คลังจับมือแบงก์ชาติ ปล่อย “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” พร้อมมาตรการใหม่ “จ่าย ตัด ต้น” รองรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

คลังจับมือแบงก์ชาติ ปล่อย “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” พร้อมมาตรการใหม่ “จ่าย ตัด ต้น” รองรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

คลังจับมือแบงก์ชาติ ปล่อย “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” พร้อมมาตรการใหม่ “จ่าย ตัด ต้น” รองรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน /โดย ลงทุนแมน
จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่มีมากถึง 16 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 90% ของ GDP ประเทศไทย
จึงเป็นที่มาของโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" มาตรการชั่วคราวของรัฐบาลไทย ที่จัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สิน
ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศเปิดตัวโครงการในเฟสที่ 2 แล้ว
โครงการเราสู้ด้วยกัน ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของไทยได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยหากย้อนไปดู “คุณสู้ เราช่วย เฟส 1” จะมี 2 มาตรการเดิม คือ
1. จ่ายตรง คงทรัพย์ มาตรการที่รวมหลากหลายประเภทหนี้ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และธุรกิจ SMEs
มีหลักการง่าย ๆ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีหนี้ เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการ
โดยเป็นการชำระหนี้แบบลดค่างวด และพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี หรือก็คือ ค่างวดลดลง และชำระดอกเบี้ย 0% 3 ปี
และมีเงื่อนไขว่า ลูกหนี้ต้องไม่ไปก่อหนี้เพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเริ่มมาตรการ
ที่น่าสนใจคือ หากชำระเงินตรงเวลาตลอด 3 ปี
และไม่ก่อหนี้ใหม่ในปีแรก ดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้ง 3 ปีจะถูกยกเว้น และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยก้อนนั้นเลย
ซึ่งมาตรการนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องมากขึ้น ในระหว่างที่เข้าร่วมมาตรการ
รวมถึงเป็นการเคลียร์ ก้อนหนี้ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ให้เหลือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หากทำตามเงื่อนไขได้ตลอด 3 ปี
2. มาตรการที่ 2 คือ จ่าย ปิด จบ
เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยโฟกัสที่กลุ่มสินเชื่อ NPL ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน และมียอดหนี้ไม่สูง
โดยนำมาเข้าการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน ซึ่งเจาะไปถึงฐานลูกหนี้ของกลุ่ม Nonbank ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
มาตรการนี้จะเข้ามาช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถจัดการหนี้ได้ และป้องกันไม่ให้หลุดไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ
โดยผลลัพธ์คือการเปลี่ยนสถานะจาก หนี้เสีย เป็น ปิดจบหนี้ เพื่อเคลียร์ประวัติเครดิตและเริ่มต้นใหม่ในระบบการเงิน ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพอีกครั้ง
ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการในเฟส 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี
และพบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย รวมเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท
ซึ่งโครงการมีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะในสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงช่วยชะลอการยึดรถ และพยุงราคาของรถยนต์มือสอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกหนี้หลายรายที่ไม่เข้าคุณสมบัติของโครงการในเฟส 1 เช่น สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการชำระหนี้
จึงเป็นที่มาของการขยายระยะเวลาการสมัครเข้าร่วมโครงการ คุณสู้ เราช่วย ในเฟส 1 ไปจนถึง 30 กันยายน 2568
รวมถึงการเปิดตัวโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2 ซึ่งสิ่งที่เพิ่มมาก็คือ การขยายคุณสมบัติของมาตรการเดิมทั้ง 2 มาตรการ ในเฟส 1 ก็คือ
- มาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ ขยายให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 ถึง 30 วัน
โดยที่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเภทลูกหนี้และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังเหมือนกับเฟส 1
- มาตรการ จ่าย ปิด จบ ขยายให้ครอบคลุมยอดหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ซึ่งมาตรการช่วยเหลือยังเหมือนกับเฟส 1 คือ ลูกหนี้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
และอีกหนึ่งมาตรการใหม่ในเฟส 2 คือ จ่าย ตัด ต้น ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPL ที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และมียอดหนี้คงไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี
โดยการปรับโครงสร้างหนี้ มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลยหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี
จะเห็นว่า หลักการของโครงการคุณสู้ เราช่วย ก็คือ หากลูกหนี้พร้อมกัดฟันสู้ และตั้งใจชดใช้หนี้ในระยะเวลา 3 ปี
มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะช่วยซัปพอร์ต ทำให้การชำระหนี้เห็นผลมากขึ้น ยอดหนี้ลดลง ทำให้เมื่อชำระหนี้ครบ 3 ปี แล้วภาระหนี้ที่เคยหนักอึ้ง ก็จะเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เคลียร์ประวัติการชำระหนี้ที่เคยย่ำแย่ ไม่น่าเชื่อถือ ให้ดูดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระบบสถาบันการเงิน ป้องกันการหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกินสังคมไทยมายาวนาน
และหากมองในมุมของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินแล้ว หนี้เสียที่มีก็เหมือนต้นทุนของกิจการ
สถาบันการเงินเหล่านี้ ก็เต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อนำ NPL ที่มีอยู่ มาชำระล้าง และทำให้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมของกิจการ มีคุณภาพดีขึ้นเช่นกัน..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon