Survivorship Bias อคติที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะสนใจแต่คนสำเร็จ ละเลยคนล้มเหลว

Survivorship Bias อคติที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะสนใจแต่คนสำเร็จ ละเลยคนล้มเหลว

Survivorship Bias อคติที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะสนใจแต่คนสำเร็จ ละเลยคนล้มเหลว /โดย ลงทุนแมน
ในแต่ละวันชีวิตคนเราพัวพันอยู่กับการเลือก และการตัดสินใจ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการเลือกเสื้อผ้า, เมนูอาหาร, เส้นทางเดินทาง ไปจนถึงการตัดสินใจลงทุน
มีปัจจัยหลายอย่าง ที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา เช่น เหตุผล, อารมณ์, ประสบการณ์, ภูมิหลัง รวมถึง Bias หรือ อคติของแต่ละคน
แม้กระทั่งเหตุการณ์สำคัญอย่างสงครามโลก กองทัพฝ่ายพันธมิตรก็เกือบตัดสินใจผิดพลาด จากอคติที่เรียกว่า “Survivorship Bias”
Survivorship Bias คืออะไร ?
แล้วมันมีความเกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินรบของฝ่ายพันธมิตรหลายลำ ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็มีทหารหลายนายเอาตัวรอดกลับมาได้ แต่ก็มีอีกหลายนายเช่นกันที่ไม่รอด
ทำให้หลังจากนั้น กองทัพอากาศฝ่ายพันธมิตร ต้องการจะเสริมเกราะให้กับเครื่องบินรบ
แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหากเสริมเกราะมากเกินไป
จึงสรุปได้ว่า กองทัพจะเสริมเกราะเครื่องบินรบ เฉพาะในบางตำแหน่งเท่านั้น
โดยหลังจากกองทัพนำเครื่องบินรบที่รอดกลับมาวิเคราะห์ ก็พบว่า
เครื่องบินส่วนใหญ่ มีร่องรอยกระสุนกระจายไปทั่ว
โดยเฉพาะ บริเวณลำตัวและปีกของเครื่อง
แต่แทบจะไม่มีลำไหนเลย ที่มีร่องรอยกระสุนในบริเวณเครื่องยนต์ และห้องนักบิน
จากข้อมูลดังกล่าว ลองจินตนาการว่า ถ้าเราอยู่ในทีมพัฒนาเกราะเครื่องบิน
เราจะเสริมเกราะที่ส่วนไหนของเครื่อง ​?
จากการสำรวจส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า “ควรจะเสริมเกราะที่ลำตัว และปีกของเครื่อง”
เนื่องจากเป็นจุดที่โดนยิงมากที่สุด
แต่ อับราฮัม วัลด์ นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการี ที่อยู่ในกองทัพขณะนั้น ได้เสนอความเห็นที่ต่างออกไป
เขามีความเห็นว่า แม้ลำตัวและปีกของเครื่องจะถูกยิงจำนวนมาก
แต่เป็นเพราะว่า “เครื่องยนต์ และห้องนักบินไม่ถูกยิง” ต่างหาก ที่ทำให้เครื่องบินเหล่านี้ยังกลับมาได้
หากจุดสำคัญทั้งสองนี้ถูกยิง ก็เป็นไปได้สูงที่เครื่องบินจะตก และไม่รอดกลับมาให้เราเห็น
จากความเห็นนี้ ทำให้สุดท้ายกองทัพอากาศ เลือกที่จะเสริมเกราะที่เครื่องยนต์ และห้องนักบิน มากกว่าส่วนอื่น ๆ ซึ่งผลลัพธ์ในเวลาต่อมา ก็ทำให้สามารถรักษาชีวิตนักบินเอาไว้ได้อีกหลายชีวิต
บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า มนุษย์มักจะเกิดอคติทางความคิด ที่เรียกว่า Survivorship Bias
หมายถึง อคติที่เราตัดสินใจอะไรบางอย่าง โดยให้ความสนใจกับข้อมูลหรือกลุ่มที่รอด กลุ่มที่ประสบความสำเร็จ และมองข้ามกลุ่มที่ “ล้มเหลว” หรือ “ไม่รอด”
ทำให้การตัดสินใจหรือข้อสรุปที่ได้มีความเอนเอียงไปในทางที่ไม่เป็นความจริงทั้งหมด
อคตินี้มักเกิดขึ้นในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประวัติศาสตร์ ธุรกิจ การลงทุน และแม้แต่การพัฒนาตัวเอง เพราะเรามักได้รับข้อมูลจากกรณีที่ประสบความสำเร็จ มากกว่ากรณีที่ล้มเหลว ทำให้เกิดภาพลวงตาว่า ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องปกติหรือทำได้ง่าย ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจมีผู้ที่ล้มเหลวจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกพูดถึง
หนังสือพัฒนาตัวเอง มักเต็มไปด้วยเรื่องราวของคนที่เริ่มจากศูนย์แล้วประสบความสำเร็จ
ทำให้คนเชื่อว่า ถ้าขยันและไม่ยอมแพ้ ก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน แต่ไม่ได้พูดถึงคนนับล้าน ที่พยายามเหมือนกันแต่ล้มเหลว เพราะความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความพยายาม แต่ยังมีปัจจัย ๆ อื่น เช่น จังหวะเวลา ทรัพยากร และโชค
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร ?
ในโลกของการลงทุนนั้น
หากเราโฟกัสเฉพาะผู้ที่รอดชีวิต หรือเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จ
ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจ เลือกในสิ่งที่ดูดีเกินจริงได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์บางประเภท มักจะดูดีเกินจริง
เนื่องจากหลาย ๆ กอง ที่ขาดทุนจนต้องปิดตัวลง ไม่ถูกนำมาคิดในค่าเฉลี่ยนี้
- นักลงทุนมือใหม่อาจจะคิดว่าการลงทุนนั้นง่าย เพราะ YouTuber อินฟลูเอนเซอร์ หรือนักเขียนหนังสือส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นแล้วว่าทำสำเร็จ แต่เราอาจจะลืมไปว่า คนที่ขาดทุน มักไม่ค่อยออกมาทำคลิป หรือเขียนหนังสือกัน
- นักลงทุนมือใหม่มักมองเห็นราคาหุ้นของบริษัทเทค ปรับตัวขึ้นหลายร้อย หลายพันเด้ง เช่น Amazon, Microsoft, NVIDIA, Netflix
และอาจสรุปว่า ถ้าซื้อหุ้นบริษัทเทคที่เป็นผู้นำตลาด จะได้กำไรแน่นอน
แต่ไม่ได้คำนึงถึงบริษัทที่เคยเป็นผู้นำ แต่ต่อมากลับล้มเหลว เช่น Kodak, Nokia
- บิตคอยน์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก และสร้างผลตอบแทนมหาศาล
อาจทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ เชื่อว่า ลงทุนคริปโทแล้วรวย
แต่ในความเป็นจริงคือ 90% ของเหรียญคริปโทล้มเหลว
- ตัวอย่างคลาสสิก ที่หลายคนมักจะพูดว่า สตีฟ จอบส์, บิลล์ เกตส์ รวมถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
แม้พวกเขาจะเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แต่ก็สามารถเป็นมหาเศรษฐีได้
เพราะฉะนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียนให้จบก็ได้
แต่ความจริงแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่เรียนไม่จบ และไม่ประสบความสำเร็จ
จากตัวอย่างเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะพยายามตัดสินใจ บนพื้นฐานของข้อมูลอย่างดี
แต่หลายครั้ง อคติบางอย่างก็อาจจะหลอกสมอง ให้เราประเมินความเสี่ยงไม่รอบด้าน และตัดสินใจพลาดไปได้
ซึ่งก็มีวิธีช่วยให้เราหลีกเลี่ยง Survivorship Bias อยู่หลายแนวทางด้วยกัน เช่น
- ศึกษากรณีที่ล้มเหลว อย่ามองแค่ความสำเร็จ ต้องดูว่าอะไรทำให้ล้มเหลว
- ตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับ ถ้าข้อมูลมีแต่ด้านดี อาจเป็นไปได้ว่ากำลังมีอคติ
- วิเคราะห์ความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน อย่าคิดว่าความสำเร็จของคนอื่นจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ง่าย ๆ
- ใช้สถิติเข้าช่วย เช่น อัตราความสำเร็จและความล้มเหลว
และนอกเหนือจาก Survivorship Bias แล้ว
ก็ยังมีอคติอีกหลายประเภท ที่มีผลต่อการตัดสินใจ และการลงทุน
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ศึกษาอคติเหล่านั้น แล้วกลับมาสำรวจตัวเอง
เพื่อที่เราจะได้ระวัง และตัดสินใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ทั้งในเรื่องธุรกิจ การลงทุน และชีวิตส่วนตัว..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon