เพราะเงินคือพระเจ้า.. สรุปตัวชี้วัดทางการเงิน ใช้วัดความแข็งแกร่งของธุรกิจ

เพราะเงินคือพระเจ้า.. สรุปตัวชี้วัดทางการเงิน ใช้วัดความแข็งแกร่งของธุรกิจ

เพราะเงินคือพระเจ้า.. สรุปตัวชี้วัดทางการเงิน ใช้วัดความแข็งแกร่งของธุรกิจ /โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางธุรกิจที่ขาดทุนมาโดยตลอด ยังคงดำเนินธุรกิจได้เรื่อย ๆ ในขณะที่บางธุรกิจ แม้จะกำไร แต่กลับล้มละลาย
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “สภาพคล่องทางการเงิน”
เพราะแม้แต่กิจการที่มีผลประกอบการดี เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็อาจประสบปัญหาถึงขั้นล้มลงได้ หากไม่สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในเมื่อเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินนั้นสำคัญ
แล้วอะไรบ้างที่จะเป็นตัวชี้วัดสภาพคล่องของกิจการ ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
1. อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน เป็นตัวบ่งบอกว่า กิจการมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ที่เพียงพอกับการชำระหนี้ระยะสั้นหรือไม่
อัตราส่วนนี้ควรมีค่ามากกว่า 1 และโดยปกติ ยิ่งมาก หมายถึงยิ่งมีสภาพคล่องดี
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสด, ลูกหนี้การค้า, สินค้าคงเหลือ รวมกัน 100 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียน 70 ล้านบาท เท่ากับว่า บริษัท A มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน 1.4 เท่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ การใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา “เงินสด” คือสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ทุกสินค้าหรือบริการ แทบทุกอย่าง
ในทางธุรกิจก็เป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน
เพราะไม่ว่าจะระดมทุน กู้ยืม จ่ายหนี้ ซื้อของหรือขายของ ก็มักจะอยู่ในรูปของเงินสดเสมอ
พูดได้ว่า เงินสดเป็นเหมือนอาหารที่คอยหล่อเลี้ยงกิจการ ก็คงไม่ผิดนัก
ดังนั้น เงินสดถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด
และเราสามารถวัดสภาพคล่องด้วยเงินสดได้ ผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ ดังนี้
2. อัตราส่วนเงินสด (Cash Ratio)
อัตราส่วนเงินสด = (เงินสด + รายการเทียบเท่าเงินสด) / หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนเงินสด เป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นเหมือนกับ Current Ratio
แต่จะต่างกันตรงที่ Cash Ratio จะนำเฉพาะเงินสดหรือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว เช่น เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง มาใช้ในการคำนวณ
หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการคิด Current Ratio ในเวอร์ชันที่ Conservative มากขึ้น และตัดความเสี่ยงของการแปลงสินทรัพย์อื่น เช่น สินค้าคงเหลือ มาเป็นเงินสดไม่ได้ทันที ออกไป
จากตัวอย่างเดิม สมมติว่าบริษัท A มีเงินสดและรายการเทียบเท่า อยู่ที่ 50 ล้านบาท เท่ากับว่า อัตราส่วนเงินสดของ A จะเท่ากับ 0.7 เท่านั่นเอง
3. วงจรเงินสด (Cash Cycle)
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า (วัน) + ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน) - ระยะเวลาชำระหนี้ (วัน)
วงจรเงินสด จะบอกช่วงเวลา ตั้งแต่รับวัตถุดิบมาเพิ่มมูลค่า หรือซื้อสินค้าเข้ามาเก็บ แล้วขายสินค้าออกได้ ไปจนถึงเก็บเงินจากลูกค้า
วงจรเงินสด ยิ่งน้อยหรือติดลบ จะยิ่งดี เพราะแสดงว่า กิจการสามารถเก็บเงินจากลูกค้าหรือลูกหนี้มาได้ ก่อนที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งแสดงถึงความคล่องตัวและอำนาจในการต่อรองที่ค่อนข้างสูงของกิจการ
กลับกัน ถ้าค่ามากหรือเป็นบวก อาจแสดงว่า กิจการกำลังมีปัญหาบางอย่าง เช่น สินค้าขายออกยาก, อำนาจต่อรองกับลูกค้าต่ำ จึงเก็บหนี้ได้ช้า และเงินสดจมไปกับลูกหนี้การค้า หรืออำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้ต่ำ ได้เครดิตเทอมสั้น หรือต้องจ่ายเป็นเงินสดทันที
ตัวอย่างเช่น บริษัท A
- มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 30 วัน
- มีระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย 2 วัน
- มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 60 วัน
เท่ากับบริษัท A มีวงจรเงินสด -28 วัน หรือสรุปได้ว่า หลังจากขายสินค้าและเก็บเงินได้แล้ว
โดยเฉลี่ยบริษัท A จะมีเวลาถึง 28 วัน ในการนำเงินไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ในกิจการได้ฟรี ๆ ก่อนจ่ายคืนเจ้าหนี้
4. กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)
กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) - ค่าใช้จ่ายการลงทุน (Capital Expenditures)
กระแสเงินสดอิสระ เป็นกระแสเงินสดที่คงเหลือ หลังจากหักค่าใช้จ่ายไปกับทุกกิจกรรมในการทำธุรกิจ ซึ่งรวมถึงเงินที่ใช้ลงทุน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย
โดยถ้ากิจการไหนมีกระแสเงินสดอิสระ ที่เป็นบวกอย่างเสมอ หรือเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็สะท้อนว่ากิจการนั้นมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 100 ล้านบาท
ขณะที่มีรายจ่ายด้านการลงทุน อยู่ราว 60 ล้านบาท เท่ากับว่า บริษัท A จะเหลือกระแสเงินสดอิสระอยู่ 40 ล้านบาทนั่นเอง
ซึ่งเงินตรงนี้ บริษัทก็สามารถนำเอาไปใช้จ่ายหนี้ จ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น หรือซื้อกิจการคู่แข่งได้
รวมถึงสะสมเป็นเกราะกำบัง เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต
จะเห็นได้ว่าในการดำเนินธุรกิจนั้น แน่นอนว่า การมีเงินสดอยู่ในปริมาณมาก ย่อมทำให้ธุรกิจมีความมั่นคง และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูให้ดีว่า ผู้บริหารมีความสามารถในการใช้เงินสด ไปต่อยอดสร้างประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน
และที่สำคัญ การวัดความแข็งแกร่งของธุรกิจ ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากมิติสภาพคล่อง ประกอบกันด้วย
ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงในแบรนด์, คุณค่าของผลิตภัณฑ์, ความสามารถในการทำกำไร, อำนาจในการขึ้นราคาสินค้า, ความยั่งยืนของธุรกิจ, ทักษะและความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร..
เพื่อให้เราได้ข้อมูลที่แสดงถึงศักยภาพของธุรกิจ อย่างครบถ้วน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon