รู้จัก Asset-Light Lifestyle มุมมองคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า “เช่า” ดีกว่า “ซื้อ”

รู้จัก Asset-Light Lifestyle มุมมองคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า “เช่า” ดีกว่า “ซื้อ”

รู้จัก Asset-Light Lifestyle มุมมองคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า “เช่า” ดีกว่า “ซื้อ” /โดย ลงทุนแมน
“เมื่อไรจะมีบ้าน ?” “เมื่อไรจะซื้อรถ ?”
ทั้งสองคำถามนี้ มักเป็นสิ่งที่เราได้ยินเวลาไปงานรวมญาติ หรือแม้แต่ไปสังสรรค์กับเพื่อน
บางคนก็อาจตอบไปว่ายังไม่มีเงิน ขณะที่บางคนอาจตอบตรง ๆ ไปว่า “ทำไมต้องมี”
ซึ่งไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่นิยมถือครองสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง น้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
โดยเราอาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่า Asset-Light Lifestyle ซึ่งในบทความนี้จะลองมาแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแนวคิดนี้
แนวคิดที่มองว่าการครอบครองสินทรัพย์ อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป และถ้าทุกคนพร้อมแล้ว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในสมัยก่อน คนส่วนใหญ่มักมองว่า การครอบครองสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอย่างเช่น บ้าน รถ เป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมอย่างหนึ่ง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจำนวนมากนั้นไม่ได้มีฐานะทางการเงินสูงพอ ที่จะครอบครองสินทรัพย์เหล่านี้ได้ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จึงทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะ “เช่า” เพราะความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แนวคิดการเช่านี้ ได้กลายมาเป็นแนวทางของคนรุ่นใหม่ ที่แม้บางคนอาจจะมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อ แต่กลับเลือกที่จะใช้วิธีการเช่าแทน
แล้วทำไมคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ถึงมีแนวคิดแบบนี้ ?
มาเริ่มกันที่เหตุผลแรก.. ราคาที่ไกลเกินเอื้อม
ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยนั้น ราคาบ้าน คอนโดมิเนียม ที่ดิน และรถยนต์ในบางยี่ห้อ มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ของคนทำงาน โตตามไม่ทัน
และถ้าหากเลือกที่จะกู้เงิน นอกจากการวางเงินดาวน์ที่สูงแล้ว ก็จะนำมาซึ่งภาระดอกเบี้ย ที่จะเป็นเงาตามตัวไปอีกหลายสิบปี
ทำให้คนรุ่นใหม่ ที่แม้จะสร้างรายได้ได้มาก แต่บางส่วนก็เลือกที่จะเช่าบ้าน เช่าคอนโดฯ ไปก่อน เพราะไม่อยากสร้างภาระก้อนโตให้ตัวเอง
นอกจากนี้ ด้วยความที่เศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ ถือว่ามีความไม่แน่นอนที่สูงมาก หากรายได้เกิดสะดุด ก็มีความเสี่ยงที่ผู้กู้จะไม่สามารถผ่อนชำระได้ และอาจตามมาด้วยปัญหาอีกมากมาย
ต่อกันที่เหตุผลที่สอง.. ความคล่องตัว
ด้วยทางเลือกที่มีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่เน้นหาประสบการณ์ในชีวิต โดยที่บางคนอาจเลือกที่จะไปถึงต่างประเทศ
สำหรับคนกลุ่มนี้ การมีรถหรือบ้านไว้ในครอบครอง จะถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก และอาจถ่วงรั้งการใช้ชีวิตที่อยากเน้นหาประสบการณ์
เพราะนอกจากต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการซื้อแล้ว ยังนำมาซึ่งภาระแฝงอีกมากมาย เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าซ่อมบำรุงรถ ไปจนถึงความวุ่นวายที่ต้องจัดการเรื่องภาษีด้วย
ทำให้แทนที่จะเสียเงินก้อนโตไปกับการซื้อบ้าน ซื้อรถ คนกลุ่มนี้เลยเลือกที่จะเช่าบ้าน-คอนโดฯ ใช้บริการรถสาธารณะ หรือแพลตฟอร์มเรียกรถแทน เพื่อชีวิตที่ยืดหยุ่นกว่า และรองรับในกรณีที่เจอทางเลือกในชีวิตที่ดีกว่า
มาที่เหตุผลที่สาม.. มุมมองที่เปลี่ยนไปเรื่องเงิน
เหตุผลนี้อาจซับซ้อน แต่สามารถอธิบายได้ว่า คนรุ่นใหม่บางคนนั้นมองเงินเป็น “เครื่องมือสร้างผลตอบแทน” มากกว่าเป็นเพียงแค่ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่การลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกเปิดกว้างขึ้น แทนที่จะนำเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ
คนกลุ่มนี้เลยมองว่า เงินก้อนเดียวกันนี้สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ “โตเร็วกว่า” และ “คล่องตัวกว่า” ได้ เช่น หุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่ก่อตั้งธุรกิจเอง
ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่เงินก้อนนั้นได้มากกว่า ดีกว่าการปล่อยให้ “เงินจม” ในบ้านหรือรถ
ทั้งสามเหตุผลนี้ เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่นั้น เลือกที่จะเช่า มากกว่าซื้อ โดยสรุปก็คือเรื่องของราคาที่แพงจนเอื้อมถึงยาก ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระให้ชีวิตมากเกินไป การเน้นความคล่องตัว และมุมมองเรื่องเงินที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีแนวคิดนี้จะไม่ซื้อบ้านหรือรถเลย
เพียงแต่อาจซื้อตามความเหมาะสม ความจำเป็น หรือซื้อเพราะความชอบส่วนตัว เช่น มีความฝันอยากมีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง..
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่ลงทุนแมนได้ยินมาจากวัยรุ่นคนหนึ่ง สมมติว่าชื่อ A ซึ่งเล่ามุมมองที่เขาตัดสินใจที่จะเช่า แทนการซื้อ
ตอนที่ยังเด็ก A ก็ฝันเหมือนกับคนหลาย ๆ คนที่อยากมีบ้าน คอนโดฯ รถ เป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความคิดของเขาเปลี่ยนไปเมื่อโตขึ้น
โดยเขาเลือกที่จะเช่าคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้าอยู่ โดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท
สำหรับเหตุผลที่เขาเปลี่ยนความคิด เกิดจากการคำนวณตัวเลขง่าย ๆ ว่าสมมติว่าถ้าเขาซื้อคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้า
เขาอาจต้องจ่ายเงินราว 4-5 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รวมค่าส่วนกลาง และค่าบำรุงรักษาอื่น ๆ (รวมถึงดอกเบี้ยจากธนาคาร)
ในทางกลับกัน ถ้าหากเขาเลือกเช่า และจ่ายค่าเช่าเท่าเดิมนี้ไป 10 ปี จะตกเป็นเงิน 2.4 ล้านบาท โดยรวมค่าส่วนกลางแล้ว
แต่ถ้าค่าเช่าถูกปรับขึ้น ก็น่าจะจ่ายรวมราว ๆ 3 ล้านบาท
และสิ่งที่เขามองคือ เมื่อครบ 10 ปี คอนโดฯ แห่งนั้นก็น่าจะเสื่อมสภาพไปพอสมควรแล้ว
ทำให้ A ไม่จำเป็นต้องทนอยู่ที่เดิม และมีทางเลือกที่จะย้ายออกไปหาคอนโดฯ แห่งใหม่ ที่ดีกว่านั่นเอง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon