ย้อนรอยจุดเริ่มต้นสงครามโลก ที่มาจากปัญหาปากท้อง และสงครามการค้า

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นสงครามโลก ที่มาจากปัญหาปากท้อง และสงครามการค้า

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นสงครามโลก ที่มาจากปัญหาปากท้อง และสงครามการค้า /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ต้นตอของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก ไม่ได้มีจุดเริ่มต้น จากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์
แต่เริ่มต้นมาจากสงครามการค้า เศรษฐกิจที่พังทลาย และความสิ้นหวังของคนในชาติ
วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมากีดกันทางการค้า ขึ้นภาษีกันไปมา จนการค้าโลกหยุดชะงัก
แล้ววิกฤติเศรษฐกิจ นำไปสู่สงครามโลก ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปี 1929 โลกต้องเผชิญกับ Great Depression วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ล่มสลาย แบบไม่ทันตั้งตัว
โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914-1918
ยุโรปกลายเป็นสมรภูมิรบ โรงงานและไร่นาเสียหาย
ทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมสงครามตั้งแต่แรก (เข้าร่วมปี 1917 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของสงคราม) จึงกลายเป็นผู้ส่งออกสำคัญ ทั้งอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตสุดขีด ตลาดหุ้นก็พุ่งตาม
ผู้คนเริ่มแห่กันมาลงทุนในหุ้นแบบไม่ดูความเสี่ยง เกิดภาวะเก็งกำไรจนตลาดหุ้นพองตัวเกินจริง กลายเป็นฟองสบู่
แต่เมื่อสงครามจบ ยุโรปเริ่มฟื้นตัว ภาคการผลิตเริ่มกลับมาเข้าที่ และพึ่งพาตัวเองได้
สินค้าจากสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มล้นตลาด และส่งออกได้น้อยลง
สวนทางกับยุโรปที่เริ่มส่งออกกลับมาขายสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มสะดุด
พอถึงปี 1929 ฟองสบู่ตลาดหุ้นก็แตก เกิดวิกฤติ Great Depression
ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ดิ่งลงเกือบ 90% (จากจุดสูงสุดในปี 1929 ถึงจุดต่ำสุดในปี 1932)
คนอเมริกันกว่า 1 ใน 4 ตกงาน
ธนาคาร 9,000 แห่งต้องปิดกิจการ
GDP ของสหรัฐอเมริกา หดตัวกว่า 30%
สร้างแรงกระแทกทางเศรษฐกิจที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาเงินกู้จากสหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ เริ่มหยุดชะงัก ล้มตามกันเป็นโดมิโน
รวมถึงเยอรมนี ที่ยังต้องแบกภาระค่าปฏิกรรมสงครามจากสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งเป็นผลพวงจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1
โดยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือ
ต้องจ่าย “ค่าปฏิกรรมสงคราม” มหาศาลให้กับฝ่ายชนะ
ผลคือ.. เศรษฐกิจเยอรมนีล่มสลาย
เงินเฟ้อรุนแรงจนเงินไม่มีค่า คนอดอยาก ธุรกิจล้ม
ความไม่พอใจแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
ในช่วงที่เยอรมนีกำลังสิ้นหวังจากเศรษฐกิจพัง
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ปรากฏตัวในฐานะ ผู้กอบกู้

ฮิตเลอร์กล่าวโทษสนธิสัญญาแวร์ซาย ประเทศผู้ชนะสงคราม และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวยิว ว่าเป็นต้นเหตุของความพังพินาศ
และให้ความหวังว่าจะพาเยอรมนี กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ ลัทธินาซี ค่อย ๆ เติบโต
จนกลายเป็นพลังที่พาฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในที่สุด
และเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตัวเอง
สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930
ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศอย่างรุนแรง กว่า 20,000 รายการ ทำให้ภาษีนำเข้า พุ่งขึ้นเฉลี่ยถึงเกือบ 60% ภายในปี 1932
แต่แทนที่จะช่วย กลับกลายเป็นการจุดชนวน สงครามการค้า กับประเทศทั่วโลก..
คู่ค้าตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน
การค้าโลกจึงหดตัวอย่างรุนแรงถึง 66% ในช่วงปี 1929‑1934
หลายประเทศเริ่มปิดประเทศ หันมาพึ่งพาตัวเอง
แทนที่จะร่วมมือกัน กลับกลายเป็นการแข่งขัน และความหวาดระแวงระหว่างชาติ
จนสุดท้ายทาง ฮิตเลอร์ ก็ใช้ความสิ้นหวังจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปลุกกระแสชาตินิยม
สุดท้ายในปี 1939 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น
อีกตัวละครสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก Great Depression อย่างหนักเช่นกัน
วิกฤตินี้ทำให้การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก เพราะตลาดทั่วโลกหดตัวตามกัน
ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก GDP ญี่ปุ่นหดตัวราว 8% ระหว่างปี 1929-1931
และมูลค่าส่งออกหดตัวกว่า 40% จนเกิดปัญหาการว่างงาน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ทำให้ญี่ปุ่นเร่งขยายอาณานิคมเพื่อหาแหล่งทรัพยากรมาใช้สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยการขยายอำนาจ และการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่การกระทำเหล่านี้กลับไปคุกคามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงสร้างความไม่มั่นคงให้กับภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรจึงคว่ำบาตร ตัดการส่งออกน้ำมันให้ญี่ปุ่น
ซึ่งญี่ปุ่นมองว่าการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก เป็นภัยคุกคาม
สุดท้ายในปี 1941 ญี่ปุ่นจึงเลือกตอบโต้ด้วยการบุก “เพิร์ลฮาร์เบอร์” ท่าเรือและฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่บนเกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย
กลายเป็นชนวนให้สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัว
บทเรียนจากประวัติศาสตร์นี้ได้บอกเราว่า
จุดเริ่มต้นทั้งหมดของสงคราม
อาจไม่ได้มาจากความเกลียดชัง หรืออุดมการณ์ทั้งหมด
แต่เริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่พังทลาย
และปัญหาปากท้องของผู้คน
พอเศรษฐกิจไม่ดี นำมาสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ
ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการดำรงชีวิต
มีการก่ออาชญากรรมมากขึ้น ประชาชนก็ยิ่งสิ้นหวัง
บางคนใช้โอกาสนี้ ยุยงปลุกปั่นกระแสชาตินิยม
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง หรือกระแสทางการเมืองที่ตกต่ำ
จึงเริ่มรุกรานประเทศอื่น นำไปสู่สงครามโลก ที่ทำให้บ้านเมืองและเศรษฐกิจเสียหายอย่างมหาศาล
และทำให้ผู้คนทั้งที่ร่วมสู้ หรือหลบหนีสงคราม ต่างก็ต้องล้มตาย นับหลายล้านคน..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon