Venture Capital ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย

Venture Capital ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย

4 มิ.ย. 2018
Venture Capital ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจทั่วโลกตอนนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
บริษัทชื่อดังที่เรารู้จักกันดี เช่น Google Facebook Amazon Alibaba
จุดเริ่มต้นของบริษัทเหล่านี้ล้วน กำเนิดมาจากบริษัทเล็กๆที่เราเรียกว่า สตาร์ทอัพ
Venture Capital มีบทบาทอย่างไรกับการลงทุนในสตาร์ทอัพ
และใครเป็น Venture Capital ที่ใหญ่สุดในประเทศไทยในตอนนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จากสถิติของสหรัฐอเมริกา ปี 2015
ในทุกๆ 100 บริษัทสตาร์ทอัพ จะมีเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ถึงปีที่ 5
ซึ่งหนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพเหลือรอดเพียงเท่านี้ แม้ว่าในบางครั้งจะมีแผนธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆที่น่าสนใจ ก็คือ การขาดเงินทุนสนับสนุน
ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากบริษัทใหญ่ที่มีเงินจำนวนมากแต่ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆที่ตอบโจทย์คนทั่วไปได้
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว
เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ลงตัว เพราะว่าบริษัทที่มีเงินทุนจำนวนมากก็ต้องการสิ่งใหม่ๆ จากบริษัทสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี
ส่วนสตาร์ทอัพเองก็ต้องการเงินทุนจากบริษัทเหล่านี้
นอกจากเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว
ถ้าเราดูในมุมผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในสตาร์ทอัพ
ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่เรารู้จักกันดีอย่าง Airbnb
ปี 2016 มีรายได้ 53,700 ล้านบาท กำไรประมาณ 3,200 ล้านบาท
ปี 2017 มีรายได้ 82,100 ล้านบาท กำไรประมาณ 3,200 ล้านบาท
ส่วนสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่าง Google และ Facebook ตอนนี้ก็ทำกำไรได้มหาศาล
ปี 2016 Google มีกำไร 749,188 ล้านบาท
ปี 2017 Google มีกำไร 912,382 ล้านบาท
ปี 2016 Facebook มีกำไร 392,568 ล้านบาท
ปี 2017 Facebook มีกำไร 638,212 ล้านบาท
ด้วยตัวเลขกำไรที่น่าดึงดูด จึงทำให้สตาร์ทอัพกลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนหลายๆ คนเช่นกัน
เมื่อความต้องการที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพมีมากขึ้น ธุรกิจที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งเงินทุนกับสตาร์ทอัพจึงเกิดขึ้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Venture Capital (VC)
โดยทั่วไปแล้ว VC จะนำเงินที่ได้จากนักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้นในกิจการสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้ดี
แล้วเมื่อสตาร์ทอัพเติบโตจนสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว VC ก็จะขายหุ้นออกมาบางส่วน หรือทั้งหมด และจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก
แต่ปัจจุบันนี้อย่างที่เราเห็นกันว่า บริษัทใหญ่ๆที่มีเงินจำนวนมากเองก็ต้องการนวัตกรรมมาพัฒนาบริษัท มากกว่าผลตอบแทน
VC อีกรูปแบบหนึ่งจึงเกิดขึ้นซึ่งเราเรียกว่า “Corporate Venture Capital (CVC)”
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาลองดูตัวอย่างของ CVC
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน
บริษัท 3M มีจุดประสงค์ที่ต้องการจะสร้างกาวที่ติดแน่นแบบพิเศษขึ้นมา
3M จึงได้ตั้ง CVC ของบริษัทขึ้นเพื่อที่จะหานวัตกรรมตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
เงินจาก CVC ของ 3M ได้ตกไปอยู่กับพนักงานของบริษัทที่กำลังจะลาออกมาเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ
ซึ่งอาจจะเปรียบได้ว่าคล้ายๆกับสตาร์ทอัพในปัจจุบันนี้
ผลปรากฏว่า กาวชนิดพิเศษที่ตั้งใจจะให้ติดแน่น กลายเป็นกาวที่หลุดง่ายแทน
แม้ว่าจะทำกาวชนิดพิเศษไม่สำเร็จ แต่รู้ไหมว่าสิ่งนี้เป็นนวัตกรรมใหม่
เพราะกาวที่หลุดง่ายนี้กลายเป็นว่าเราจะแกะออก และ ติดอีกเมื่อไหร่ก็ได้
สิ่งนี้เรารู้จักกันในชื่อว่า Post-it ในปัจจุบัน
3M ได้นำ Post-it มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกขายซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาลจนถึงทุกวันนี้
ถ้าตอนนั้น 3M ไม่ตั้ง CVC เราอาจจะไม่เห็นสินค้าที่มีชื่อว่า Post-it ในปัจจุบันก็เป็นได้
แล้ว CVC ที่ใหญ่สุดในโลกเป็นใคร?
ปี 2017 CVC ที่ใหญ่สุดในโลกชื่อ GV (Google Ventures) เป็นของบริษัท Alphabet เจ้าของ Google
อันดับรองลงมา คือ Intel Capital ของบริษัท Intel
เราจะเห็นว่าบริษัทชั้นนำของโลกที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามีการจัดตั้ง CVC ทั้งนั้น
เรื่องนี้จึงอาจที่จะพูดได้ว่า CVC ส่งผลต่อการพัฒนาของบริษัทนั้นๆ
ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่า ประเทศไทยเรามี CVC บ้างรึเปล่า?
การลงทุนในรูปแบบ CVC ของบริษัทไทยเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2012
โดยแบ่งการพัฒนาได้เป็น 3 ช่วง
ช่วงแรก เริ่มจากบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม เช่น InVent ของ Intouch (AIS) ซึ่งเป็นผู้อยู่ในวงการด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ
ช่วงที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในด้านการเงินมากขึ้น ทำให้ในช่วงปี 2016 บริษัทในธุรกิจด้านการเงินเริ่มหันมาตั้ง CVC ขึ้น โดยในช่วงนั้นก็จะมี Digital Ventures ของธนาคารไทยพาณิชย์ และ Beacon Venture Capital ของธนาคารกสิกรไทย ที่ถือได้ว่าเป็น VC ในด้าน FinTech ของไทย
และช่วงสุดท้ายคือ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทไทยใหญ่ๆ ในเกือบทุกอุตสาหกรรม ก็จัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น
AddVentures ของ SCG จากธุรกิจวัสดุก่อสร้าง
ExpresSo ของ ปตท จากธุรกิจพลังงาน
Singha Ventures ของ บุญรอด (สิงห์) จากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค
SiriVentures ของ แสนสิริ จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
แล้วใครคือ VC ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุดในไทยตอนนี้?
คำตอบที่ได้ อาจทำให้หลายคนแปลกใจ
เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศเพิ่มงบลงทุนใน CVC ตัวเองที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 เพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1,500 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ในตอนนี้ CVC ของไทยพาณิชย์มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยงบลงทุนมูลค่ารวมสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ตัวอย่างหนึ่งที่ SCB เคยลงทุนในสตาร์ทอัพผ่าน CVC คือการลงทุนในบริษัท Ripple ผู้นำด้านการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านเทคโนโลยี Blockchain และเคยเปิดให้ผู้บริโภคได้ทดลองบริการโอนจากญี่ปุ่นมาไทยผ่าน Blockchain ไปแล้ว
เห็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกของเหล่าบริษัทใหญ่ๆ ในไทยแล้ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีที่เกิดจากสตาร์ทอัพมีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัทแค่ไหน
ไม่ว่าบริษัทจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอะไร
ถ้าตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็อาจจะตกเป็นรองคู่แข่งโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งในขณะที่บริษัทเหล่านี้ กำลังแข่งขันกันลงทุนเพื่ออนาคต
ประโยชน์ก็น่าจะมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเรา
เพราะการที่บริษัทเหล่านี้ทุ่มเงินลงทุนไป ต่างก็คาดหวังว่าจะได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองดีกว่าหรือตอบโจทย์ได้มากกว่าของคู่แข่ง
สุดท้ายแล้ว เราซึ่งเป็นลูกค้า คือผู้ที่รอใช้สิ่งที่ดีที่สุด
พออ่านจนมาถึงตรงนี้แล้ว
เราน่าจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า
ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ประเทศของเราจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดไหน จากนวัตกรรมใหม่อีกมากมายในอนาคต..
----------------------
Venture capital มีมากมาย
ลงทุนแมนก็มีหลายบทความ ติดตามได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน 3.0 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.