สรุปอินไซต์ ทำไมท่องเที่ยวภูเก็ต ยังเติบโต แม้คนจีน เที่ยวน้อยลง

สรุปอินไซต์ ทำไมท่องเที่ยวภูเก็ต ยังเติบโต แม้คนจีน เที่ยวน้อยลง

สรุปอินไซต์ ทำไมท่องเที่ยวภูเก็ต ยังเติบโต แม้คนจีน เที่ยวน้อยลง /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้ถ้าเราเดินชายหาดภูเก็ต ผ่านนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 คน เราจะเจอนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนจีนไปแล้ว 9 คน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งหรืออินเดียแทน
นี่เป็นภาพที่ลงทุนแมนมีโอกาสได้เห็นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการไปร่วมงานแถลงข่าวกับ SCB และผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ได้เห็นอินไซต์อะไรใหม่ ๆ มากขึ้น
แล้ววันนี้ ภาพการท่องเที่ยวภูเก็ต เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตอนนี้เรารู้กันดีว่า การท่องเที่ยวไทยกำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก เพราะคนจีนเที่ยวไทยน้อยลง จนทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวดูหดตัวลง
เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งประเทศที่ลดลง 3% ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ 3% ดูเป็นจำนวนที่ไม่เยอะ แต่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 14.4 ล้านคน ถ้าคูณ 3% ที่หายไป นักท่องเที่ยวหายไปราว 430,000 คนเลยทีเดียว
ตัดภาพกลับมาที่ภูเก็ต ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในภูเก็ตไปแล้ว 2.4 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตถึง 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ถ้าคูณ 8% กลับเข้าไป ก็แปลว่า ปีนี้ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขกลม ๆ เกือบ 200,000 คนเลยทีเดียว
แล้วทำไมวันที่การท่องเที่ยวไทยทรุด แต่ภูเก็ตยังเติบโตได้ดี ?
เหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตในตอนนี้ มาจากกลุ่มประเทศทวีปยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายสูง และใช้เวลาเที่ยวต่อครั้งนานมาก
ซึ่งเป็นภาพที่ลงทุนแมนรู้สึกว่า ไม่ต่างอะไรจากช่วงปี 2561 ที่เรายังจำกันได้ว่า ตอนนั้นภูเก็ตยังเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวฝรั่ง ก่อนที่ภูเก็ตจะโด่งดัง จนคนจีนเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตมากขึ้น
ทำให้จริง ๆ แล้ว ฐานนักท่องเที่ยวเดิมของภูเก็ตที่เป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งยังคงอยู่เหมือนเดิม ทำให้แม้คนจีนหายไป จึงกระทบต่อการท่องเที่ยวไม่มากนัก
แต่ในรอบนี้ แม้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมาเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวภูเก็ตต้องปรับตัว คือ เทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
เรื่องนี้ถูกฉายภาพโดยผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ต อย่างกลุ่มกะตะกรุ๊ป ที่มีจำนวนห้องพักกว่า 2,200 ห้อง ใน 9 โรงแรม เรียกได้ว่ามากสุดในกลุ่มจังหวัดอันดามันแล้ว หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างโรงแรมให้ยั่งยืนมากขึ้น
เพราะในกลุ่มผู้ให้บริการนายหน้าท่องเที่ยวหรือเอเจนซีของนักท่องเที่ยวยุโรป ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ซึ่งถ้าโรงแรมไม่เข้าข่ายความยั่งยืน ก็อาจเสียโอกาสในการต้อนรับลูกค้ากลุ่มนี้ไปเลยทันที
ทำให้กลุ่มกะตะกรุ๊ป หันมาโฟกัสกับความยั่งยืนในทุกด้าน เริ่มตั้งแต่การออกแบบโรงแรมบริเวณไม่ใช้แอร์ แต่เน้นออกแบบโดยการใช้ลมธรรมชาติแทน
และเพื่อให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากธรรมชาติมากขึ้น กลุ่มกะตะกรุ๊ป ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรมตัวเอง เพื่อลดต้นทุนค่าไฟของตัวเองไปพร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังเน้นการใช้วัตถุดิบอาหารจากในชุมชนใกล้เคียง ไปจนถึงการใช้บริษัทรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่เพื่อกระจายรายได้ในจังหวัดอีกด้วย
การทำแบบนี้ ทำให้กลุ่มกะตะกรุ๊ป สามารถเกาะเทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไปได้
ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษากลุ่มลูกค้าของโรงแรมไว้อย่างเดียว แต่การทำแบบนี้ ยังช่วยให้กลุ่มโรงแรมลดต้นทุนการทำธุรกิจของตัวเองไปได้อีกด้วย
ทำให้จริง ๆ แล้ว การสร้างธุรกิจโรงแรมให้ยั่งยืน จึงเหมือนกับการได้โบนัสสองต่อ ทั้งรักษารายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ไปพร้อมกับการลดต้นทุนของตัวเองไปพร้อมกัน
และนอกจากกลุ่มกะตะกรุ๊ปแล้ว ลงทุนแมนก็ได้มีโอกาสเจอกับกลุ่มหยี่เต้งกรุ๊ป ที่ปัจจุบันทำโรงแรมที่หาดป่าตอง หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของภูเก็ต
โรงแรมของกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มกะตะกรุ๊ป ที่ออกแบบให้บริเวณล็อบบีของโรงแรมใช้ลมจากธรรมชาติเช่นกัน ส่วนวัตถุดิบเมนูอาหารต่าง ๆ ก็มาจากชุมชนในท้องถิ่นแทบทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีระบบแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นระบบของ Marriott ที่เป็นพาร์ตเนอร์คนสำคัญของกลุ่มหยี่เต้งกรุ๊ป อีกทอดหนึ่ง
จากเทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนี้เอง ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านของโรงแรมไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
สะท้อนได้จากการปล่อยสินเชื่อด้านความยั่งยืนราว 180,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนี้ มาจากกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตมากถึง 80,000 ล้านบาท
ซึ่งจังหวัดภูเก็ตก็เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าโรงแรมสำคัญเช่นกัน ที่ SCB เข้าไปมีส่วนช่วยให้กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตในภูเก็ต เปลี่ยนผ่านไปสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกโรงแรมเองจะมีความพร้อมในการปรับตัวสู่ความยั่งยืน ทำให้ SCB แบ่งลูกค้าโรงแรมออกเป็น 2 กลุ่มหลักในการให้ความช่วยเหลือตรงนี้
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่กำลังเพิ่งเริ่มปรับตัว ในกลุ่มนี้ทาง SCB จะเข้าไปช่วยวางกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่าน พร้อมเสนอสินเชื่อที่เหมาะกับโรงแรมนั้น ๆ
ส่วนกลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ในกลุ่มนี้ SCB จะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายความยั่งยืนของลูกค้าอยู่แล้ว
รวมไปถึงการสนับสนุนการปรับปรุงโรงแรมหรือสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ เพื่อรองรับให้โรงแรมได้รับการรับรองอาคารยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มกะตะกรุ๊ป และหยี่เต้งกรุ๊ป ก็เป็นพันธมิตรกับทาง SCB มานานกว่า 30 ปีแล้ว ทำให้มีแนวทางต้นแบบการเปลี่ยนผ่านสู่โรงแรมยั่งยืนให้กับกลุ่มลูกค้าโรงแรมอื่น ๆ ในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
ก็น่าสนใจดีว่า ในวันที่นักท่องเที่ยวจีนหายไป ภูเก็ตยังเป็นจังหวัดที่ยังเติบโตได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่เข้ามาชดเชยแทน
แต่ภาพในอนาคตต่อไป ก็คงมีโจทย์ใหญ่รออยู่ว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้ไปในทิศทางใดต่อไปดี
เหมือนกับที่คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทิ้งท้ายในงานนี้เอาไว้ว่า ภูเก็ตสามารถเป็นได้ทั้งตลาดท่องเที่ยวแบบ Mass ที่เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป
หรือจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยว Ultra Luxury ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงก็ได้เช่นกัน..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon