ทำไมธนาคาร ต้องรีบทำลายตัวเอง?

ทำไมธนาคาร ต้องรีบทำลายตัวเอง?

28 มี.ค. 2018
ทำไมธนาคาร ต้องรีบทำลายตัวเอง? / โดย ลงทุนแมน
วันนี้เราน่าจะได้เห็นข่าวธนาคารพากันลดค่าธรรมเนียม
จากเดิมรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นของหวานของธนาคาร
ทำไมธนาคารเลือกที่จะยกเลิกค่าธรรมเนียม
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะส่งผลกว้างกว่าที่เราคิด
เพราะอะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในจิตใต้สำนึกของคนไทยทุกคน..
การจ่ายค่าธรรมเนียมตอนโอนเงินข้ามธนาคารเป็น PAIN POINT ที่เป็นกระดูกชิ้นโตมานาน นานพอที่จะมีหลายบริษัทเล็งเห็นว่า ถ้าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ บริษัทนั้นก็จะประสบความสำเร็จ
ในช่วงหลังจึงเริ่มมีหลายบริษัทอยากทำเกี่ยวกับกระเป๋าเก็บเงินดิจิตอล (Digital Wallet) กันมากขึ้น หรือมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น เช่นระบบบล็อคเชน
และสิ่งที่ช่วยให้การลดค่าธรรมเนียมเป็นไปได้มากขึ้นอีกก็คือการมีระบบ Prompt Pay
โดยคอนเซ็ปของ Prompt Pay คือ จะไม่มีค่าธรรมเนียมในวงเงินที่กำหนด เมื่อโอนเงินข้ามธนาคาร
จุดสุดท้ายของเรื่องนี้ ทุกคนก็น่าจะเดาออกว่า ถ้าจะให้ประเทศเข้าสู่งสังคมไร้เงินสดได้
การทำธุรกรรมการเงินทุกอย่างควรจะมีค่าธรรมเนียมเป็น 0
เรื่องนี้เริ่มจากธนาคารผู้กล้าคนแรก คือ TMB ที่เล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จะชูจุดเด่นของธนาคารได้ จึงประกาศตัวมานานแล้วว่าถ้าเปิดบัญชี TMB ALL FREE ค่าธรรมเนียม การโอนเงิน การจ่ายบิลต่างๆ จะเป็น 0 (มีค่าธรรมเนียมบัตรรายปี)
เวลาผ่านไป ก็ดูเหมือนจะมีธนาคารเดียวที่จะกล้าพอ
แต่นับวัน เรื่องการฟรีค่าธรรมเนียมก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆจากทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงบริษัทเกิดใหม่หลายบริษัท ระบบบล็อกเชน payment gateway ต่างๆ
และ จุดเปลี่ยนก็มาถึงเมื่อไม่กี่วันมานี้..
วันที่ 26 มีนาคม 2561
เรื่องนี้เริ่มต้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตัดสินใจทำลายตัวเองก่อน ที่จะให้คนอื่นมาทำลาย
SCB เริ่มประกาศว่าจะยกเลิกค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน ในแอป SCB EASY ทั้งหมด
แน่นอนว่าน่าจะเป็นที่ถูกใจของหลายๆคน
แต่ใครจะไปคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มของสงครามระหว่างธนาคาร เพราะคู่แข่งอย่าง KBANK คงไม่ยอมให้ คนย้ายไปใช้ SCB
การได้ค่าธรรมเนียมน้อยลง ดีกว่า การเสียลูกค้าไปทั้งหมด เพราะสุดท้ายจะไม่ได้อะไรเลย
การมีลูกค้าก็อาจจะได้รายได้อื่นทางอ้อมเช่น รายได้จากประกัน รายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อ
ในวันที่ 28 มีนาคม 2561
KBANK ก็ต้องประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมในแอปเช่นกัน
ในวันที่ 29 มีนาคม 2561
KTB ก็ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมตามมา
และล่าสุด
ธนาคารกรุงเทพ ก็ประกาศว่าจะยกเลิกค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561
เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของธนาคาร
แต่ในขณะเดียวกันเอง ก็มีหลายกิจการที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่าง 2 บริษัท ซึ่งทั้งคู่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และก็เป็นสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน
บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด FSMART ซึ่งเป็นเจ้าของตู้บุญเติม
บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งถือหุ้น โดย CPALL หรือที่เรารู้จักในชื่อ 7-11 นี่เอง
ทั้ง 2 กิจการนี้มีอะไรเกี่ยวกับการฟรีค่าธรรมเนียมครั้งนี้
ทั้งสองกิจการนี้ มีลักษณะเหมือนกันคือการเป็นหนึ่งในช่องทางการ Payment
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
สมมติว่า ถ้าเราจะจ่ายค่าไฟหรือค่าน้ำ
เราก็อาจจะเดินไปจ่ายผ่านตู้บุญเติมหรือเดินเข้าไปในเซเว่น
เพื่อจ่ายผ่านเคาน์เตอร์พร้อมกับเสียค่าธรรมเนียมจึงจะสามารถชำระค่าน้ำ ค่าไฟได้
แต่เมื่อธนาคารใหญ่ๆอย่าง ไทยพาณิชย์ กสิกรและกรุงไทย ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม
เราเองก็คงไม่อยากที่จะเสียค่าธรรมเนียมพร้อมกับการที่จะต้องเดินไปจ่ายเงิน
ซึ่งการชำระเงินออนไลน์น่าจะเป็นคำตอบที่ดีเพราะสะดวกกว่าและฟรีค่าธรรมเนียม
แน่นอนว่าทั้ง 2 กิจการนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การจ่ายค่าน้ำค่า ไฟ แต่มีช่องทางสำหรับการเติมเงินมือถือหรือจ่ายบิลอื่นๆอีกมากมาย
ซึ่งตอนนี้การชำระเงินออนไลน์ผ่านมือถือ สามารถทำได้เกือบทั้งหมดพร้อมกับค่าธรรมเนียมฟรี
วิธีการชำระก็ง่ายมาก แค่เอามือถือของเราแสกนบาร์โค้ดผ่านกล้อง
ดังนั้น รายได้หลักของทั้ง 2 บริษัทนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
ปี 2559
บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส รายได้ 3,205 ล้านบาท
บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส รายได้ 2,245 ล้านบาท
วันนี้หุ้น CPALL และ FSMART ก็ได้ตอบรับข่าวนี้โดยมีราคาลดลง
ปีนี้เราคงต้องมาติดตามกันว่าทั้ง 2 บริษัทนี้จะมีทางแก้ปัญหานี้อย่างไร
แล้วธนาคารได้รับผลกระทบหรือไม่ ?
แน่นอนว่าธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 เจ้าที่ลดค่าธรรมเนียมคือ SCB KBANK KTB BBL น่ามีรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงทันที
วันนี้หุ้นธนาคาร จึงปรับตัวลดลงเช่นกัน
สำหรับธนาคารที่ไม่ได้ฟรีค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องลูกค้าหลายๆคนที่อาจจะย้ายไปหาธนาคารที่มีไม่คิดค่าธรรมเนียม
เราก็คงต้องดูกันว่า ธนาคารเจ้าอื่นๆที่ยังไม่ได้ฟรีค่าธรรมเนียม จะมีกลยุทธ์แบบไหนเพื่อป้องกันการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในครั้งนี้
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่า ค่าธรรมเนียมจะหายไปได้
เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะต้องจ่ายกันมาตลอด
เรื่องนี้อาจบอกได้ว่า
ไม่มีธุรกิจอะไรที่ยั่งยืนตลอดไป
ของที่เคยได้กินเปล่า
ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ถ้าเรามีธุรกิจอยู่
สิ่งที่เราควรทำก็คงจะเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
เพราะทุกๆอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ
เป็นสัจธรรมของโลกนี้
สงครามในครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร
แต่ที่รู้คือ คนที่อยู่ในสงครามน่าจะต้องสูญเสียกำลังพลไปมาก
และคนที่ปรับตัวไม่ทันก็คงต้องถูกทำลายไป เหมือนกับหลายบริษัทที่น่าจะหายไปกับเหตุการณ์ในครั้งนี้..
----------------------
<ad> ต่อไปนี้เราคงไม่ต้องรอคิวที่ธนาคาร แต่หากร้านกาแฟ คาเฟ่หรือธุรกิจของคุณมีปัญหาเรื่องคิว รับลูกค้าไม่ทัน
พนักงานไม่พอ หรือขี้เกียจตะโกนเรียก ให้เครื่องเรียกคิวไร้สาย QTY (คิวตี้) ช่วยคุณสิ
ติดต่อ 092-267-6233
Line : @qtyq FB : qtyqcalling Website : www.qtyqcalling.com
----------------------
Tag: bank
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.