ท่ามกลาง “สงครามราคา” แอปเรียกรถ ใครได้ ใครเสีย ?

ท่ามกลาง “สงครามราคา” แอปเรียกรถ ใครได้ ใครเสีย ?

ท่ามกลาง “สงครามราคา” แอปเรียกรถ ใครได้ ใครเสีย ?
ถ้าถามว่าผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่สุดในโลกคือใคร ?​​
คำตอบก็คือ Uber ผู้ชนะในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันมีมูลค่า 5.8 ล้านล้านบาท
และมีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่า 7 ใน 10 ทิ้งผู้ให้บริการอันดับ 2 อย่าง Lyft ชนิดไม่เห็นฝุ่น
ในขณะที่ในประเทศจีน ผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่สุดของที่นี่ ก็คือ Didi Chuxing ที่ถูกขนานนามว่า Uber of China
รู้หรือไม่ว่า เมื่อหลายปีก่อน Uber เคยเข้ามาแข่งขันในจีน และอาเซียนแล้ว
แต่สุดท้ายก็ไปต่อไม่ไหว จนต้องตัดสินใจควบรวมกับผู้เล่นท้องถิ่นรายใหญ่อย่าง Didi เพื่อแลกกับหุ้น 20% ของ Didi
รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Uber ก็ขายให้กับ Grab เพื่อแลกกับหุ้นราว 27.5% เมื่อ 7 ปีที่แล้ว
ตั้งแต่นั้นมา จำนวนคู่แข่งรายใหญ่ก็ลดลง และ Grab ก็นับเป็นผู้ชนะในภูมิภาคบ้านเรา
แต่ธรรมชาติของธุรกิจ
ที่ไหนมีโอกาสสร้างกำไรดี คู่แข่งไม่มาก
ที่นั่นก็ย่อมมีคู่แข่งรายใหม่ เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ
สงครามเรียกรถในไทย ก็ยังคงมีอยู่
แล้วถ้าถามว่าสถานการณ์การแข่งขันในบ้านเรา ตอนนี้เป็นอย่างไร ?
ก่อนอื่นเรามาวิเคราะห์กันก่อนว่า ทำไม Grab ถึงมีสถานะเป็น Top of Mind คือหากเราคิดจะใช้บริการแอปเรียกรถ มักจะนึกถึง Grab เป็นเจ้าแรก
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นธุรกิจในปี 2012 ที่ตอนนั้นใช้ชื่อแอป MyTeksi ในประเทศมาเลเซีย
บริการเลือกรถโดยสารผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อแก้ปัญหารถ Taxi ชอบปฏิเสธผู้โดยสาร หรือปัญหาด้านความปลอดภัยต่าง ๆ พร้อมกับเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ
หลังจากนั้นไม่นาน MyTeksi ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Grab
และได้ขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะขยายตลาดในภูมิภาคแล้ว ก็ได้ขยายบริการอื่น ๆ ด้วย เช่น
- GrabFood สำหรับส่งอาหาร
- GrabMart สำหรับซื้อของจากร้านค้า
- GrabExpress สำหรับส่งพัสดุด่วน
รวมถึงธุรกิจด้านการเงินอย่าง Grab Financial Group
การขยายไปยังหลายบริการเหล่านี้ ช่วยให้ Grab กระจายช่องทางการสร้างรายได้ ลดต้นทุนบางส่วนที่ใช้ร่วมกันได้ และเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น จน Grab ก็เรียกได้ว่าเป็น Super App ครบวงจร
สำหรับประเทศไทย Grab เข้ามาบุกเบิกตลาด เมื่อ 12 ปีที่แล้ว และกลายมาเป็นผู้นำในบ้านเรา
สาเหตุสำคัญก็เพราะ Grab เป็น First Mover Advantage ที่ทำได้ดี มีความ Localize ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนไทย ทั้งในด้านแอปพลิเคชัน และโปรโมชัน
บวกกับการสร้างแบรนด์ และความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างฟีเชอร์ที่ Grab เอาชนะใจผู้โดยสาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ก็คือระบบความปลอดภัยผู้โดยสาร ซึ่ง Grab พัฒนาสารพัดฟีเชอร์ เช่น
- มีระบบยืนยันตัวตนคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authentication)
- สามารถแชร์โลเคชันให้เพื่อนหรือครอบครัวดูได้ (Share My Ride)
- SOS บริการปุ่มฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุร้าย
นอกจากนี้ ยังมีระบบคัดกรองคนขับที่เข้มข้น โดยตรวจประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง และมีระบบประเมินผลการให้บริการเพื่อควบคุมมาตรฐาน
ทั้งหมดนี้ดูแล้ว ก็น่าจะทำให้ Grab แข็งแกร่งในตลาด มี Moat ในการแข่งขัน จนคู่แข่งหน้าใหม่ ไม่อยากเข้ามาร่วมวงแข่งขันด้วย
แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม
โดยทุกวันนี้ มีแอปเรียกรถที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ไปแล้วนับสิบราย ที่พร้อมจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจาก Grab
และหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้เล่นรายใหม่ ๆ ต้องการแย่งชิงลูกค้าจาก Grab
ก็คือ “สงครามราคา” ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลเร็วที่สุด
ถ้าเราสังเกตข้อเสนอในแอปเรียกรถที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ ก็เช่น
- การคิดอัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร ที่ถูกกว่า Grab
- บางรายมีบริการให้ผู้โดยสารสามารถต่อรองราคากับคนขับได้
- แจก Code ส่วนลดที่มีทั้งมูลค่า และอัตราความถี่กระตุ้นในการเรียกใช้บริการ
สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะทำให้ Grab สูญเสียลูกค้าไปไม่มากก็น้อย
แต่อย่างที่เรารู้กันว่า กลยุทธ์สงครามราคาเหล่านี้ อาจไม่ใช่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนก็ได้
เพราะหากต้องการเล่นเกมสงครามราคาจริงจัง
คนที่ได้เปรียบและมีโอกาสอยู่รอดก็คือ คนที่มีทุนมากที่สุด
ในกรณีของ Grab ช่วงแรก ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ก็ขาดทุนไม่น้อย
ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มนักลงทุน อย่าง Grab ในไทย ภายใต้บริษัท แกร็บแท็กซี่
(ประเทศไทย) จำกัด ช่วงแรก ๆ ขาดทุนปีละหลายร้อยล้าน ไปจนถึงพันล้านบาท
จนเพิ่งมาทำกำไรได้ในปี 2022 เป็นปีแรก และกำไรก็เติบโตทุกปีนับตั้งแต่นั้นมา
แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า Grab ต้องกลับมาเผชิญกับความท้าทายเรื่องสงครามราคาอีกครั้ง
ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใช่ว่า Grab จะนิ่งเฉย
เพราะล่าสุดได้ตอบโต้ด้วยบริการ Saver เรียกรถราคาประหยัด ที่จะมีราคาถูกกว่า 15-30% เมื่อเทียบกับราคาปกติกับ GrabCar และ GrabBike ด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาจากการทำ “สงครามราคา” ของผู้เล่นรายใหม่ ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คือการลดต้นทุนธุรกิจตัวเองให้ต่ำที่สุด เพื่อที่จะ Scale ธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเรื่องนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารโดยตรง แบบที่เราไม่ทันรู้ตัว เช่น
- ไม่มีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้ผู้โดยสาร เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ
- ลดจำนวนพนักงาน Call Center ทำให้เมื่อเกิดเหตุร้าย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน
ถ้าติดต่อไปเจอแต่ Chatbot
- ไม่มีระบบคัดกรองมาตรฐานคนขับและรถ ที่มาให้บริการอย่างจริงจัง
ศึกสงครามแอปเรียกรถครั้งนี้
จะจบลงที่ตรงไหน และจะเปลี่ยนโฉมภาพการแข่งขันไปแค่ไหนนั้น
ตรงนี้ก็คงไม่มีใครคาดเดาภาพที่ชัดเจนต่อไปได้
แต่ส่วนหนึ่ง คงต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ต้องชั่งน้ำหนัก 2 ตัวเลือกคือ
1. ยอมจ่ายถูกกว่า
2. ยอมจ่ายแพงขึ้นมาอีกนิด เพื่อความอุ่นใจ
เพราะสุดท้ายแล้ว “สงครามราคา” แม้จะช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จ่ายถูกลง
แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น เป้าหมายสูงสุดในทุกการเดินทางของใครหลายคน
ก็น่าจะมีเรื่องของ “ความปลอดภัย” ด้วยเหมือนกัน..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon