เพื่อนรักตัดไม่ขาด ค่ายรถยนต์เยอรมนี ยังพึ่งพา ค่ายรถยนต์จีน

เพื่อนรักตัดไม่ขาด ค่ายรถยนต์เยอรมนี ยังพึ่งพา ค่ายรถยนต์จีน

เพื่อนรักตัดไม่ขาด ค่ายรถยนต์เยอรมนี ยังพึ่งพา ค่ายรถยนต์จีน /โดย ลงทุนแมน
เร็ว ๆ นี้ ทางยุโรป จะมีการขึ้นภาษีสูงสุดเป็น 38% กับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากจีน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้
แม้ว่าเรื่องนี้อาจช่วยปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปเอง โดยเฉพาะเยอรมนี ที่ถือเป็นเจ้าแห่งรถยนต์
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้อาจสร้างปัญหาให้กับทางเยอรมนี เพราะรถยนต์เยอรมนี ที่ผลิตขึ้นในจีนนั้น หากส่งกลับมาขายประเทศในยุโรป อาจถูกร่างแหเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งทั้งเยอรมนีกับจีนเอง เรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรในการผลิตรถยนต์ ชนิดที่ว่าเพื่อนรักตัดไม่ขาด มานานมากแล้ว
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
เยอรมนีและจีน เป็นพันธมิตรรถยนต์กันตอนไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ความเป็นเพื่อนรักในธุรกิจรถยนต์ ระหว่างเยอรมนีและจีน คงต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1990 หรือราว 30 กว่าปีที่แล้ว
ตอนนั้น จีนเริ่มเปิดให้นำเข้ารถยนต์จากต่างชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งพอมีตัวเปรียบเทียบกับรถยนต์จีนที่ด้อยกว่า ทำให้รถยนต์นำเข้าเป็นที่นิยมมากขึ้นทันที
เมื่อมีการนำเข้าจำนวนมาก ทำให้จีนเริ่มขาดดุลการค้ามากขึ้น จนรัฐบาลจีนต้องแก้เกมด้วยการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า 200%
ถามว่าได้ผลไหม..
คำตอบก็คือไม่ เพราะด้วยคุณภาพของรถยนต์ต่างชาติที่มีคุณภาพสูงกว่า ที่แม้ราคาจะสูง แต่คนจีนตอนนั้นก็พร้อมยอมจ่าย
จนรัฐบาลจีนต้องหาวิธีใหม่ ด้วยการให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศแทน เพื่อลดการขาดดุลจากการนำเข้ามา
พร้อมสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บริษัทต่างชาติเหล่านี้ ต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจีน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้รถยนต์มีคุณภาพสูง
ซึ่งตอนนั้น ประเทศที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์แข็งแกร่งที่สุดคือ เยอรมนี ที่สามารถโค่นยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้ แถมยังทำให้แบรนด์รถยนต์อังกฤษตายไปด้วย
และเมื่อเห็นโอกาสเติบโตในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แบรนด์รถยนต์เยอรมนี ก็ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้ เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์จีนเป็นประเทศแรก ๆ
ไล่ตั้งแต่
- Volkswagen Group ที่ไปร่วมทุนกับแบรนด์รถยนต์จีนอย่าง FAW และ SAIC ในปี 1984
- BMW ร่วมทุนกับแบรนด์ท้องถิ่น Brilliance Auto Group ในปี 2003
- Mercedes-Benz ร่วมทุนกับ BAIC Motor ในปี 2006
ซึ่งดีลนี้ ดูจะ Win-Win ทั้งสองฝ่าย
เพราะเยอรมนี ก็ได้ยอดขายเพิ่มในตลาดจีน ส่วนแบรนด์รถยนต์จีนเอง ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ให้มีคุณภาพสูงได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในตอนนี้กลับตรงกันข้าม
จากเพื่อนรักในอดีต แต่มาวันนี้รถยนต์จีนกับรถยนต์เยอรมนี กำลังกลายมาเป็นคู่แข่งกันแทน
เพราะรัฐบาลจีน ตั้งเป้าให้แบรนด์รถยนต์จีน เน้นแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งให้เงินทุนพัฒนาธุรกิจ ไปจนถึงอุดหนุนราคารถในประเทศ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้บริษัทจีน ครอบครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก จนตอนนี้มากกว่า 7 ใน 10 ของการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกมาจากจีน
โดยมี CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่ของจีน กลายเป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 ของโลกด้วย
พอเป็นแบบนี้ ทำให้รถยนต์เยอรมนีตกที่นั่งลำบากแทน จากที่เคยแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในรถยนต์สันดาปมากกว่าแบรนด์รถยนต์จีน
มาวันนี้ จีนได้เปรียบกว่ารถยนต์เยอรมนีทันที เพราะแบตเตอรี่คิดเป็นราว 30-40% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
โดยรถยนต์จีนสามารถคุมต้นทุนตรงนี้ได้ จึงกำหนดราคาได้ต่ำกว่า เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ยังคงอัตรากำไรที่ดีไว้ได้ด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ ก็สะท้อนไปยังยอดขายรถยนต์ในจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยกว่า 44% กลายเป็นแบรนด์สัญชาติจีนไปแล้ว เช่น BYD, Geely
ขณะที่รถยนต์สัญชาติเยอรมัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 เพียง 20% เท่านั้น เรียกได้ว่าห่างกันเกือบ 2 เท่า
และถ้านับเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด
9 ใน 10 ของรถที่ขายดี กลายเป็นแบรนด์จีน นำโดย BYD 35%
ทำให้ปัจจุบัน จากเดิมที่แบรนด์รถยนต์จีน ต้องเข้าหาแบรนด์เยอรมนี กลายเป็นว่าแบรนด์เยอรมนี ต้องเข้าไปหาพาร์ตเนอร์กับจีนแทน..
ไม่ว่าจะเป็น BMW Group ที่ไปจับมือกับ Great Wall Motor เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ MINI และอื่น ๆ ในประเทศจีน
Volkswagen Group จับมือกับ XPENG ซื้อหุ้น 5% แลกกับเงินลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,800 ล้านบาท ในต้นปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ Mercedes-Benz เลือกจับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียมมากขึ้น เพื่อเลี่ยงสงครามราคา ที่กำลังลดราคากระหน่ำในประเทศจีนแทน
นอกจากนี้ การที่ยุโรป จะมีการขึ้นภาษีสูงสุดเป็น 38% กับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาจากจีน
ก็อาจเป็นผลเสียกับเยอรมนีเอง โดยรถยนต์เยอรมนี ที่ผลิตขึ้นในจีนนั้น หากส่งกลับมาขายประเทศในยุโรป อาจจะถูกร่างแหเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ซึ่งในปี 2023 แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ที่ส่งออกจากจีน ไปยังยุโรป อันดับ 1 คือ Tesla กว่า 271,000 คัน
ส่วนรถยนต์ยุโรป ส่งออกรวมกันกว่า 72,000 คัน โดยจำนวนนี้ คิดเป็น 22% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
ที่ขายได้ในยุโรป
เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่มีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น
แต่หากนับเฉพาะแบรนด์จากจีนจริง ๆ ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้าจีน กำลังครองตลาดในยุโรป ราว 8% ในปัจจุบัน
เรียกได้ว่า แบรนด์รถยนต์ที่เป็นของจีนจริง ๆ กับแบรนด์ร่วมทุนของบริษัทยุโรป นำโดยเยอรมนี กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุโรปไปพร้อมกัน
ถึงตรงนี้ ก็คงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมรถยนต์เยอรมนีและจีน ถึงกลายเป็นเพื่อนรักที่ตัดไม่ขาด แม้จะต้องแข่งกันเองก็ตาม
เพราะจีนเองก็มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงความเชี่ยวชาญมากกว่าเยอรมนี จนเยอรมนีต้องไปร่วมทุนด้วย
แต่วันนี้ การที่ทางยุโรปขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
กลายเป็นเยอรมนีกลับตกที่นั่งลำบากเอง เพราะการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน กลับกระทบเข้าเนื้อตัวเองด้วยเช่นกัน
เรียกได้ว่า เป็นเหมือนทั้งเพื่อนรัก คู่แค้น และคู่แข่ง ที่ตัดอย่างไร ก็ไม่ขาดสักที..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon