สรุปไฮไลต์จากงาน EARTH JUMP 2025 : Transition Thru Turbulence

สรุปไฮไลต์จากงาน EARTH JUMP 2025 : Transition Thru Turbulence

KBank x ลงทุนแมน
จบไปแล้วสำหรับงาน EARTH JUMP 2025
ที่ปีนี้รวมเอาวิทยากร ผู้นำระดับประเทศและนานาชาติกว่า 50 ราย
มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้ธีม “Transition Thru Turbulence”
เพื่อพาธุรกิจไทยก้าวผ่านความแปรปรวนด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน
ทำไมธุรกิจต้องเริ่มขยับตั้งแต่วันนี้ ?
ธุรกิจจะเอาตัวรอดอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
New Climate World Order
เพราะโลกกำลังเขียนกติกาใหม่ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ไม่อิงกับสหรัฐฯ อีกต่อไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศคู่ค้ามีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM Certification
หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าในปี 2026 เป็นต้นไป
หรือในมิติของประเทศไทยเอง ก็มีพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ภาครัฐเองกำลังผลักดันในปีหน้า
สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศแปรปรวนที่โลกเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ไล่ตั้งแต่ ภาวะโลกร้อน ฤดูกาลไม่เหมือนเดิม ที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก และภัยพิบัติต่าง ๆ
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต้องรีบแก้ไข ไม่สามารถรอให้ธุรกิจพร้อมได้อีกแล้ว
และก็จะมีกฎระเบียบมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ออกมาอีกเรื่อย ๆ
แน่นอนว่า ถ้าธุรกิจไม่เริ่มขยับในวันนี้ จะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในอนาคต
และสุดท้ายถ้าธุรกิจไม่ปรับตัว.. ความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง เท่ากับว่าอาจหมดโอกาสแข่งขันในเวทีโลก หรือแม้แต่ในประเทศเองก็ตาม
กลับมาที่คำถามว่า ธุรกิจจะเอาตัวรอดอย่างไร ?
สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เทรนด์ใหม่เพื่อทางรอดของภาคธุรกิจ
ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
เพราะวันนี้กลายเป็นแนวทางที่จับต้องได้ และได้มีกรณีเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยอีกด้วย
โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทยอย่าง SCGP ที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ กลายเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
อย่างพลาสติกชนิดพิเศษที่ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น หรือออกแบบกล่องกระดาษที่ใช้วัตถุดิบน้อยลงแต่ยังคงความแข็งแรง โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เยื่อยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นไม้ปลูกเชิงพาณิชย์ที่เติบโตเร็ว
หรือกระดาษสัมผัสอาหารที่เคลือบด้วยไบโอพลาสติก ทำให้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารพิษตกค้าง
หรือฝั่งของธุรกิจศูนย์การค้า Central Pattana ที่จับมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือกันในเรื่องการจัดการของเสียภายในศูนย์การค้าในจังหวัดเชียงใหม่
ที่เผยอินไซต์ว่า การจัดการของเสียอย่างมีระบบ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้
กลายเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะในบริบทของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้คุณค่ากับแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
มากกว่านั้นคือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ
ยังช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนแฝง ที่อาจไม่เคยมองเห็นหรือให้ความสำคัญมาก่อน
อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย หรือแม้กระทั่งต้นทุนจากการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนส่วนเกิน ที่สุดท้ายต้องมีการเรียกเก็บในอนาคต
และอีกฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ก็คือ ตลาดคาร์บอนเครดิต
อธิบายหลักการง่าย ๆ คือ หากบริษัทใดลดการปล่อยคาร์บอน ได้ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนด
ก็สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เหลือ ให้บริษัทอื่นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนด นั่นเอง
แปลว่าหากบริษัทไหนต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก
ก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทอื่น
ส่วนทางฝั่งบริษัทที่เป็นผู้ขายก็จะนำเงินที่ได้ มาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการของตัวเอง
ที่เน้นใช้พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งโมเดลนี้ จะส่งผลให้บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยอยู่แล้ว
ก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ก้าวไปสู่ Net Zero หรือค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
ส่วนบริษัทไหนที่ไม่อยากมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่ม ก็หันมาเคร่งครัดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ในกระบวนการผลิตและอื่น ๆ
ซึ่งตรงนี้ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กำลังจะไม่ถูกจำกัดโดยบริษัทใหญ่เท่านั้น
แต่ธุรกิจ SME ก็สามารถมีส่วนร่วมได้เช่นกัน เพราะเรื่องนี้กำลังถูกผลักดันจากหลายฝ่าย เพื่อให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เข้าถึงได้เป็นวงกว้าง เกิดดีมานด์และซัปพลายอย่างเป็นรูปธรรม
โดยในมุมของฝั่งผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ก.ล.ต. ได้พยายามออกใบอนุญาต
- สัญญาซื้อขายตลาดสปอต
โดยจะมี พรบ. ซื้อขายให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาขอใบจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้า
เพิ่มคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าอ้างอิงในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงออกใบรับรองซื้อขายพลังงานหมุนเวียน
- ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
เมื่อมีคาร์บอนเครดิต ก็สามารถมาออกโทเคนเป็นเหรียญเพื่อซื้อขายผ่านบล็อกเชน
รวมถึงฝั่ง KBank ที่ยังคงมุ่งเน้นเป้าหมาย Net Zero เป็นหัวใจสำคัญ
และตระหนักถึงมาตรการอย่าง CBAM รวมถึง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคาร
แม้ธนาคารจะปล่อยคาร์บอนโดยตรงเพียง 70,000 ตัน แต่ลูกค้าของธนาคารปล่อยรวมกันสูงถึงกว่า 40,000,000 ตัน
นั่นทำให้ KBank มุ่งมั่นที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการช่วยลูกค้าลดการปล่อยคาร์บอน
ผ่านการสร้างตลาดคาร์บอนที่โปร่งใส มีราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ และการใช้คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกตลาด
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การลดคาร์บอนในภาคธุรกิจได้จริง และใช้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อด้วย
โดยมีการดำเนินการใน 3 บทบาทหลัก
- การร่วมสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจตั้งแต่ปี 2018 โดยเป็นผู้ซื้อหลักถึง 70% เพื่อกระตุ้นอุปทาน และเตรียมพร้อมสู่สินทรัพย์ดิจิทัล
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับภาครัฐและเอกชน
- การต่อยอดนวัตกรรม เช่น การใช้บล็อกเชนและโทเคน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ และการเข้าถึงในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ KBank ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และเครื่องมือวัดคาร์บอนแก่ภาคอุตสาหกรรม
เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ถึงตรงนี้ ถ้าสรุปจากงาน EARTH JUMP 2025 ในครั้งนี้ “โลกไม่ได้รอให้ใครพร้อม”
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือทางรอดที่ธุรกิจต้องเริ่มทันที
และไม่ใช่แค่การกระโดดเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรค
แต่คือการกระโดดเพื่อคว้าโอกาสใหม่ ๆ บนโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ธุรกิจไหนที่เข้าใจความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
ก็สามารถปรับตัวก่อน ย่อมคว้าโอกาสและความได้เปรียบในเกมเปลี่ยนผ่านครั้งนี้..
#KBank #EARTHJUMP2025 #GoGreenTogether #ClimateChange
Reference
- อิเวนต์งาน EARTH JUMP 2025 : Transition Thru Turbulence
Tag: KBank

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon