Permata Bank ดีลซื้อกิจการ ที่ขับเคลื่อนการเติบโต ให้ธนาคารกรุงเทพ

Permata Bank ดีลซื้อกิจการ ที่ขับเคลื่อนการเติบโต ให้ธนาคารกรุงเทพ

Permata Bank ดีลซื้อกิจการ ที่ขับเคลื่อนการเติบโต ให้ธนาคารกรุงเทพ /โดย ลงทุนแมน
เมื่อ 5 ปีก่อน หลายคนน่าจะได้เห็นข่าวการซื้อธนาคาร Permata Bank ในอินโดนีเซีย ของธนาคารกรุงเทพ
แต่ก็อาจจะยังไม่ได้เห็นภาพชัดเจนนักว่า Permata Bank ได้เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทางธนาคารกรุงเทพ อย่างไรบ้าง
ซึ่งถ้าหากสงสัยว่า ในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทางธนาคารกรุงเทพ ได้อะไรจากการเข้าซื้อ Permata Bank ?
วันก่อนลงทุนแมนได้มีโอกาสไปดูกิจการของ Permata Bank ถึงอินโดนีเซียมาแล้ว จะเล่าให้ฟัง..
รู้ไหมว่า ธนาคารกรุงเทพ เข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียตั้งนานแล้ว ด้วยการตั้งสาขาที่กรุงจาการ์ตา เมื่อปี 1968 หรือ 57 ปีก่อน
ซึ่งในตอนนั้นสภาพเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็นประเทศดาวรุ่ง เศรษฐกิจเติบโตเร็ว แบบในวันนี้เลยแม้แต่น้อย
เพราะต้องเจอทั้งเงินเฟ้อสูงเป็น 100% การเมืองก็กำลังวุ่นวายจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจ และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ก็ลดลงเรื่อย ๆ
ทำให้กว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะพัฒนา จนธุรกิจใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพเติบโตขึ้นมากพอ ถึงจะขยายสาขาเพิ่มเติมได้นั้น
ก็ต้องรอถึงปี 2012 ที่ธนาคารกรุงเทพ เปิดสาขาที่ 2 ที่เมืองซูราบายา และตามมาด้วยสาขาที่ 3 ในเมืองเมดัน เมื่อปี 2013
จนกระทั่งการทุ่มเงินราว 73,722 ล้านบาท เข้าถือหุ้นของ Permata Bank ถึง 89.12% ในปี 2020 ที่ทำให้ธุรกิจของธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซีย เติบโตแบบติดจรวด
จากแต่เดิมที่มีธนาคารแค่ 3 สาขาในอินโดนีเซีย เมื่อรวม Permata Bank เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ก็ทำให้ธนาคารกรุงเทพ มีเครือข่ายสาขาธนาคารเพิ่มขึ้นมากว่า 200 สาขาในทีเดียว
เหล่าลูกค้าของ Permata Bank ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย และธุรกิจ SME ของอินโดนีเซีย
ตัวอย่างเช่น ในสาขาบาหลี ที่ลงทุนแมนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ข้อมูลมาว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือผู้คนและธุรกิจ SME ท้องถิ่นบนเกาะบาหลี
รวมถึงมีลูกค้าชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในบาหลี ซึ่งแนะนำกันแบบปากต่อปาก ค่อนข้างมากด้วย
ทาง Permata Bank จึงช่วยให้ธนาคารกรุงเทพเข้าถึงลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซียได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน Permata Bank เอง ก็สามารถเข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ได้มากขึ้น ผ่านแบรนด์ที่แข็งแกร่งของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของธุรกิจใหญ่ในอินโดนีเซีย มานานกว่า 50 ปีแล้ว
อีกทั้งการรวมเข้ากับธนาคารกรุงเทพ ก็ทำให้ Permata Bank กระโดดขึ้นมาเป็นธนาคารติดอันดับ Top 10 ของอินโดนีเซียอีกด้วย
เมื่อไปดูตัวเลขในงบการเงินของทั้งธนาคารกรุงเทพ และ Permata Bank ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมานี้
ก็พบว่าตัวเลขการเติบโตสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ ถ้าหากนับเอาแค่ในประเทศไทย เฉลี่ยแล้วหดตัวลง 0.5% ต่อปี
สวนทางกับทาง Permata Bank ที่มียอดการให้สินเชื่อเติบโตเฉลี่ยถึง 5% ต่อปี
ด้วยการที่ Permata Bank ยังคงเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็ช่วยให้ธนาคารกรุงเทพ ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ แม้สภาพเศรษฐกิจไทยจะยังเจอกับความท้าทายอยู่
เพราะการเติบโตสินเชื่อโดยรวมของธนาคารกรุงเทพ ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมานี้ สามารถเติบโตได้เฉลี่ยถึง 2.6% ต่อปี
และนอกจากเรื่องการเติบโตแล้ว ทางธนาคารกรุงเทพ ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำอีกหนึ่งจุดแข็งของ Permata Bank อย่างเรื่องแอปพลิเคชันและการใช้เทคโนโลยีในการบริหารสาขาต่าง ๆ มาพัฒนาตัวเองอีกด้วย
เพราะทาง Permata Bank มีแอปพลิเคชัน Permata ME ซึ่งมีฟีเชอร์ให้ลูกค้าเลือกใช้อย่างครบครันถึง 200 ฟีเชอร์
รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ เพื่อดูแลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างการให้ลูกค้าจองคิวรับบริการได้ ตั้งแต่ในแอปพลิเคชัน Permata ME
ทำให้ลูกค้าไม่ต้องนั่งแออัดรอเรียกคิว แต่แค่จองคิวไว้ ถึงเวลาก็เข้ามาที่สาขาได้เลย เหมือนกับตอนที่เราจองร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชัน
จะเห็นได้ว่า ดีลการเข้าซื้อที่มีหลายคนมองว่าค่อนข้างแพงในวันนั้น
แต่มาวันนี้ Permata Bank กำลังเป็นเพชรที่เปล่งประกาย เช่นเดียวกับชื่อ Permata ในภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่า “อัญมณี”
ด้วยการเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจต่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนให้ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเติบโตต่อไปได้ แม้ในวันที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลง
พร้อมตอกย้ำความสำเร็จ ของวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมในการเป็น Regional Bank ของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่วันแรก ๆ
จนมองเห็นโอกาสการเติบโต ของประเทศดาวรุ่งอย่างอินโดนีเซียได้ก่อนใคร มานานถึง 57 ปีแล้ว..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon