ไมโครนีเชีย คนจนเกือบครึ่งประเทศ รายได้ส่งออก 98% มาจากสินค้าเกษตร

ไมโครนีเชีย คนจนเกือบครึ่งประเทศ รายได้ส่งออก 98% มาจากสินค้าเกษตร

ไมโครนีเชีย คนจนเกือบครึ่งประเทศ รายได้ส่งออก 98% มาจากสินค้าเกษตร /โดย ลงทุนแมน
ประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเล็กน้อย ที่ยังมีคนยากจนอยู่เกือบครึ่งประเทศ
โดยรายได้ส่งออกทั้งหมด มาจากสินค้าเกษตร 98%
ในขณะที่ไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครัวอาหารโลก มีรายได้ส่งออกทั้งหมด มาจากสินค้าเกษตรเพียง 17% เท่านั้น
ก็น่าจะเป็นภาพชัดว่า ประเทศแห่งนี้พึ่งพาภาคการเกษตรอย่างมาก
เรากำลังพูดถึง “ไมโครนีเชีย” ประเทศเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
มีบทเรียนอะไร ที่เราจะเรียนรู้จากประเทศนี้ได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไมโครนีเชีย มีประชากรเพียง 100,000 คน เป็นประเทศที่มีเกาะมากกว่า 600 เกาะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ และทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย
ด้วยที่ตั้งและภูมิประเทศลักษณะนี้ แน่นอนว่าทรัพยากรสำคัญก็คงเป็นพวกอาหารทะเล และมะพร้าว
ซึ่งในช่วงแรก ทรัพยากรเหล่านี้ใช้บริโภคในประเทศเท่านั้น ไม่มีการส่งออกไปยังประเทศอื่น
จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 พ่อค้าชาวยุโรป ได้เดินทางมาพบไมโครนีเชีย จึงได้มีการเริ่มซื้อสินค้าเหล่านี้จากชาวพื้นเมือง
โดยแลกเปลี่ยนกับสินค้าของตัวเอง อย่างเช่น เหล็ก เสื้อผ้า และนำสินค้าจากไมโครนีเชีย กลับไปขายที่ประเทศของตนเอง หรือส่งไปขายที่จีนต่อ
เรียกได้ว่าตอนนั้น ทรัพยากรของไมโครนีเชีย ได้สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ ให้กับบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป
ทำให้ไมโครนีเชีย เริ่มเป็นที่สนใจของชาวตะวันตกมากขึ้น และได้มีบริษัทการค้าเกิดขึ้นมากมาย เพื่อรับซื้อสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อมะพร้าวแห้ง ที่ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเกษตรในไมโครนีเชีย ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้น เพราะยังวนเวียนกับแค่การขายวัตถุดิบแบบเดิม ไม่ได้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
จนมาถึงยุคที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองแทนเยอรมนี ผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1
โดยญี่ปุ่นได้มีการวางรากฐานอุตสาหกรรมน้ำตาลในไมโครนีเชียเป็นครั้งแรก พร้อมกับพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อมะพร้าวแห้ง ปลาทูน่า อาหารทะเล ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อป้อนให้กับญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง
แต่แม้ญี่ปุ่นจะวางรากฐานอุตสาหกรรมในประเทศก็ตาม คนไมโครนีเชีย ก็ยังคงทำงานเป็นแค่แรงงาน ไม่ได้มีผู้ประกอบการท้องถิ่นเกิดขึ้นมากนัก
สุดท้าย เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ก็ได้เข้ามาดูแลไมโครนีเชียแทน โดยมีการสั่งให้ธุรกิจเกษตรของญี่ปุ่น ออกไปจากไมโครนีเชียให้หมด
ก่อนจะหันมาทุ่มเงินมหาศาล เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจเกษตรท้องถิ่นในประเทศ รวมถึงสร้างสนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้
ปัจจุบัน แม้ไมโครนีเชีย จะได้รับเอกราชไปแล้วก็ตาม
แต่ยังคงได้รับการสนับสนุนเงินจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการให้กองทัพสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเติมเงินเข้าไปอย่างหนักของสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทำให้ไมโครนีเชีย ร่ำรวยขึ้นได้อยู่ดี
ไมโครนีเชียยังคงประสบปัญหา ไล่ตั้งแต่การขาดดุลการค้าอย่างหนัก เพราะเน้นส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ที่ทำเงินเพียงปีละราว ๆ 500 ล้านบาท แต่ต้องมีการนำเข้าสินค้ามากถึง 5,000 ล้านบาท เพราะพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในด้านอื่น ๆ
และคนในประเทศกว่า 47% ยังยากจนอยู่ โดยมีรายได้แค่ 617 บาทต่อสัปดาห์เท่านั้น
ซึ่งสาเหตุหลัก ก็มาจากการพึ่งพาเงินทุนจากสหรัฐฯ มากเกินไป ทำให้ไมโครนีเชียขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองแทน
และจุดอ่อนของเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีประชากรเพียง 100,000 คน ทำให้ธุรกิจอื่นในประเทศเริ่มต้นเติบโตจากในประเทศได้ค่อนข้างยาก
แถมการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งไมโครนีเชียไม่ได้มีการแปรรูปมากมาย ก็มีความผันผวนของราคาสูงมาก ทำให้บางปี กลายเป็นขาดดุลการค้ามากขึ้นแทน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่ไมโครนีเชียยังส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก และคนในประเทศยังยากจนอยู่เหมือนเดิม
ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ไม่เคยมีประเทศไหนในโลก ที่รวยขึ้นมาได้ เพราะขายแค่สินค้าเกษตรเป็นหลักอย่างเดียว
ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และจีน สองประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก ก็ยังส่งออกสินค้าหลักมาจากอุตสาหกรรม นั่นคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
หรือแม้แต่ไทย ที่หลายคนชอบบอกว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็ยังส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มากสุดอยู่ดี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon