มอร์ริส จาง ชายผู้เปลี่ยนไต้หวัน จากฐานผลิตสินค้าราคาถูก สู่ศูนย์กลางชิป ที่โลกขาดไม่ได้

มอร์ริส จาง ชายผู้เปลี่ยนไต้หวัน จากฐานผลิตสินค้าราคาถูก สู่ศูนย์กลางชิป ที่โลกขาดไม่ได้

มอร์ริส จาง ชายผู้เปลี่ยนไต้หวัน จากฐานผลิตสินค้าราคาถูก สู่ศูนย์กลางชิป ที่โลกขาดไม่ได้ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ ? ว่าเมื่อปี 1980 หรือเมื่อ 45 ปีก่อน บริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาตั้งโรงงานประกอบชิป เป็นแห่งแรกในไต้หวัน
ใครจะรู้ว่า จากโรงงานประกอบชิปแห่งแรก ก็ได้จุดประกาย สู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง TSMC
มาวันนี้ TSMC ของไต้หวัน ได้ไปสร้างโรงงานเพิ่ม ในประเทศที่ถือเป็นต้นกำเนิดของการผลิตชิป อย่าง สหรัฐอเมริกา
จากโรงงานประกอบชิปของไต้หวัน เมื่อ 45 ปีก่อน นำมาสู่การสร้างอาณาจักรผลิตชิปที่ยิ่งใหญ่
และขยายโรงงานออกไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก็ต้องบอกว่า Keyman ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมชิปของไต้หวัน ให้เติบโตอย่างมาก ก็คือ มอร์ริส จาง (Morris Chang) โดย มอร์ริส จาง เกิดที่ประเทศจีน ในยุคสงครามกลางเมือง เมื่อปี 1931
ตอนอายุประมาณ 10 ขวบ มอร์ริส จาง และครอบครัว ก็อพยพไปฮ่องกง และตัวเขาได้เรียนต่อในสหรัฐอเมริกา จนเรียนจบปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่ MIT ในปี 1953
เมื่อเรียนจบ มอร์ริส จาง ก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน เป็นวิศวกรการผลิต ของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ซึ่งตัวเขาก็ทำผลงานได้ดีมาก โดยสามารถลดต้นทุน และทำให้งานผลิตมีคุณภาพดีขึ้น
จากการทำงานที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ก็ทำให้ มอร์ริส จาง เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการผลิตชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่นั้น
หากถามว่าในยุคทศวรรษ 1950 ตัวพ่ออุตสาหกรรมชิป ของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นใคร ?
คำตอบคือ
- ไม่ใช่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ HP
- ไม่ใช่ผู้ออกแบบและผลิตชิป Intel
และก็ไม่ใช่เครือข่ายโทรศัพท์ AT&T
แต่เป็นบริษัท Texas Instruments ผู้ผลิตเครื่องคิดเลข และอุปกรณ์แอนะล็อกรายใหญ่ของโลก
Texas Instruments ถือเป็นบริษัทม้ามืด ที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
โดยบริษัท ได้ผลิตทรานซิสเตอร์ (Transistor) สำหรับขายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 1954
ซึ่งต่อมาในปี 1958 แจ็ก คิลบี วิศวกรหัวเรือใหญ่ของ Texas Instruments ได้ทำการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “แผงวงจรรวม” เป็นครั้งแรกของโลก
แผงวงจรรวม ก็คือ แผงวงจรไฟฟ้าสีเขียว ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป
หน้าที่ของแผงวงจรรวม คือจะรวมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ทางไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างทรานซิสเตอร์ ตัวเก็บประจุ และตัวต้านทาน เข้าด้วยกันเป็นแผงวงจรเดียว เพื่อให้สามารถควบคุม ประมวลผล หรือแปลงสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
ซึ่งแผงวงจรรวมขนาดใหญ่ในสมัยนั้น ก็ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กมาก ๆ อย่างชิปต่าง ๆ บนสมาร์ตโฟน หรือแล็ปท็อปในปัจจุบัน
และแน่นอนว่า เมื่อมีคนประดิษฐ์คิดค้น ก็ต้องมีคนที่จะมาหาวิธีผลิตให้..
ดังนั้น Texas Instruments จึงได้ทาบทามวิศวกรผู้ที่มีหน่วยก้านดี นั่นคือ “มาร์ริส จาง” ให้เข้ามาทำงานเป็นวิศวกรโรงงาน ในปี 1958
ในระหว่างการทำงานที่ Texas Instruments เขาก็มีความสามารถ และผลงานที่โดดเด่นมาก ๆ
จึงทำให้เขาได้รับการโปรโมต ให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้าย เขาก็ได้ขึ้นมาเป็น รองประธานฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ ของ Texas Instruments
ในเวลาต่อมา โรงงานผลิต Texas Instruments เริ่มประสบปัญหาด้านค่าแรงในสหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้บริษัทตัดสินใจขยายฐานการผลิต มายังประเทศในเอเชียมากขึ้น เพราะมีค่าแรงถูกกว่า
และที่แรก ๆ ที่ Texas Instruments ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิต ก็คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงไต้หวัน
โดยสำหรับในไต้หวัน โรงงานชิปแห่งแรกอยู่ที่เมือง Hsinchu และเริ่มเปิดเป็นครั้งแรกในปี 1980 โรงงานนี้ ทำหน้าที่เพียงประกอบและทดสอบชิปเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นโรงงานที่ผลิตตัวชิป ที่เป็นเหมือนพระเอกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไต้หวัน เริ่มหันมาเข้าสู่อุตสาหกรรมชิปอย่างจริงจัง ก็เริ่มต้นในปี 1985 โดยชายคนหนึ่งชื่อ เค. ที. หลี่
เค. ที. หลี่ เป็นรัฐบุรุษ ผู้เป็นนักวางแผนเศรษฐกิจของไต้หวัน ให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
ซึ่งวิสัยทัศน์ของ เค. ที. หลี่ เขามองว่าไต้หวันนั้น ต้องการอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่า ๆ ที่เน้นการรับจ้างผลิต และมีค่าแรงถูก ๆ
ซึ่งแน่นอนว่า พระเอกของอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูง ให้กับประชาชนและรัฐบาลไต้หวันก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์
เมื่อเห็นแบบนี้ เค. ที. หลี่ จึงได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรเงินทุน เพื่อก่อตั้ง
“สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) ขึ้นมาสำหรับอุตสาหกรรมชิปโดยเฉพาะ
และแน่นอนว่า เค. ที. หลี่ ก็ได้เชิญ มอร์ริส จาง ให้เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ของ ITRI
หลังจากที่ มอร์ริส จาง ตกลงรับข้อเสนอนี้ ทางรัฐบาลไต้หวัน ได้ให้โจทย์กับเขาว่า ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ผ่านการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
มอร์ริส จาง จึงได้เริ่มวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ ที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเขาพบว่าไต้หวันในตอนนั้น มีจุดอ่อนเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการตลาด ไต้หวันยังไม่มีความสามารถมากพอ ที่จะสู้กับทาง Intel หรือ Texas Instruments ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ได้เลย
แต่สิ่งที่อุตสาหกรรมชิปยังขาดก็คือ “โรงงานรับจ้างผลิตชิปเต็มรูปแบบ” ที่ยังไม่มีใครเคยลองทำขึ้นมาจริง ๆ
พอ มอร์ริส จาง เสนอไอเดียแบบนี้ไป รัฐบาลไต้หวันก็ลังเล และคัดค้านไอเดียของเขา แต่ในที่สุดก็ยอมรับ และอนุมัติให้ก่อตั้ง TSMC เพื่อรับจ้างผลิตชิปในปี 1987
แต่การสร้างโรงงานผลิตชิป ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งคิดเป็นเงินปัจจุบันมากถึงแสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องลงทุนร่วมกับ Philips จากเนเธอร์แลนด์
โดยในช่วง 3 ปีแรกของการก่อตั้ง บริษัทมีลูกค้าเพียงไม่กี่ราย
ต่อมาในปี 1991 สิ่งที่ มอร์ริส จาง คิดไว้ ก็เริ่มเป็นจริง เพราะเริ่มมีบริษัทที่ต้องการชิปเซต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีทุนสร้างโรงงานผลิตเอง ซึ่งได้กลายมาเป็นลูกค้าของ TSMC อย่างต่อเนื่อง
เมื่อมีคำสั่งผลิตอย่างมหาศาล TSMC ก็ยิ่งมีความเชี่ยวชาญ และได้เปรียบด้านต้นทุน เพราะสามารถประหยัดต่อขนาด จากการผลิตได้จำนวนมากนั่นเอง
ตัวอย่างลูกค้า ก็เช่น Apple, AMD, NVIDIA, Intel, Microsoft, Amazon, Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ TSMC ก็ยังลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการลดขนาดของทรานซิสเตอร์และชิป ให้มีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการพัฒนาชิปรุ่นต่าง ๆ ให้มีพลังในการประมวลผลที่แรงขึ้น
เราจะเห็นได้ว่าในทุก ๆ ปี TSMC ได้ผลิตชิปที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ โดยเริ่มจาก
- ปี 1987 ปีแรกที่โรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตชิปขนาด 3 ไมโครเมตร
- ปี 1998 เริ่มผลิตชิปขนาด 250 นาโนเมตร สำหรับใช้กับ CPU ในยุคนั้น
- ปี 2004 เริ่มผลิตชิปขนาด 90 นาโนเมตร สำหรับใช้ในอุปกรณ์พกพา เช่น เครื่องเล่น MP3, iPod
- ปี 2010 เริ่มผลิตชิปขนาด 40 นาโนเมตร สำหรับใช้ในอุปกรณ์สมาร์ตโฟน
- ปี 2017 เริ่มผลิตชิปขนาด 10 นาโนเมตร สำหรับ iPhone X
- ปี 2022 เริ่มผลิตชิปขนาด 4 นาโนเมตร ให้กับ NVIDIA เป็นครั้งแรก โดยเป็นชิป GPU สำหรับ Data Center ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ AI
- ล่าสุดปี 2025 คาดว่าจะเริ่มผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร เป็นครั้งแรก สำหรับ iPhone รุ่นถัดไป
และ ณ สิ้นปี 2024 TSMC ก็ครองส่วนแบ่งตลาดการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์บนโลกนี้กว่า 67% เลยทีเดียว
จากจุดเริ่มต้น ของการตั้งไข่ ในอุตสาหกรรมการผลิตชิป มาจนถึงปัจจุบัน TSMC ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
และกลายเป็นฟันเฟืองขนาดใหญ่ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ให้กับบริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศ
อย่างแบรนด์คอมพิวเตอร์ Acer, ASUS, BenQ, MSI
และ MediaTek, Realtek ผู้ออกแบบและพัฒนาชิปรายใหญ่ในไต้หวัน
ทีนี้ ถ้าเราเอาแว่นขยาย ส่องลงไปที่สัดส่วนรายได้ของ TSMC ดูบ้าง
สัดส่วนรายได้ของ TSMC ในไตรมาส 1 ปี 2025 แบ่งตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
- โซนอเมริกาเหนือ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 77% โดยมีลูกค้าอย่าง Apple, NVIDIA, AMD, Qualcomm และ Broadcom
- ประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน 7% โดยมีลูกค้าอย่าง HiSilicon, UNISOC และ SMIC
- โซนเอเชียแปซิฟิก อย่างเช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วน 9% มีลูกค้าอย่าง MediaTek, Samsung และ LG
- ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 4% มีลูกค้าอย่าง Sony และ Renesas
- โซนยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 3% โดยมีลูกค้าอย่าง NXP, Infineon และ STMicroelectronics
จากสัดส่วนรายได้ เราก็จะเห็นได้ว่า ลูกค้าของ TSMC มากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นแบรนด์ดังจากสหรัฐอเมริกา
ด้วยตลาดชิปในสหรัฐอเมริกา ที่ใหญ่มาก ๆ ทำให้ตั้งแต่ปี 2020 TSMC ได้ประกาศแผนในการลงทุน สร้างโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ที่รัฐแอริโซนา
ซึ่งปัจจุบัน TSMC ก็มีแผนระยะยาว โดยจะใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 5.6 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิป 6 แห่ง พร้อมกับศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา
โดย TSMC จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลทรัมป์ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คิดเป็นมูลค่า 390,000 ล้านบาท
ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ให้เงินสนับสนุน TSMC มากขนาดนี้
นั่นก็เพราะว่าสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของทรัมป์
ต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้า อย่างเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศอื่น ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ต้องขาดดุลการค้าอย่างหนัก
โดยเน้นการผลิต และบริโภคเองภายในประเทศมากขึ้น แถมยังสามารถใช้สหรัฐอเมริกา เป็นฮับแห่งใหม่ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย
นอกจากเรื่องการลดการขาดดุลทางการค้าแล้ว การมาตั้งโรงงาน TSMC ขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ก็ยังเพิ่มความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน และลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างไต้หวันกับประเทศจีน
ปัจจุบัน TSMC ได้เปิดโรงงานผลิตชิปไปแล้ว 1 แห่งในสหรัฐอเมริกา ส่วนที่เหลืออีก 5 แห่งกำลังอยู่ในแผนการก่อสร้าง และคาดว่า โรงงานผลิตชิปแห่งที่ 2 จะเริ่มทำการผลิตได้ในปี 2028..
ทั้งหมดนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องราวของ ไต้หวัน ที่เมื่อก่อน อุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวัน ต่างก็ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศเป็นหลัก
ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ อย่าง Texas Instruments ที่เอาโรงงานชิปมาไว้ที่ไต้หวัน
ปัจจุบันนี้ สถานการณ์กลับสลับกัน เทคโนโลยีการผลิตชิปของ TSMC ในไต้หวัน กำลังเป็นที่ต้องการจากประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป รวมถึงประเทศในเอเชีย ที่ต่างก็อยากให้ TSMC ไปตั้งโรงงานในประเทศของตัวเอง
ซึ่งเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจไม่น้อย สำหรับชาวไต้หวัน
รวมถึงผู้ก่อตั้งอย่าง มอร์ริส จาง เอง ที่ตอนนี้เขามีอายุถึง 94 ปีแล้ว
แต่ทั้งชีวิตของเขา ก็คงมีแต่ความภาคภูมิใจ ที่ได้ปลุกปั้น TSMC ให้กลายเป็นผู้ผลิตชิปที่ทั่วทั้งโลกจำเป็นต้องใช้
และเป็นผู้ที่ทำให้ไต้หวัน มีบทบาทและความสำคัญมาก ๆ ของโลก เพราะอนาคตชิปเซมิคอนดักเตอร์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ก็ล้วนอยู่ในดินแดนแห่งนี้..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-หนังสือ CHIP WAR สงครามชิป การต่อสู้เพื่อสุดยอดเทคโนโลยีระดับโลก โดย Chris Miller
-TSMC Quarterly Management Report January 16, 2025
-https://apnews.com/article/china-us-arizona-chips-technology-hobbs-419d98b3e722a9cd1930c52ab2e48f3e
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon