
Danaher นักปั้นธุรกิจ HealthTech ชั้นเซียน โตได้เพราะไล่ซื้อกิจการ แล้วปั้นต่อ
นักวิจัยในห้องทดลองเริ่มต้นวิจัยค้นคว้าการรักษาใหม่ ๆ ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ของ Leica Microsystems ศึกษาตัวอย่างทางชีวภาพและเนื้อเยื่อ
จากนั้นนำตัวอย่างไปตรวจสอบในระดับจุลินทรีย์ และวิเคราะห์สารประกอบชีวภาพ ด้วยเครื่องวิเคราะห์แผ่นไมโครเพลตจาก Molecular Devices
ต่อมานำข้อมูลที่ได้จากการวิจัย มาสู่การผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ เช่น วัคซีน mRNA โดยใช้ระบบเพาะเลี้ยงเซลล์ของ Cytiva และใช้เทคโนโลยีระบบกรองและบริสุทธิ์สารของ Pall Biotech
กระบวนการวิจัยและผลิตวัคซีน ต้องใช้เครื่องมือจำนวนมากที่มีมูลค่าสูง ซึ่งทั้งหมดที่พูดถึงมา ต่างก็อยู่ภายใต้ Danaher บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลก
ที่น่าสนใจคือ บริษัทนี้ไม่ได้โตได้ด้วยการลงทุนด้าน R&D เสียทีเดียว แต่หลัก ๆ แล้ว มาจากการซื้อและปั้นธุรกิจให้เติบโต
จนตอนนี้ Danaher กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท
เคล็ดลับการปั้นธุรกิจของ Danaher คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Danaher Corporation ก่อตั้งขึ้นในปี 1984 โดยคุณ Steven และคุณ Mitchell Rales สองพี่น้องนักลงทุนที่เน้นใช้กลยุทธ์ซื้อบริษัทที่มีปัญหา แล้วนำมาปรับปรุงใหม่
โดย Danaher ในช่วงแรกทำธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มขยายไปยังตลาดเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจบริหารจัดการน้ำ
แต่เบื้องหลังการเติบโตของ Danaher อาจไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จจากการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาสินค้าของตัวเอง
แต่การเติบโตของ Danaher โดยหลักแล้วจะมาจากกลยุทธ์ M&A (Mergers & Acquisitions) ไล่ซื้อกิจการ แล้วเอาธุรกิจไปต่อยอด ด้วยกระบวนการเฉพาะตัวที่บริษัทพัฒนาขึ้น
โดย Danaher เน้นซื้อกิจการที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง สามารถต่อยอดและมีโอกาสเติบโต แล้วนำมาปรับปรุงแต่งองค์ใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรของบริษัทนั้น ซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมา Danaher ใช้เงินซื้อกิจการไปนับล้านล้านบาท
โดย Danaher เน้นซื้อกิจการที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง สามารถต่อยอดและมีโอกาสเติบโต แล้วนำมาปรับปรุงแต่งองค์ใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรของบริษัทนั้น ซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมา Danaher ใช้เงินซื้อกิจการไปนับล้านล้านบาท
- ปี 2011 ซื้อ Beckman Coulter ธุรกิจการวินิจฉัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการ มูลค่า 229,980 ล้านบาท
- ปี 2015 ซื้อ Pall Corporation ธุรกิจการกรองและการแยกสารในอุตสาหกรรมชีวภาพ มูลค่า 466,720 ล้านบาท
- ปี 2016 ซื้อ Cepheid ธุรกิจการวินิจฉัยระดับโมเลกุล มูลค่า 135,280 ล้านบาท
- ปี 2019 ซื้อ GE Biopharma (ปัจจุบันคือ Cytiva) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ มูลค่า
723,750 ล้านบาท
723,750 ล้านบาท
- ปี 2023 ซื้อ Abcam ธุรกิจเครื่องมือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มูลค่า 192,770 ล้านบาท
จะเห็นว่า Danaher ใช้เงินมหาศาลไปกับการไล่ล่ากิจการที่มีศักยภาพที่จะเติบโต แต่กระบวนการซื้อกิจการของ Danaher ก็ยังไม่จบหลังปิดดีล
เพราะเมื่อซื้อกิจการเข้ามาแล้ว Danaher จะนำมาเข้าแผนการพัฒนาของบริษัทที่เรียกว่า Danaher Business System (DBS)
อธิบายง่าย ๆ DBS ก็คือ ระบบที่เกิดจากการประยุกต์ใช้หลากหลายแนวคิดด้วยกัน เช่น
- Kaizen ที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนา โดยเน้นที่การลดค่าใช้จ่าย (Cost) ที่ไม่จำเป็น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือที่เรียกกันว่า “Lean Manufacturing”
- Kaizen ที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนา โดยเน้นที่การลดค่าใช้จ่าย (Cost) ที่ไม่จำเป็น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือที่เรียกกันว่า “Lean Manufacturing”
- PSP (Policy Deployment Strategy) ช่วยกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละระดับขององค์กร
- Daily Management (การบริหารงานประจำวัน) ตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานทุกวัน
เมื่อผ่านกระบวนการ DBS แล้ว
บริษัทที่ถูกซื้อกิจการเข้ามาเหล่านี้ จะแปลงโฉมใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ทั้งระบบการทำงาน ระบบการผลิต แผนการพัฒนา หรือแม้แต่วัฒนธรรมองค์กร
บริษัทที่ถูกซื้อกิจการเข้ามาเหล่านี้ จะแปลงโฉมใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ทั้งระบบการทำงาน ระบบการผลิต แผนการพัฒนา หรือแม้แต่วัฒนธรรมองค์กร
ผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้บริษัทใหม่ที่เข้ามาต่างก็ผสานรวมกิจการและอยู่ภายในเครือได้อย่างราบรื่น รวมถึงมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นจุดเด่นของ Danaher เพราะในโลกธุรกิจ มีอยู่หลายครั้งที่การซื้อหรือควบรวมกิจการเข้ามาแล้วมีปัญหา ที่เกิดจากความแตกต่างของกระบวนการ แนวคิด และวัฒนธรรมในการทำงาน
อย่างเช่น ในปี 1998 บริษัทยานยนต์ Daimler จากเยอรมนีได้ซื้อ Chrysler บริษัทจากสหรัฐอเมริกา โดยดีลนี้มีมูลค่ากว่า 1.22 ล้านล้านบาท
แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันมาก บริษัทเยอรมันมีโครงสร้างองค์กรแบบเข้มงวด อนุรักษนิยม และเน้นคุณภาพสูง
ส่วนบริษัทอเมริกันก็มีวัฒนธรรมยืดหยุ่น เน้นการออกแบบที่รวดเร็ว และลดต้นทุนการผลิต
จนสุดท้ายการควบรวมก็ไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และ Daimler ก็ต้องขาย Chrysler ออกไปด้วยมูลค่าเพียง 0.25 ล้านล้านบาทเท่านั้น
กลับมาในเคสของ Danaher ซึ่งมีหลายเคสด้วยกันที่ซื้อกิจการแล้ว สามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม
เช่น Cepheid บริษัทชั้นนำด้านการวินิจฉัยระดับโมเลกุล (Molecular Diagnostics) ซึ่งมีเทคโนโลยี GeneXpert เครื่องตรวจโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ และใช้งานง่าย
โดยหลังจากที่ Danaher ซื้อ Cepheid เข้ามาในปี 2016 ก็ได้มีการปรับปรุงต้นทุนการผลิตและระบบโลจิสติกส์ของ Cepheid พร้อมกับขยายตลาดไปยังประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการเครื่องมือวินิจฉัยโรคที่มีราคาจับต้องได้
สุดท้าย Cepheid ก็มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง และ GeneXpert กลายเป็นหนึ่งในเครื่องตรวจ COVID-19 ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การเข้าซื้อ Cytiva ผู้พัฒนา เทคโนโลยี Bioprocessing สำหรับการผลิตยาชีวภาพ วัคซีนและยีนบำบัดในปี 2020
หลังผ่านกระบวนการ DBS และขยายกำลังการผลิต ทำให้ Cytiva กลายเป็นผู้นำในตลาด Bioprocessing
ซึ่ง Cytiva มีส่วนสำคัญในการผลิตวัคซีน mRNA เช่น Pfizer-BioNTech และ Moderna โดยช่วยให้กระบวนการผลิตวัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุน และลดเวลาการผลิต
หากลองไปดูผลประกอบการย้อนหลังตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของ Danaher พบว่า
ปี 2010 รายได้ 446,565 ล้านบาท กำไร 60,645 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 695,502 ล้านบาท กำไร 113,544 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 753,711 ล้านบาท กำไร 118,719 ล้านบาท
ปี 2024 รายได้ 807,524 ล้านบาท กำไร 131,876 ล้านบาท
ตลอด 15 ปี ทั้งรายได้และกำไรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน Danaher มีรายได้มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ
- 41% Diagnostics (การวินิจฉัยโรค) ผลิตเครื่องมือและโซลูชัน วิเคราะห์ตัวอย่างชีวภาพ เช่น เลือด ปัสสาวะ เชื้อโรค
- 31% Life Sciences (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ผลิตเครื่องมือ วิเคราะห์ดีเอ็นเอ โปรตีน เมแทบอไลต์ และเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องวิเคราะห์มวลสาร อุปกรณ์กรองและกำจัดของเสีย
- 28% Biotechnology (เทคโนโลยีชีวภาพ) ผลิตภัณฑ์ด้านชีวเภสัชภัณฑ์ เช่น วัคซีน ยีนบำบัด โปรตีน มีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยพัฒนากระบวนการผลิตยา เช่น เทคโนโลยีกรอง แยก และบริสุทธิ์สาร
จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของ Danaher ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำในอุตสาหกรรม HealthTech
ซึ่งแต่ละบริษัทในเครือก็ใช้งบวิจัยและพัฒนาไม่น้อย จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และกลยุทธ์การเติบโตด้วยการไล่ซื้อกิจการก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้ง่าย ๆ
เพราะนอกจากจะต้องตาดี และเงินถึงแล้ว
บริษัทแม่ก็ต้องเก่งและแกร่งมากพอ ที่จะทำให้บริษัทใหม่ที่ถูกซื้อเข้ามา แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และช่วยสร้างการเติบโตให้กับองค์กร
เหมือนอย่างที่ Danaher ทำได้..
บริษัทแม่ก็ต้องเก่งและแกร่งมากพอ ที่จะทำให้บริษัทใหม่ที่ถูกซื้อเข้ามา แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และช่วยสร้างการเติบโตให้กับองค์กร
เหมือนอย่างที่ Danaher ทำได้..
References
-https://investors.danaher.com/quarterly-earnings?cat=26
-https://finance.yahoo.com/quote/DHR/financials/
-https://www.cytivalifesciences.com/en/us/news-center/introducing-cytiva-global-life-sciences-leader-10001?srsltid=AfmBOoor0V_NcbhGVRcb8MUyXaQDPtx5n4cnF18-jG1L5OyC-Htq7I1x
-https://companiesmarketcap.com/danaher/marketcap/
-https://investors.danaher.com/quarterly-earnings?cat=26
-https://finance.yahoo.com/quote/DHR/financials/
-https://www.cytivalifesciences.com/en/us/news-center/introducing-cytiva-global-life-sciences-leader-10001?srsltid=AfmBOoor0V_NcbhGVRcb8MUyXaQDPtx5n4cnF18-jG1L5OyC-Htq7I1x
-https://companiesmarketcap.com/danaher/marketcap/