์เรนซี
- กระจายการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งต่างประเทศและในประเทศ
- กระจายการลงทุนในบริษัท ที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม
- กระจายการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ซึ่งเปรียบเสมือนการได้ลงทุนในหุ้นทุกตัวในดัชนีนั้น ๆ แทนที่จะลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือหุ้นเพียงไม่กี่ตัว
กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนนั้น มีการกระจายตัว ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นอุตสาหกรรม หรือตลาดใดตลาดหนึ่งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนไปได้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ “มากเกินไป” ก็มีสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน
แล้วมีอะไรบ้างที่เราต้องเข้าใจ และไม่ควรมองข้าม เวลาลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ?
1) มีโอกาสน้อย ที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับสูง หรือชนะตลาด
ส่วนใหญ่เวลาลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เราก็มักจะกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน
พอเป็นแบบนี้ เวลาที่สินทรัพย์บางอย่างให้ผลตอบแทนสูง อีกสินทรัพย์ก็อาจจะให้ผลตอบแทนในทิศทางสวนทางกัน ทำให้เมื่อมาเฉลี่ยรวมกันแล้ว มีโอกาสน้อยลง ที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับสูง ๆ
เช่น ในปีหนึ่งตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 10% ส่วนตลาดพันธบัตรให้ผลตอบแทน 5%
ถ้าเราเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้น แล้วได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด เราก็จะได้ผลตอบแทนเต็มที่ 10%
แต่ถ้าเราเอาเงินไปกระจายลงทุน ในหุ้นครึ่งหนึ่ง และพันธบัตรอีกครึ่งหนึ่ง
ผลตอบแทนที่เราได้ในปีนั้น ก็อาจจะอยู่ที่ราว ๆ 7.5%
หรือพูดง่าย ๆ คือ คนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนลักษณะนี้ อาจได้รับผลตอบแทนเพียงค่าเฉลี่ยของตลาดเท่านั้น
เรื่องนี้ Peter Lynch อดีตนักลงทุน และผู้จัดการกองทุนรวมชื่อดังชาวอเมริกัน เคยออกมาบอกว่า
จริงอยู่ที่ว่า การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ แต่นักลงทุนก็ไม่ควรกระจายความเสี่ยงมากจนเกินไป
เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทน เพียงแค่ในระดับเฉลี่ยแล้วนั้น การติดตามสินทรัพย์ในจำนวนที่มากเกินไป ก็ยังเป็นภาระของนักลงทุนเองด้วย
ซึ่ง Peter Lynch ก็เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ One Up On Wall Street ของเขาว่า
ถ้ากระจายการลงทุนมากจนเกินไป จากคำว่า Diversification อาจจะกลายเป็น “Diworsification” ที่แปลแบบง่าย ๆ ประมาณว่า “การกระจายการลงทุนที่แย่มาก”
และอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายการลงทุนมากเกินไป ก็คือ นักลงทุนในตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ รวมถึงคู่หูของเขา ชาร์ลี มังเกอร์
พวกเขามองว่า การกระจายการลงทุนมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องฉลาด เพราะนอกจากจะลดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้วย เพราะแทนที่จะโฟกัสกับการลงทุนในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญและเข้าใจมันจริง ๆ แล้ว กลับต้องกระจายไปลงทุนในสิ่งอื่น ที่เราเข้าใจและมั่นใจน้อยกว่า
หรือก็คือ แทนที่จะดูแล ไข่ในตะกร้าหลาย ๆ ใบจำนวนนับไม่ถ้วน
สู้ทุ่มเทดูแลไข่ในตะกร้าใบเดียว หรือเพียงไม่กี่ใบ เป็นอย่างดี อาจจะดีกว่า
2) มีภาระเรื่องค่าธรรมเนียมที่มากขึ้น
การที่นักลงทุนพยายามลดความเสี่ยง ด้วยการไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และในตลาดหลายแห่ง นอกจากจะมีภาระในเรื่องที่ต้องใช้เวลามากในการติดตามแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ ภาระเรื่อง “ค่าธรรมเนียม” ที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
เช่น ถ้าเรามีผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล
เขาก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ประเมินมูลค่า ศึกษาความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เราตั้งใจจะไปลงทุน เป็นจำนวนมาก ๆ หลายสินทรัพย์ หลายบริษัท ทำให้ค่าธรรมเนียมในการจัดการส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ การกระจายการลงทุนที่มากเกินไป อาจทำให้พอร์ตการลงทุนของนักลงทุน มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่คล้าย ๆ กันโดยไม่รู้ตัว หรือที่ทางคณิตศาสตร์เรียกว่า มี Correlation กัน ซึ่งในกรณีนี้ กลยุทธ์การกระจายการลงทุน ก็อาจไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงลงตามที่เราตั้งใจ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจ เรื่องของการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนไปบ้างพอสมควร
ซึ่งแน่นอนว่า การกระจายความเสี่ยงก็ยังมีความจำเป็น และมีประโยชน์ โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน และผู้ที่ต้องการรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม มันก็อาจทำให้เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในระดับสูง และเพิ่มภาระในการติดตามการลงทุนที่มากขึ้น นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.set.or.th/th/products/bonds/files/book2_diversification.pdf
-https://www.cnbc.com/2020/02/02/heres-why-diversification-can-be-an-investors-worst-enemy.html
-https://www.investopedia.com/articles/financial-theory/11/signs-of-over-diversification.asp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon