ลาวในวันนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน

ลาวในวันนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน

13 พ.ค. 2018
ลาวในวันนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน / โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้พัฒนาการของประเทศลาวเป็นยังไงบ้าง
ยุทธศาสตร์ของลาว ใหญ่โตแค่ไหน
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
แม้ว่าประเทศลาวยังถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดว่ามีรายได้น้อย
แต่เศรษฐกิจของประเทศลาวมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงระบบจากสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีเมื่อปี พ.ศ. 2529 ตามนโยบายจินตนาการใหม่ (New Economic Mechanism: NEM)
ทุกคนทราบว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศลาวคือ ต้องการเป็น Battery of South East Asia ภายในปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยป่าไม้ พร้อมทั้งมีแม่น้ำหลายสายที่สำคัญ ซึ่งเอื้อต่อการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ
ในปี พ.ศ. 2560 ลาวมีจำนวนโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้ว 42 แห่ง โดยจำนวน 39 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 1 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีก 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อย
และตอนนี้ลาวยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างมากถึง 53 แห่ง
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศลาวมีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำกว่า 90 แห่ง ในปี พ.ศ. 2563
เป็นที่คาดกันว่า ประเทศลาวนั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไม่ต่ำกว่า 26,500 เมกะวัตต์ ทำให้ดูแล้วในอนาคต Battery of South East Asia น่าจะเหมาะกับประเทศลาวอย่างที่ยุทธศาสตร์ว่าไว้
การที่ลาวมีจำนวนประชากรเพียง 6-7 ล้านคน และคาดว่าความต้องการไฟฟ้าภายใน พ.ศ. 2563 ยังต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นแค่ 11 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี พ.ศ. 2563
จึงเป็นที่มาของการผลิต และส่งออกไฟฟ้าไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านรวมไปถึงประเทศไทยนั่นเอง
ซึ่งสอดรับกับความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512-2559
พ.ศ. 2512 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 638 เมกะวัตต์
พ.ศ. 2530 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 4,734 เมกะวัตต์
พ.ศ. 2559 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 29,618 เมกะวัตต์
หรือในรอบ 47 ปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 47 เท่า
โดยในปี พ.ศ. 2579 คาดกันว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของไทยจะเท่ากับ 49,655 เมกะวัตต์ ดังนั้น การวางแผนเพื่อหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2579 หนึ่งในนั้น คือ การจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศรวมอยู่ด้วย โดยหนึ่งในแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศของไทยก็คือ ประเทศลาวนั่นเอง
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศประมาณ 3,878 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 9 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดที่ประมาณ 42,449 เมกะวัตต์
หลายโครงการที่ประเทศไทยได้ลงนามกับประเทศลาว และมีการขายไฟฟ้าแล้ว เช่น เทิน-หินบุน, ห้วยเฮาะ, น้ำเทิน 2, น้ำงึม 2, เทิน-หินบุน (ส่วนขยาย)
และโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว เช่น หงสาลิกไนต์, เซเปียน - เซน้ำย้อย, ไซยะบุรี ทำให้ภายในปี พ.ศ. 2562 ไทยจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวไม่ต่ำกว่า 5,400 เมกะวัตต์
อีกเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การที่ประเทศลาวมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศอีกทางหนึ่ง
จากปี พ.ศ. 2533 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศลาวเพียง 80,000 คน ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 3.8 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2560
การพัฒนาที่ดีขึ้นของประเทศลาว ทำให้ทั้ง GDP และรายได้เฉลี่ยต่อประชากรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)
พ.ศ. 2557 มูลค่า GDP เท่ากับ 411,370 ล้านบาท
พ.ศ. 2558 มูลค่า GDP เท่ากับ 446,090 ล้านบาท
พ.ศ. 2559 มูลค่า GDP เท่ากับ 492,900 ล้านบาท
รายได้เฉลี่ยต่อประชากร (GDP per capita)
พ.ศ. 2557 รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเท่ากับ 45,600 บาทต่อปี
พ.ศ. 2558 รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเท่ากับ 48,267 บาทต่อปี
พ.ศ. 2559 รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเท่ากับ 50,933 บาทต่อปี
นอกจากนี้ ประเทศลาวยังมีตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2554 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารแห่งสปป. ลาว 51 % และตลาดหลักทรัพย์เกาหลี 49 %
ในช่วงแรกของการซื้อขายนั้นมีบริษัทจดทะเบียนประมาณ 5 บริษัท ขณะที่ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 7 บริษัท และตั้งเป้าว่าภายในปี พ.ศ. 2563 จะต้องมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนอย่างน้อย 25 บริษัท
มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาตลาดของ LSX เพิ่มขึ้นจาก 17,624 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2554 สู่ระดับ 39,573 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2559 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 130 %
พอเราได้รู้เรื่องว่าลาวในวันนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับเพื่อนบ้านนี้ด้วย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.