ย้อนรอย Robinhood แอปหุ้น ขวัญใจรายย่อย แต่ระงับการซื้อหุ้น เพื่อช่วยรายใหญ่

ย้อนรอย Robinhood แอปหุ้น ขวัญใจรายย่อย แต่ระงับการซื้อหุ้น เพื่อช่วยรายใหญ่

ย้อนรอย Robinhood แอปหุ้น ขวัญใจรายย่อย แต่ระงับการซื้อหุ้น เพื่อช่วยรายใหญ่ /โดย ลงทุนแมน
หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในแวดวงการลงทุน ชื่อของ “Robinhood” เคยถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในฐานะแพลตฟอร์ม ที่เปลี่ยนภาพของการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง
จากโลกที่เคยอยู่ในมือของนักลงทุนรายใหญ่ Robinhood เปิดโอกาสให้คนทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย สามารถซื้อขายหุ้นได้ด้วยตัวเอง ได้ง่ายขึ้น
แค่มีแอปในโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ทันที แถมยังไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชัน แบบที่เคยต้องจ่ายให้โบรกเกอร์ในอดีต
ความง่าย ความเร็ว และรูปแบบที่ดูเป็นมิตร ทำให้ Robinhood กลายเป็นแอปขวัญใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้แพลตฟอร์มการเงินอีกมากมายเดินตาม
แต่แล้วเหตุการณ์บางอย่างก็เกิดขึ้น..
จากจุดที่ Robinhood เคยถูกมองว่า “ยืนอยู่ข้างนักลงทุนตัวเล็ก”
กลับต้องเผชิญกับข้อครหาว่า “อาจกำลังทำเพื่อคนตัวใหญ่โดยที่เราไม่รู้ตัว”
เบื้องหลังเรื่องอื้อฉาวที่ Robinhood ไปช่วยรายใหญ่ คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Robinhood ที่ว่านี้ ไม่ใช่แอปพลิเคชัน Food Delivery ในไทย แต่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยสองวิศวกรเชื้อสายอินเดียและบัลแกเรีย คุณ Baiju Bhatt และคุณ Vlad Tenev
พวกเขามองเห็นว่า โลกของการลงทุนยังปิดกั้นคนทั่วไป และตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนแปลงมันให้กลายเป็นเรื่อง “เข้าถึงได้สำหรับทุกคน”
พวกเขาออกแบบแอปให้ใช้งานง่าย อินเทอร์เฟซเป็นมิตร ไม่มีค่าคอมมิชชัน และไม่กำหนดเงินขั้นต่ำในการลงทุน
ภายในเวลาไม่นาน Robinhood ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานหลายสิบล้านบัญชี และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแอปเทรดหุ้นแบบไม่มีค่าธรรมเนียมตามมาอีกมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อไม่เก็บค่าธรรมเนียม แล้ว Robinhood มีโมเดลรายได้อย่างไร ?
แหล่งทำเงินหลักของ Robinhood คือโมเดลรายได้แบบ Payment for Order Flow (PFOF) หรือการขายคำสั่งซื้อขายของลูกค้าให้กับบริษัทภายนอก ซึ่งก็คือ Citadel ที่ทำหน้าที่เป็น Market Maker
อธิบายง่าย ๆ Citadel จะรับคำสั่งซื้อขายจาก Robinhood และทำการจับคู่คำสั่งซื้อและขาย โดยกำไรก็มาจากส่วนต่าง หรือ Spread ระหว่างราคาซื้อและราคาขายของหุ้น นั่นเอง
แม้ส่วนต่างตรงนี้ จะดูไม่มาก แต่ถ้ามีสภาพคล่องหรือ Volume การเทรดเยอะ ๆ ก็จะกลายเป็นเงินจำนวนมากได้
จะเห็นว่า ถ้าลูกค้ายิ่งเทรดกับ Robinhood มาก Robinhood ก็ยิ่งมีรายได้มาก
และการใช้โมเดลนี้ช่วยให้ Robinhood สามารถเสนอบริการซื้อขายหุ้นแบบไม่มีค่าคอมมิชชันให้กับลูกค้าได้
และภาพลักษณ์ของ Robinhood ก็กลายเป็นแอปเทรดหุ้น ที่อยู่เคียงข้างนักลงทุนรายย่อย
แต่จุดเปลี่ยนที่ไม่มีใครคาดคิด เกิดขึ้นในปี 2021 จากเหตุการณ์หุ้น GameStop บริษัทขายเกมและสินค้าเกี่ยวกับเกม ลุกลามไปทั่วในวงการการเงิน
และแน่นอน แพลตฟอร์มที่รวมรายย่อยหลายล้านบัญชีอย่าง Robinhood ก็กลายเป็น “อาวุธ” สำคัญในศึกครั้งนั้น
โดยเฉพาะต้นปี 2021 ช่วงที่เกิด “Short Squeeze” ซึ่งทำให้ราคาหุ้น GameStop พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้กองทุนหลายแห่งที่มีสถานะชอร์ต (Short Sell) ขาดทุนมหาศาล
อธิบายง่าย ๆ Short Sell ก็คือ การยืมหุ้นของบริษัทหนึ่งมาขายก่อน แล้วค่อยซื้อหุ้นในตลาดคืนในอนาคต
ซึ่งมันสามารถทำกำไรได้มาก ถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้ ราคาหุ้นของบริษัทนั้นลดต่ำลงอย่างมาก
เพราะจะได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาขายที่สูง และราคาซื้อกลับที่ต่ำกว่า
แต่กลับกัน หากราคาหุ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเปิดสถานะชอร์ตหุ้น ก็จะทำให้ขาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ Short Squeeze คือเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น นักลงทุนที่ขายชอร์ตอยู่เริ่มขาดทุน เลยต้องรีบซื้อหุ้นกลับคืน เพื่อปิดสถานะชอร์ต และจำกัดการขาดทุน จึงส่งผลให้ราคาหุ้น พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
โดยในเคส GameStop นี้ นักลงทุนรายย่อยนับล้านคนรวมตัวกันผ่าน Reddit แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคล้ายเว็บไซต์ Pantip ของบ้านเรา เพื่อดันราคาหุ้น GameStop ให้สูงขึ้น เพื่อสู้กับกองทุนที่เปิด Short Sell และพยายามกดราคาหุ้นให้ต่ำลง
เนื่องจาก ​Melvin Capital กองทุนที่เน้นใช้กลยุทธ์ Short Sell ก็ได้ทำการชอร์ตหุ้นของ GameStop ไว้
ซึ่งเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น Melvin Capital ก็ต้องซื้อหุ้นคืนในราคาที่สูงขึ้น เพื่อปิดสถานะชอร์ต ทำให้กองทุนขาดทุนอย่างมหาศาล
ความซับซ้อนก็คือ ในช่วงที่ Melvin Capital ขาดทุนจนเกือบจะล้มละลาย Citadel ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินให้กับ Melvin Capital และทำให้รอดพ้นจากวิกฤติมาได้
และไม่กี่วันต่อมาหลังจาก Citadel อัดฉีดให้ Melvin Capital ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ราคาหุ้น GameStop กำลังพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง
Robinhood ก็ได้ประกาศ “ระงับการซื้อ” หุ้น GameStop ชั่วคราว (แต่ยอมให้ขายหุ้นได้อยู่)
จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และทำให้ Robinhood โดนผู้ใช้บริการฟ้องร้องรวมกว่า 30 คดี จากการถูกบล็อกไม่ให้ซื้อหุ้น GameStop ได้
แม้ Robinhood จะให้เหตุผลว่า เนื่องจาก Robinhood มีสภาพคล่องไม่มากพอ ที่จะรองรับการปรับตัวของราคาหุ้น GameStop ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งทำให้ต้องวางเงินประกันมากขึ้น ตามกฎของ DTCC ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการชำระบัญชีและโอนหลักทรัพย์ในตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา
แต่จากความสัมพันธ์ระหว่าง Robinhood และ Citadel รวมถึงการระงับการซื้อหุ้น GameStop ที่ประกาศหลัง Citadel ลงทุนใน Melvin Capital ไม่กี่วัน
ก็ทำให้เกิดประเด็นว่า Robinhood ที่เป็นขวัญใจรายย่อย กำลังช่วยเหลือรายใหญ่อย่าง Melvin Capital ที่เป็นกองทุน และ Citadel ที่เป็น Market Maker หรือไม่ ?
เรื่องอื้อฉาวนี้ ดำเนินเรื่อยมา แต่สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล เช่น SEC หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาระบุอย่างเป็นทางการว่า Robinhood หรือ Citadel กระทำความผิดทางกฎหมายในกรณีดังกล่าวโดยตรง
และยังไม่ออกบทลงโทษ หรือชี้ชัดว่าทั้งสองบริษัท ทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แล้วจากเหตุการณ์นั้น ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ใช้งาน และผลประกอบการของ Robinhood หรือไม่ ?
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว Robinhood ก็ยังเติบโตได้ดี
ปี 2021 รายได้ 60,438 ล้านบาท ขาดทุน 122,773 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 45,220 ล้านบาท ขาดทุน 34,231 ล้านบาท
ปี 2023 รายได้ 62,103 ล้านบาท ขาดทุน 18,015 ล้านบาท
ปี 2024 รายได้ 98,265 ล้านบาท กำไร 46,985 ล้านบาท

จะเห็นว่าในปีล่าสุด Robinhood มีการเติบโต และบริษัทก็พลิกจากขาดทุน มาเป็นกำไร โดยมีอัตรากำไรที่สูงถึง 47.8%
ผลประกอบการที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แม้จะเจอข้อครหา อาจเป็นเพราะว่าจริง ๆ แล้ว กระแสของคนที่รู้สึกไม่พอใจ และได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นกลาง ก็คือรายย่อยที่ลงทุนใน GameStop และเปิดศึกกับรายใหญ่ที่เป็นกองทุน
แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไป ที่ซื้อขายหุ้นตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดันหรือปั่นราคาหุ้น
คนกลุ่มนี้ยังเห็นข้อดี และพอใจที่จะใช้ Robinhood ต่อไป
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าแม้ Robinhood ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการลงทุน ด้วยแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย ค่าธรรมเนียมต่ำ และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงตลาดการเงินได้ง่ายขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน เคสของ GameStop และ Robinhood ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่เตือนให้เรามองโลกของธุรกิจแบบไม่เอนเอียงเกินไป
เพราะแม้ว่าสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจแล้ว ลูกค้าคือพระเจ้า ที่ช่วยผลักดันให้กิจการอยู่รอดและเติบโต
แต่ในโลกของทุนนิยม ที่มีเงินเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินไปข้างหน้า
การมองให้ออกว่า ใครคือลูกค้าของธุรกิจบ้าง จึงสำคัญ
เพราะในเคสของ Robinhood แม้จะมีนักลงทุนรายย่อยนับล้าน มาเปิดบัญชีและซื้อขายหุ้นบนแพลตฟอร์ม
แต่พระเจ้าสำหรับ Robinhood อาจไม่ใช่ลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อย
แต่เป็น Citadel ที่จ่ายเงินและเป็นแหล่งรายได้หลักของ Robinhood มากกว่า..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon